ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำชัด! หากป่วยต้องรักษาที่โรงพยาบาล ไม่สามารถรักษาตัวอยู่บ้าน เพราะมีเหตุผลทางการแพทย์ ที่สำคัญโควิด19 เป็นโรคติดต่ออันตราย การเคลื่อนย้าย เลือก รพ. เสี่ยงทำเชื้อแพร่กระจาย เตือนคนรู้ตัวติดเชื้อห้ามเดินทางข้ามจ. หวังรักษารพ.อื่น เป็นการหอบเชื้ออันตรายข้ามพื้นที่ ชี้หากเกิดความรุนแรง ผิดแพ่ง-อาญา

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมคุมโรค กล่าวถึงกรณีเน็ตไอดอลบางคนออกมาสื่อสารว่าโรคนี้สามารถกินยาที่บ้าน แล้วรักษาตามอาการ ว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องได้รับการรักษาในรพ. ด้วย 2 เหตุผล โดยเหตุผลที่ 1 ถึงแม้จะไม่มีอาการแต่บอกไม่ได้ว่าจะมีอาการเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และหลายรายในปัจจุบันพบว่าถึงแม้จะไม่มีอาการ แต่เอ็กซเรย์ปอดพบปอดบวม ซึ่งมีโอกาสที่จะขยายอาการรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว ประการที่ 2 โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย มีโอกาสที่จะแพร่กระจายสูง แพร่สู่ผู้อื่นได้ง่าย ถึงแม้จะอยู่คนเดียวแต่ก็บอกไม่ได้ว่าท่านจะไปพบใครหรือแม้กระทั่งคนขับรถส่งอาหารเดลิเวอรี่ก็มีโอกาสติดเชื้อจากท่านได้เพราะฉะนั้นผู้ติดเชื้อทุกคนขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยเร็วเพื่อเข้ารับการรักษาในรพ.

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในพ.ร.บ.โรคติดต่อ หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งการให้ท่านมารักษาที่รพ.แล้วท่านไม่มาจะมีความผิดทางกฎหมายอาจจะมีโทษจำคุก ดังนั้น ใครที่ชักชวนคนอื่นให้อยู่กับบ้านเวลาเป็นผู้ติดเชื้อแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง สำหรับกรณีเน็ตไอดอลคนนี้ทางกระทรวงหรือที่เกี่ยวข้องคงจะมีการติดต่อ ไปอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่ามีการอ้างว่าทางรพ.สั่งการว่าให้รักษาอยู่ที่บ้าน กรณีเช่นนี้ทางรพ.จะถือว่ามีความผิดด้วยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องดูเป็นรายกรณีไป แต่เข้าใจว่าตอนนี้ได้มีการชี้แจงให้ชัดเจนแล้ว ถ้าติดเชื้อแล้วยังอยู่ที่บ้านขอให้โทรมาที่สายด่วนสปสช 1330 หรือ 1668 ของกรมการแพทย์ หรือ 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้การดูแล ช่วงนี้อาจจะมีการขรุขระติดต่อกันไป ติดต่อกันมาแต่ก็ขอความกรุณาว่าถึงอย่างไรก็ต้องมารพ. หรือสถานพยาบาลที่ทางราชการกำหนด

เมื่อถามต่อว่าในกรณีที่เจ้าหน้ารพ.จะส่งตัวผู้ติดเชื้อไปที่รพ.สนามแต่เจ้าตัวไม่อยากไปอยู่ที่รพ.สนาม จึงจะมีการเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปรักษาตัวที่จังหวัดอื่น นพ.โอภาส กล่าวว่า ในกรณีที่ทราบว่าตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อแล้ว ห้ามเดินทางข้ามจังหวัดเด็ดขาด เพราะจะเท่ากับเอาโรคติดต่ออันตรายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ซึ่งความเสี่ยงเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงของการเดินทางเลย และความเสี่ยงจะเกิดขึ้นจากความพร้อมของรพ.ด้วย ซึ่งคาดว่าหากท่านเดินไปบอกรพ.ว่าติดเชื้ออาจจะไม่มีใครรับแบบเต็มใจ เพราะฉะนั้นท่านอาจจะมีการปกปิดข้อมูล ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายตามมา ดังนั้นจึงต้องย้ำอีกครั้งว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย คำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ถ้าไม่ปฏิบัติตามมีโทษทางกฎหมาย และในกรณีถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความรุนแรง มีความเสียหาย ก็จะมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อโดยสารเครื่องบินกรุงเทพ นครศรีธรรมราชนั้น นพ.โอภาสกล่าวย้ำโดยภาพรวมเรื่องการเดินทางนั้นเดินทางได้ เพราะเขาอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ แต่ถ้าการเดินทางมีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีการรายงานคนติดเชื้อบนเครื่องบินไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินจากต่างประเทศหรือเครื่องบินในประเทศ ทุกคนเคร่งครัดในการใส่หน้ากากอนามัยและตอนนี้เราห้ามมีการดื่มน้ำ ประทานอาหารบนเครื่องบินโดยเด็ดขาด ส่วนกรณีที่จังหวัดชุมพรพบผู้ติดเชื้อฯไปบริจาคเลือด เรื่องนี้ก็ต้องดูเป็นรายกรณีเช่นกัน ว่าตอนนั้นผู้บริจาครู้ตัวหรือไม่ อย่างไรก็ตามเลือดไม่ใช่ช่องทางหลักของการติเชื้อโควิด แต่โดยทั่วไปคนที่มีอาการไม่สบายหรือมีอาการอะไรสักอย่างหนึ่งก็ไม่แนะนำให้มีการบริจาคเลือดอยู่แล้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง