ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตเปิดผลสำรวจประชาชน-บุคลากรทางการแพทย์ช่วงโควิด บ่งชี้ภาวะด้านอารมณ์จิตใจของคนไทยขึ้นลงตามสถานการณ์ระบาด พบตื่นตระหนกสูงช่วงพบติดเชื้อ ตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงราย และติดเชื้อระลอกใหม่โควิดสมุทรสาคร

25 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ภายในเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกิจกรรมสุขสโมสร 25 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตมีการติดตามเฝ้าระวังสภาวะด้านอารมณ์ จิตใจของประชาชน เพื่อนำผลมาวางแผนจัดบริการ และให้ความรู้กับประชาชนอย่างทันสถานการณ์มาโดยต่อเนื่อง และนับตั้งแต่การพบผู้ป่วยครั้งแรกในรอบการระบาดใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 จนกระทั่งถึงที่สมุทรสาคร การระบาดได้แพร่กระจายในวงกว้าง กรมสุขภาพจิตพบสัญญาณการตื่นตระหนกที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากไม่สามารถจัดการได้ดีจะนำไปสู่ปัญหาความตึงเครียด การรับข้อมูลที่แยกแยะยากเกิดการปะติดปะต่อข้อมูลเอง และความพยายามหาคนผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเคียดแค้น ก้าวร้าว และการบูลลี

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า เราสามารสำรวจตนเองด้วยด้วยโปรแกรม MENTAL HEALTH CHECK IN ก่อนจะเกิดพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล นอกจากสัญญาณดังกล่าว กรมสุขภาพจิตยังพบสัญญาณที่ดีซึ่งเป็นสัญญาณที่ทำให้คนไทยได้รับคำชื่นชมในช่วงการระบาด ที่ผ่านมา คือสัญญาณของพลัง อึด ฮึด สู้ พร้อมปรับตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ ยืดหยุ่นตัวเองให้เกิดการปรับตัวที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี จึงเชื่อมั่นว่าคนไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน สำหรับปัญหาความเครียดที่พบมากมักเกิดจากสาเหตุกลัวติดโรค เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลที่มากมายหลากหลาย การเปิดรับฟังข่าวสารที่เพิ่มมากขึ้นจนเกิดความอ่อนล้าทางใจ ดังนั้น ขอให้ลดการรับข้อมูลข่าวสารให้น้อยลง การจัดการในการป้องกันตัวเอง ซึ่งยืนยันว่าสามารถป้องกันโรคได้จริงจากการระบาด

ด้าน นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผย “ผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทยกับ COVID-19” ว่า กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจการรับรู้ และภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนคนไทยจากการระบาดโรคโควิด-19 ตั้งแต่งเดือนมี.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ภาวะสุขภาพจิตของประชาชนคนไทยต่อโรคโควิด-19 จะเป็นไปตามช่วงการระบาด ช่วงการระบาดแรกๆ ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.2563 มีภาวะสุขาภาพจิตมากที่สุด โดยเฉพาะภาวะมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานทางลบ ระแวงกันง่ายขึ้น รู้สึกเหินห่างจากคนอื่น รองมาเป็นความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ และรู้สึกเครียด หลังจากนั้นเริ่มลดลงเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก็เช่นกัน โดยข้อมูลตั้งแต่ 12-18 มี.ค. 2563 พบบุคลากรมีภาวะเหนื่อยล้าทางอารมรณ์ รู้สึกหมดพลัง หมดหวัง สูญเสีย พลังงานทางจิตใจ รองลงมาเป็นการมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานในทางลบ ระแวงง่ายขึ้น และมองความสามารถในการทำงานของตนเองลดลง กระทั่งข้อมูลวันที่ 30 มี.ค.- เม.ย.2563 พบว่า ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์เริ่มลดลง แต่ความเครียดเพิ่มขึ้นจากช่วงแรก และเริ่มลดลงเมื่อต้นพ.ค. และเพิ่มขึ้นกลางเดือน พ.ค. และลดลงอีกในเดือน มิ.ย.2563 ซึ่งความเครียดของบุคลากรเริ่มเพิ่มอีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย.

เมื่อสอบถามความตื่นตระหนกของประชาชนไทยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านมีความรู้สึกกลัว กังวล หรือตื่นตระหนกเมื่อติดตามข่าวสารโควิด-19 พบว่า ความตื่นตระหนกของประชาชนในช่วงวันที่ 23-28 ธ.ค.2563 พบพื้นที่เชียงใหม่สูงสุด รองลงมาเป็นพื้นที่ กทม. สมุทรสาคร และเชียงราย ขณะที่พลังใจ อึด ฮึด สู้ และการปฏิบัติตัว ระหว่างวันที่ 23 -28 ธ.ค.2563 พบว่า คนในพื้นที่เชียงใหม่มีพลังใจสูงสุด รองลงมา เชียงราย กทม. น่าน และสมุทรสาคร ขณะที่เมื่อสอบถามว่ามีกำลังใจ และได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ข้อมูลช่วงเวลาเดียวกันพบว่า คนพื้นที่เชียงใหม่มีกำลังใจมากที่สุด รองลงมา เชียงราย กทม. สมุทรสาคร และน่าน

“จากผลการสำรวจบ่งชี้ภาวะด้านอารมณ์จิตใจของประชาชนไทยขึ้นลงตามสถานการณ์ ส่วนภาวะความตื่นตระหนก พบสูงในช่วงการตรวจพบผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และในช่วงหลังพบผู้ติดเชื้อและแพร่ระบาดในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงกทม. อย่างไรก็ตามผลการสำรวจพลังใจ อึด ฮึด สู้ และการปฏิบัติตัวของคนไทย ซึ่งเป็นวัคซีนใจป้องกัน COVID-19 พบว่ายังคงอยู่ในระดับสูง คือร้อยละ 90 ขึ้นไป” นพ.จุมภฏ กล่าว

ขณะที่ นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิตและโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงมาตรการดำเนินงานของกรมสุขภาพจิต ปี 2564 ว่า ได้แบ่ง กลุ่มเป้าหมายเป็น 5 กลุ่ม และแบ่งพื้นที่ดำเนินงาน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1. ผู้กักกัน/ผู้ติดเชื้อ 2.บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน COVID-19 3. ประชาชน/บุคคลทั่วไป/ชุมชน 4.กลุ่มเปราะบางต่อปัญหาสุขภาพจิต และ 5. กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ส่วนพื้นที่ คือ 1. พื้นที่ควบคุมสูงสุดมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก 2.พื้นที่ควบคุมมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3. พื้นที่เฝ้าระวังสูงมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย ควบคุมสถานการณ์ได้ และ 4.พื้นที่เฝ้าระวัง หรือพื้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ

โดยการดำเนินงานเร่งด่วนในพื้นที่ 5 จังหวัดควบคุม ได้แก่ ใน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กรมสุขภาพจิตจะส่งทีมลงให้คำแนะนำเพื่อให้ อสต.(อาสาสมัครต่างด้าว) เพื่อค้นหา เฝ้าระวัง ให้การช่วยเหลือตามสภาพปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น กรณีพบปัญหาสุขภาพจิตที่เกินศักยภาพ ส่งต่อกับบุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบในพื้นที่ รวมทั้งให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติโดยผ่านเครือข่ายสื่อในพื้นที่ กลุ่มประชาชนทั่วไป เพิ่มการเข้าถึงการประเมินสุขภาพจิตตนเอง การจัดหน่วยให้บริการในพื้นที่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มการเข้าถึงการประเมินสุขภาพจิตตนเอง และบริการ Hotline สายด่วนสุขภาพจิตสำหรับบุคลากรสาธารณสุขโดยเฉพาะ