ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ.วอนผู้ป่วย 74 รายปฏิเสธการรักษา ซึ่งน่ากังวล เพราะอาการโควิดไม่แน่นอน วันนี้ดีแต่อาจต้องเข้าไอซียูอีกวันได้ ยกตัวอย่าง “ค่อม ชวนชื่น” อาการดีก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุดเข้าไอซียู ทีมแพทย์ดูแลเต็มที่ ขณะเดียวกันขอความร่วมมือคนไข้รพ.สนาม ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 20 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงกรณีการจัดหาเตียง ว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีปัญหาการจัดเตียงให้แก่ผู้ป่วย เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้น แต่ขณะนี้ในสถานการณ์เตียงได้มีการจัดการอย่างเป็นระบบแล้ว โดยได้ร่วมกับสถานพยาบาลในทุกสังกัด ซึ่งทำงานเรื่องนี้เป็นปีแล้ว เพียงแต่สถานการณ์แต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน เพราะคลัสเตอร์สถานบันเทิงติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในส่วนต่างจังหวัดจะเห็นว่าไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องจัดการเตียงเท่าไหร่

“ขอย้ำว่า 2 วันนี้ในเรื่องการจัดการเตียงของผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ขณะนี้ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบอย่างทันท่วงที ยกตัวอย่าง การจัดการเรื่องนี้ผ่านคู่สาย 1668 ซึ่งจริงๆมีคู่สายที่แก้ปัญหาเรื่องนี้มีสายด่วนอื่นๆด้วย คือ 1330 สปสช. และ1669 สายด่วน(ศูนย์เอราวัณ) เป็นหลักในการจัดหาเตียงในกทม. ซึ่งขณะนี้ท่านรองนายกฯ ได้เพิ่มเรื่องอาสากู้ภัยมาช่วยเรื่องรถในการส่งผู้ป่วยด้วย” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลการปฏิบัติงานของสายด่วน 1668 ข้อมูลถึงวันที่ 18 เม.ย.2564 ผลงานสะสมปฏิบัติงาน 10 วัน รับสาย 2,476 ครั้ง มีการโทรเยี่ยมติดตาม 2,307 ครั้ง โดยการโทรมาอาจรายเดียวแต่โทรหลายครั้ง สรุปเป็นตัวเคสขอเตียงจำนวน 1,204 คน รับเข้ารพ.แล้ว 627 คน โดยแบ่งกลุ่มอาการตามสีเขียว เหลือง แดง โดยสีเขียว ไม่ค่อยมีอาการมีจำนวน 362 คน สีเหลือง 141 คน และสีแดง 6 คน

ทั้งนี้ การจัดหาเตียงวันที่ 19 เม.ย. 2564 แบ่งเป็นรอเตียงจากการรับสาย 1668 จำนวน 509 คน โดยแบ่งเป็นการสว็อปเชื้อรพ.รัฐ หรือแล็บเอกชนเป็นกลุ่มสีเขียว 218 คน โดยได้ส่งไปรพ.กทม.แล้ว 29 คน และส่งไปรพ.เลิดสิน 96 คน รอส่งวันนี้ 73 คน และส่งรพ.สนาม ท่าฉลอม 20 คน ส่วนสว็อปรพ.รัฐ หรือแล็บเอกชนนอก รพ. เป็นกลุ่มสีเหลือง 60 คน สีแดง 3 คน รอส่งศูนย์ประสานเตียง รพ.ราชวิถี และ สว็อป รพ.เอกชน รวมสีเขียว เหลือง แดง รวม 228 คน โดย ส่งแล้ว 219 คน รอส่งวันนี้ 9 คน นอกจากนี้ มีรอเตียงจากสถาบันบำราศนราดูร 95 คน แบ่งเป็นสีเขียว 90 คนส่งไปรพ.เลิดสินแล้ว สีเหลือง 5 คน รอส่งศูนย์ประสานเตียง ราชวิถี

“ ส่วนการจัดการเตียงที่ติดต่อไม่ได้มี 74 ราย ซึ่งขอย้ำว่า เตียงยังมีว่างอยู่ในแต่ละส่วน เพียงแต่กลุ่มนี้มีความต้องการที่อาจไม่ตรงกับสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจัดให้ จึงอยากขอความร่วมมือว่า หลักการของ สธ. ณ วันนี้ ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. รพ.สนาม หรือฮอสพิเทลตามเกณฑ์สีเขียว เหลือง แดง ทุกกรณี ที่ต้องเข้าก็เพราะเรากังวลเรื่องการแพร่กระจายเชื้อ เช่น หากท่านดื้อไม่ยอมเข้ารับการรักษา คิดว่าไม่มีอาการ แต่จะอยู่บ้าน ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่า 2-3 วันที่ผ่านมาน้าค่อม ชวนชื่น ให้สัมภาษณ์อาการไม่มีอะไร แต่วันนี้ต้องเข้าห้องไอซียู เพราะอาการไม่แน่นอน นี่คือ สิ่งที่เรากังวล เราขอร้อง เราเป็นห่วงสุขภาพของท่าน เราต้องการให้ท่านเข้าสู่ระบบเพื่อดูแลสุขภาพของท่าน ดังนั้น 74 รายตัวอย่างตรงนี้ขอให้เข้ามาสู่ระบบ” นายสาธิต กล่าว

เมื่อถามว่ากลุ่มที่ปฏิเสธเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่รัฐจัดให้ เพราะอะไร นายสาธิต กล่าวว่า เป็นกลุ่มที่มีอายุหลากหลายแต่ค่อนข้างมีฐานะและเชื่อมโยงกับ การติดเชื้อคลัสเตอร์สถานบันเทิง เข้ารับการตรวจจากแลปเอกชนและไดร์ฟทรู อยากได้เตียงเดี่ยว แล้วก็ไปฟังความเห็นจาก เน็ตไอดอลว่าไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลก็ได้ บวกกับการมีทัศนคติที่ไม่ดีกับรพ.รัฐว่าเป็นการนอนเตียงรวมคนหมู่มาก สภาพทรุดโทรม ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็น เช่นนั้นเพราะขณะนี้เรามีการจัดหอผู้ป่วยที่แยกอย่างเป็นระบบเพราะโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อ ดังนั้นขอให้เข้ามารับการรักษา ยิ่งตอนนี้มี แนวโน้มเกิดปอดอักเสบในคนอายุน้อย ดังนั้นไว้ใจไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นรพ.สนาม เมื่อไปอยู่รพ.สนามขอให้เชื่อฟังกติกา กฎเกณฑ์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งการก่อตั้งรพ.สนามนั้น มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าไปดูแลเสมอ จากเดิมทำงานปกติที่รพ. แต่ไปเพิ่มงานที่รพ.สนามอีก ดังนั้น หากคนไข้ที่ไปอยู่รพ.สนาม แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ก็จะเป็นปัญหาอีก แต่หากท่านให้ความร่วมมือก็จะช่วยให้การจัดการ การดูแลดียิ่งขึ้น ขอความร่วมมือตรงนี้ด้วย

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการปฏิบัติตนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่บ้านในระหว่างที่รอการประสานเตียง ว่า ข้อแนะนำการดูแลตัวเองที่บ้านของผู้ป่วยมี 10 ข้อ ได้แก่ 1.ไม่ให้ผู้อื่นเข้าเยี่ยมทั้งผู้ติดเชื้อที่รอเตียงและผู้ที่อยู่ระหว่างการรอฟังผลตรวจหาเชื้อ 2.ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการสัมผัสจุดเสี่ยงในบ้าน 3.หากมีห้องส่วนตัว ให้อยู่ในห้องตลอดเวลาเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ 4.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตรหรือ 1 ช่วงแขน หากไม่จำเป็นไม่ควรเจอผู้อื่นจะดีที่สุด 5.กรณีมารดาให้นมบุตร ข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า สามารถทำได้เพราะไม่พบเชื้อในน้ำนม แต่มารดาต้องรักษาความสะอาดโดยเฉพาะการให้นม สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า 6.หากจะไอ จาม ขณะที่สวมหน้ากากอนามัยอยู่ ก็ไม่ต้องเอามือมาปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก เพราะหากนำมือไปสัมผัสหน้ากาก ก็จะเกิดปัญหาแพร่เชื้อมากขึ้น 7.การใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น แต่หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ทำความสะอาดสุขภัณฑ์ด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรต์5% ผสมกับน้ำเปล่าเข้มข้น 1 ต่อ 9 ส่วน 8.แยกสิ่งของส่วนตัวจากผู้อื่น เช่น จาม ชาม ช้อน แยกซักผ้า 9.ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น เพราะเราเจอมาเยอะแล้วแม้กระทั่งในโรงพยาบาล(รพ.) ที่มีการติดเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกัน และ 10.ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนูและอื่นๆ ด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก รวมถึงการแยกขยะที่ใช้แล้ว ใส่ถุง 2 ชั้น ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร(กทม.) ก็ได้เตรียมการแยกทิ้งขยะติดเชื้อ

เมื่อถามว่าหากผู้ติดเชื้ออาศัยที่คอนโดมิเนียม จะต้องรอกี่วันจึงจะได้เข้ารักษาในรพ. นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ระหว่างการรอเตียง ถ้าถึงวันนี้เราอยากรับประกันว่า ไม่เกิน 24-48 ชั่วโมง ในการจัดหาเตียงให้ท่านได้ แต่ตอนนี้ปัญหาคือ ผู้ป่วยสีเขียว เรามีรพ.
สนาม และฮอสพิเทล เพิ่มเติมอีกเยอะ เช่น รพ.รามาธิบดี เปิดฮอสพิเทลอีกประมาณ 500 เตียงอาจจะให้นอนห้องละ 2 รายก็จะได้ 1 พันราย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาในกลุ่มสีเลหือง เนื่องจากเตียงในรพ.ค่อนข้างเต็ม ซึ่งเรากำลังขยับจากการอยู่ในรพ. มาที่ฮอสพิเทล เพื่อให้เตียงในรพ.ว่าง ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ เปิดตึกผู้ป่วยเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลือง