ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ 2 นักไวรัสวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนโควิด-19 ร่วมกันให้ความกระจ่างข้อสงสัยการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยยืนยันว่า แม้จะมีอาการข้างเคียงจากการฉีดบ้างแต่ก็ไม่อันตรายและประโยชน์ที่จะได้รับนั้นคุ้มกับความเสี่ยง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ภูมิต้านทานและผลข้างเคียงจากวัคซีน COVID-19” ในการเสวนาออนไลน์ Virtual Policy Forum นับถอยหลัง 16 ล้านคนฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งร่วมจัดโดยสำนักข่าว Hfocus สำนักข่าว The Reporter ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยตอบคำถามข้อคาใจต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีน

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า อยากจะชักชวนทุกคนมาฉีดวัคซีนให้มาก เพราะประเทศที่รณรงค์ฉีดวัคซีนเตรียมจะเปิดประเทศแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อิสราเอล หรืออังกฤษ ที่ประสบความสำเร็จดีมาก ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ติดเชื้อแล้วถ้าลงปอดเป็นปอดบวม หรือมีความรุนแรง ระดับภูมิต้านทานจะสูงกว่าคนที่มีอาการน้อย ๆ หมายความว่าคนที่เป็นรุนแรงแล้วภูมิสูงก็จะคงอยู่นาน คนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยภูมิก็จะต่ำแล้วคงอยู่สั้น เพราะฉะนั้นคนที่มีอาการน้อยจึงมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก หรือเป็นได้อีก 2 ครั้ง 3 ครั้ง ในกรณีที่ภูมิต้านทานลดต่ำลงหรือหมดไป เพราะฉะนั้นภูมิต้านทานของคนที่หายจากโควิดจะค่อยๆ ขึ้นแล้ว 2-3 เดือนแรกจะอยู่ในระดับที่สูง และจะค่อย ๆ ลดลงตามกาลเวลา

"คำถามที่ว่าถ้าคนที่หายแล้วจะต้องฉีดวัคซีนไหม บอกได้เลยว่าต้องฉีดวัคซีนอีก โดยทั่วไปจะฉีดหลังจากที่หายแล้ว 3-6 เดือน โดยหลักการแล้ว 3-6 เดือนถ้าจะฉีดคิดว่าเข็มเดียวก็น่าจะเพียงพอ แต่ถ้าเกิน 6 เดือนไปแล้วก็ควรจะฉีดใหม่เลย 2 เข็ม เหมือนคนปกติเลย เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้สูงอยู่ตลอดเวลา"

ศ.นพ.ยง สรุปว่า ภูมิต้านทานของคนที่หายแล้วจะลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของภูมิต้านทานในการตรวจ

"คนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องตรวจภูมิต้านทานก่อนและหลังฉีด ผมตอบได้เลยครับว่าไม่มีความจำเป็น ภูมิต้านทานที่จะตรวจขอให้ตรวจอยู่ในงานวิจัยเท่านั้น คนทั่วไปบอกว่าจะขอตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนว่าขึ้นหรือไม่ขึ้น ไม่มีความจำเป็นครับ" ศ.นพ.ยง กล่าว

คำถามต่อมาคือ เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เป็นโควิดอีกได้หรือไม่ ศ.นพ.ยง ตอบว่า "ได้"

"ในอเมริกาเองแม้จะเป็นยี่ห้อ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่เราคลั่งไคล้กัน ฉีดแล้วเป็นโควิดไป 9,000 กว่าคนแล้ว เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าวัคซีนตัวไหนฉีดแล้วก็ยังเป็นโควิดได้ จุดประสงค์ในการฉีดวัคซีนก็คือลดความรุนแรงของโรคลง"

"เมื่อฉีดวัคซีนแล้วเป็นโควิดถึงตายได้หรือไม่ โอกาสจะถึงตายได้น้อยมากๆ ยกเว้นข่าวที่เพิ่งออกมาเร็วๆ นี้ว่าหมออินเดียฉีดไฟเซอร์มาแล้ว 2 เข็มกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ที่อินเดียแล้วติดไวรัส เราก็คงเห็นข่าวนี้กันในไลน์ ก็แสดงว่าการฉีดวัคซีนขณะนี้ก็ยังไม่การันตี แต่แน่นอนส่วนใหญ่ก็จะลดความรุนแรงของโรคลง และลดวิกฤตต่างๆ ลงมาได้ ผมยกตัวอย่างคนไทยฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนฟาร์มจากยูเออี แล้วกลับเมืองไทยมาอยู่ State Quarantine ก่อนกลับมาอยู่บ้านที่ จ.สมุทรสาคร มาติดไวรัสจากสมุทรสาคร คนในบ้าน 6 คนเป็นทุกคน แต่คนนี้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอาการจึงน้อย คนอื่นปอดบวมกัน 3 คน ก็แสดงว่าวัคซีนช่วยให้มีอาการน้อยลง"

"คนที่เป็นโควิดแล้วฉีดวัคซีนการกระตุ้นภูมิต้านทานจะขึ้นเร็วมาก แค่ 14 วัน เข็มเดียวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเป็นแล้วก็ควรต้องฉีดอีก เพื่อรักษาระดับภูมิต้านทานให้อยู่สูงตลอดเวลา ข้อมูลที่เห็นชัดคือ ถ้าอายุของอาสาสมัครมากภูมิต้านทานต่ำลง ถ้าอายุน้อยจะกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีกว่าผู้สูงอายุ เด็กจะสร้างภูมิต้านทานดีกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่สร้างภูมิต้านทานดีกว่าผู้สูงอายุ ผู้หญิงสร้างภูมิต้านทานได้ดีกว่าผู้ชาย"

นอกจากนี้ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จาก จุฬาฯ ให้ความเห็นกรณีการเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีนด้วยว่า ยังไม่แนะนำให้เปลี่ยนยี่ห้อ คนที่เปลี่ยนยี่ห้อเป็นเพราะฉีดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ คือเข็มแรกฉีดซิโนแวคแล้วแพ้จึงเปลี่ยนเป็นแอสตร้าเซเนก้า กำลังศึกษาอยู่ว่าฉีดได้ไหม

“ซิโนแวคทั่วโลกมีการฉีดแล้วมากกว่า 200 ล้านโดส เป็นจำนวนเยอะพอสมควร ประเทศเราไม่ได้บุกเบิก เราเอามาเสริมในยามที่วัคซีนอื่นยังไม่มี จริงๆ แล้ววัคซีนตัวไหนก็ได้ ผมไม่เคยปฏิเสธวัคซีนตัวไหนเลย เรายินดีทุกตัว แต่ตอนนี้เราอยากได้วัคซีน แต่มันไม่มียี่ห้ออื่น เมื่อมี 2 ตัวนี้ก็ต้องฉีด2 ตัวนี้ก่อน”

ข้อสงสัยว่า วัคซีนที่จะฉีดรอบนี้เป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตในประเทศไทยจะมั่นใจความปลอดภัยได้แค่ไหน ซึ่ง นพ.ยง อธิบายว่า การผลิตวัคซีนผู้ควบคุมการผลิต ควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานคือ บริษัทแอสตร้าฯ ไม่ใช่เรา แอสตร้าฯ มาอาศัยโรงงานในประเทศไทยผลิต แต่มาตรฐานทุกอย่างไม่ว่าจะผลิตที่อิตาลี เกาหลี อินเดีย หรือแม้แต่ในอังกฤษเอง ใช้มาตรฐานเดียวกันหมด การผลิตถึง 200 ล้านโดส เพื่อเป็นฮับหรือเป็นฐานสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด การจะปล่อยออกมาอยู่ที่บริษัทแอสตร้าฯ ว่าจะยอมให้วัคซีนลอตนี้ออกมาใช้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่โรงงานในประเทศไทย

“เราจะเห็นว่าในอังกฤษเดิมทีวัคซีนแอสตร้าฯ กำหนดระยะห่างของการฉีดไว้ 3-4 อาทิตย์ ในเมื่อวัคซีนมีจำกัด ก็ปูพรมไปก่อนด้วยเข็มเดียวก่อนแล้วค่อยตามเข็ม 2 แล้วมีผลการศึกษามาแล้วพบว่าฉีดเข็มเดียวภูมิคุ้มกันก็เกิดขึ้นแล้ว แม้แต่ในสกอตแลนด์ก็เห็นแล้วว่าอัตราการป้องกันโรคขึ้นไปได้ถึง 80 % ฉะนั้นกรณีที่มีวัคซีนจำกัดเราก็ต้องปูพรมในแนวกว้างก่อนแล้วค่อยตามเก็บเข็มที่ 2 วัคซีนแอสตร้าฯ ระยะห่างของ 2 เข็ม ฉีดให้ห่างกันได้ตั้งแต่ 4 – 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน สมมติฉีดได้เดือนละ 10 ล้านคน ก็ได้แล้ว 30 ล้านคน เดือนที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ก็เก็บเข็ม 2 กับเพิ่มเข็ม 1 โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายก็จะเป็นไปได้เร็วขึ้น”

ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลสรุปเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละชนิดจากการศึกษาระยะที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซเนก้า จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สปุตนิก วี ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ทุกชนิดป้องกันป่วยหนักได้ 100 % สิ่งที่แตกต่างกันคือข้อมูลประสิทธิภาพของการป้องกันการป่วย ซึ่งหมายถึงป่วยเบา ป่วยปานกลาง

ในวัคซีนที่ศึกษาช่วงแรก ๆ คือไฟเซอร์ โมเดอร์นา ศึกษากับสายพันธุ์ในอเมริกาซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการกลายพันธุ์ก็พบว่าป้องกันการป่วนทั้งปวงได้กว่า 90 % แต่เมื่อมีเชื้อกลายพันธุ์ ตัวเลขนี้ก็ลดลงไป คาดว่าจะอยู่ประมาณ 70-80 % ส่วนแอสตร้าฯ จอห์นสัน ซิโนแวคก็มีการศึกษาในหลายประเทศเช่นบราซิล แอฟริกาใต้ ซึ่งมีสายพันธุ์กลายพันธุ์แล้วก็พบว่าถ้าป่วยปานกลางซิโนแวคป้องกันได้ 84 % วัคซีนอื่น ๆ ใช้คำรวม ๆ ว่าป่วย ของซิโนแวคแยกประเภทถ้าป่วยเบาชนิดที่ไม่ต้องกินยาพาราเซตามอล ซิโนแวคป้องกันได้ครึ่งเดียว จะสังเกตได้ว่าถ้าฉีดวัคซีนทั้งหมดแล้วภาพรวมไม่ค่อยแตกต่างกัน แต่ถ้าป่วยหนักและเสียชีวิตกันได้ 100 %

อย่างไรก็ตามการนำวัคซีนมาใช้จริงในสกอตแลนด์ให้ผลน่าพอใจ ศ.พญ.กุลกัญญา ให้ข้อมูลว่ามีการฉีดไปหลายล้านโดสใช้ไฟเซอร์กับแอสตร้าฯ ถ้าเทียบเข็มเดียวแทบไม่ต่างกันเท่าไหร่ คือ 91 และ 88 % และถ้าวัดบางช่วงเช่น 4 สัปดาห์หลังเข็มที่ 1 แอสตร้าฯ ดูจะประสิทธิภาพสูงกว่าไฟเซอร์ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นวัคซีนที่ประเทศไทยมีใช้ก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ ประสบการณ์ที่ใช้จำนวนมหาศาลฉีดทั้งประเทศหลายล้านคนก็พบว่าอัตราการเกิดโรคลดลงไปประสิทธิภาพดี ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มอายุมากหรืออายุน้อย

สำหรับวัคซีนซิโนแวค ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุว่า สร้างภูมิต้านทานในระดับที่ไม่แพ้แอสตร้าฯ ประเทศชิลีซึ่งใช้ซิโนแวคเป็นหลักฉีดไป 10.5 ล้านโดส ป้องกันป่วยได้ 67 % ป้องกันนอนโรงพยาบาลได้ 85 % ป้องกันการเข้าไอซียูได้เกือบ 90 % และป้องกันเสียชีวิตได้ 80 %

ข้อสำคัญที่จะชี้ให้เห็นก็คือว่าในประเทศนี้เป็นการระบาดที่สายพันธุ์กลายพันธุ์ ดังนั้นจะเห็นว่าป่วยหนักกับเข้าไอซียูป้องกันได้ 90 % ถือเป็นตัวเลขที่ดีมาก โดยเฉพาะในยามที่มีการระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยสรุปไม่ว่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวคหรือแอสตร้าฯ ประสิทธิภาพสามารถเชื่อมโยงกันได้เลยว่าอยู่กันคนละสถานการณ์ เชื้อกลายพันธุ์ก็แตกต่างกัน แต่ประสิทธิภาพสูงมาก

สำหรับข้อกังวลของประชาชนทั่วไปต่อการฉีดวัคซีน ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า บางคนกลัวอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทที่ 1 พบบ่อยเป็นอาการข้างเคียงทั่วไป มักจะเป็นปวด บวม แดง ร้อน อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน บางคนเป็นมากหน่อย เวียนศีรษะ ปวดท้อง มึนงง บางคนเป็นมากถึงขนาดแพ้ ซึ่งอาการแพ้รุนแรง แบบหน้าบวม ตาบวม ช็อก จะเกิดประมาณ 1 ใน 100,000 ซึ่งจะเกิดช่วง 30 นาทีแรกของการฉีด ทุกวัคซีนในโลก ทุกยี่ห้อ มีโอกาสเกิดอาการแพ้รุนแรงแบบนี้ได้ทุกวัคซีนเฉลี่ย 1 ใน 100,000 ถึง 1 ในล้าน แต่พวกไม่รุนแรงประมาณ 1 ใน 10,000

“ในประเทศไทยจากที่ฉีดมาแล้วประมาณ 1.6 ล้านโดส พบแพ้รุนแรงจากซิโนแวคประมาณ 1.2 ต่อ 100,000 แอสตร้าฯ ประมาณ 1.6 ต่อ 100,000 แต่ตัวเลขนี้ยังไม่นิ่งเพราะจำนวนฉีดที่แท้จริงยังไม่นิ่ง รวมทั้งเมื่อฉีดมากไปเรื่อยๆ ปัญหาเหล่านี้จะพบน้อยลง เนื่องจากการวินิจฉัยช่วงต้นอาจจะมีความคลุมเครือ”

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนแรงมักจะรายงานจากวัคซีนซิโนแวคที่ใช้ไปประมาณ 1.5 ล้านโดส พบไม่ถึง 10 % แต่ถ้าเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ ซึ่งจะเป็นวัคซีนส่วนใหญ่ จะพบอาการเหล่านี้สูงกว่านี้มาก แต่ทั้งหมดไม่มีอันตรายและหายเป็นปกติ ที่กล้าพูดเช่นนี้เพราะทุกเคสที่มีการรายงานเข้ามาว่ามีอาการเหล่านี้จะมีการตรวจสอบสวนโรคอย่างละเอียด มีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและหลอดเลือดสมองตรวจสอบอย่างละเอียดและพบว่าไม่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นผล MRI (การตรวจคลื่นแม่เหล็กฟ้า) CT Scan บางราย CT Scan ดูเหมือนจะผิดปกตินิดๆ แต่พอยืนยันด้วย MRI ก็พบว่าปกติ เพียงแต่ว่าอาการบางครั้งเป็นอาการที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่ออาการทั่ว ๆ ไป ซึ่งบางคนมีการตอบสนองแรง

“สิ่งเหล่านี้ในต่างประเทศก็เกิดขึ้น ในอเมริกาเพิ่งรายงานเมื่อสัปดาห์ก่อน วัคซีนของจอห์นสันฉีดไปไม่เท่าไหร่เองเกิด 60 กว่ารายเป็นอาการคล้ายๆ ของเรา ชา เกร็ง ส่วนหนึ่งเขาบอกเลยว่า เกิดจากความเครียดของร่างกายและจิตใจ และมักจะเกิดในผู้ที่อายุน้อย เป็นอาการจากการตอบสนองของร่างกาย ดังนั้นบอกไม่ได้ว่าใครจะเกิดบ้างแต่ในประเทศเราก็พบน้อย อาจมีหลายปัจจัยเข้ามาร่วม แต่ไม่มีอันตรายและไม่ใช่การเจ็บป่วยถาวร เป็นเรื่องชั่วคราวและหายหมด”

อย่างไรก็ตามศ.พญ.กุลกัญญาเห็นว่า อันตรายอย่างหนึ่งซึ่งหลายคนกังวลใจคือภาวะลิ่มเลือดหลังการฉีดวัคซีนแอสตราฯ และเริ่มมีรายงานหลังการฉีดวัคซีนจอห์นสันด้วย ในยุโรปรายงานว่า พบ 1 ใน 200,000 ประเทศไทยโดยธรรมชาติพบโรคลิ่มเลือดเหล่านี้น้อยอยู่แล้ว น้อยกว่ายุโรปประมาณ 5 เท่า คาดว่าถ้าจะเกิดจากวัคซีนแอสตราฯ ที่จะฉีดในประเทศไทยก็ไม่น่าจะมากกว่า 1 ในล้าน และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์คำนวนโดยใช้อัตราการเกิด 1 ใน 200,000 ของยุโรป พบว่าช่วงอายุ 20-29 ปี อันตรายจากการติดเชื้อแค่ 1.1 คนแต่มีโอกาสเข้าไอซียูจากโควิดถึง 6.9 คนต่อประชากร 100,000 คน ถ้าเทียบกลุ่มอายุเกิน 60 ปี 127 ในขณะที่มีโอกาสเกิดอันตรายจากวัคซีนแค่ 0.2 องค์การอนามัยโลกและประเทศต่างๆ ก็เลยบอกว่าวัคซีนเหล่านี้มีประโยชน์เกินคุ้มความเสี่ยงมาก อันนี้คิดแค่กรณีเสี่ยงติดเชื้อแค่ 2 ใน 1,000 ถ้าในประเทศเราเสี่ยงติดเชื้อ 1 ใน 100 ตัวเลขเหล่านี้จะยิ่งสูงกว่านี้มหาศาล จะเห็นได้ว่าความคุ้ม คุ้มมหาศาล

“ผู้ที่ต้องฉีดระลอกแรกคือผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง มะเร็ง ทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคไตเรื้อรัง เบาหวาน และโรคอ้วน เพราะนี่คือกลุ่มที่เข้าไอซียูและเสียชีวิตมากที่สุด ดังนั้นถ้าเราฉีดกลุ่มนี้ได้ครบ กลุ่มที่เหลือเป็นโควิดก็รุนแรงไม่มากเท่า ดังนั้นเราก็จะค่อยๆ ทำให้ภาระการเข้าไอซียูหรือเสียชีวิตจะหายไป หลังจากฉีดวัคซีนกลุ่มนี้ครบแล้วก็ค่อยๆ ไล่อายุ สุดท้ายประชาชนคนไทยทุกคน ควรจะได้รับวัคซีน เพราะเราไม่ต้องการให้ได้รับภูมิคุ้มกันจากการติดโรค เพราะไม่รู้ใครจะเป็นรุนแรง เราอยากให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน เราต้องจัดการให้โรคโควิด-19 จากโรคร้ายกลายเป็นโรคหวัดกระจอก โรคหวัดไม่รุนแรง วิธีจัดการเจ้าไวรัสตัวนี้ได้ก็คือจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แล้วร่างกายก็จะทำให้เมื่อติดเชื้อไวรัสตัวนี้แล้วจะไม่เป็นโรคโควิดรุนแรง ก็จะเป็นเหมือนโรคหวัดธรรมดา”

ความกังวลต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนนั้น ศ.พญ.กุลกัญญายืนยันว่า ทุกเคสจะมีการรายงานเข้ามาและตรวจสอบอย่างละเอียด และได้รับการชัณสูตร ขอวิงวอนว่าทุกเคสที่เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีนขอให้ญาติอย่าปฏิเสธการชัณสูตร และที่ผ่านมามีเสียชีวิตทั้งหมด 5 ราย ผลจากการชัณสูตรไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเลย ส่วนภาวะที่คล้ายกับโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมหลอดเลือดสมองได้ตรวจสอบโดยละเอียดทุกราย ตรวจละเอียดทั้ง MRI CT Scan แล้วไม่ว่ามีรายใดมีพยาธิสภาพ แม้กระทั่งบอกว่ามีอยู่รายหนึ่งที่เหมือนเส้นเลือดหดตัวชั่วคราว แต่พอดูจริงๆ แล้วผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าไม่ใช่ เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นแค่ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อกระบวนการฉีดวัคซีน

“อาการเหล่านี้เกิดจากซิโนแวคอย่างเดียว แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับทุกวัคซีน แต่แอสตราเพิ่งฉีดไปประมาณ 100,000 โดส จึงอาจจะยังไม่เห็น แต่ในอนาคตจะมีอาการคล้ายๆ อย่างนี้เกิดขึ้นได้กับทุกวัคซีนถ้าเรามีความไม่พร้อม อดหลับอดนอน อ่อนเพลีย มีความวิตกกังวลสูง ซึ่งจะทำให้ร่างกายเกร็งโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ มีอาการเกร็ง ชาครึ่งซีกเหมือนอาการหลอดเลือดสมองแต่ไม่ใช่ ทุกคนค่อยๆ ดีขึ้นและกลับมาปกติ บางคนยังมีอาการหลงเหลืออยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ในที่สุดจะหายไป ขอให้มั่นใจ ถ้ารู้เท่าทันอาการเหล่านี้ เหมือนว่าร่างกายพร้อม ปฏิกิริยาเหล่านี้จะเกิดน้อยลง”

ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือการประกาศหยุดใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในต่างประเทศ ศ.พญ.กุลกัญญาอธิบายว่าเป็นเรื่องของโรคลิ่มเลือดประเภทรุนแรงมีเกร็ดเลือดต่ำด้วย บางครั้งรุนแรงเพราะไปอุดตันเส้นเลือดสมอง พบ 1 ใน 200,000 – 250,000 ประเทศไทยไม่เคยเจอ และคาดว่าถ้าจะเจอจะพบประมาณ 1 ในล้าน ดังนั้นประเทศที่มีทางเลือกเรื่องวัคซีนเยอะ พอพบเคสก็จะหยุดใช้ก่อนเพื่อความปลอดภัยและสืบสวนโดยดูว่าอัตราการเกิดสูงอยู่แล้วก่อนที่จะฉีดวัคซีนหรือไม่ เช่นกรณีหน้าเบี้ยวก็พบว่าได้หรือไม่ได้รับวัคซีนก็มีโอกาสการเกิดเท่ากัน แต่เฉพาะเรื่องลิ่มเลือดแบบพิเศษได้รับวัคซีนมีโอกาสเกิดมากกว่าไม่ได้รับ จึงหยุดใช้ก่อนแล้วสืบสวน และก็พบว่าโอกาสการเกิดลิ่มเลือดเช่นนี้น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับการเป็นโรคโควิด-19 แล้วเสียชีวิต เช่นโอกาสเป็นโควิดแล้วเสียชีวิตคือ 1 ใน 100 แต่โอกาสการเกิดลิ่มเลือดแล้วเสียชีวิตคือ 1 ในล้าน แล้วทำไมจึงกลัวโอกาส 1 ในล้าน

“หลายประเทศบอกว่าแม้แต่โอกาส 1 ในล้านก็ไม่อยากให้เจอ ก็เลยกลับมาใช้ ในบางประเทศเช่นอังกฤษ แต่จะไม่ใช้ในคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี เพราะคนอายุน้อยกว่า 30 โอกาสจะเป็นโรคโควิด-19 รุนแรงมีไม่ค่อยมาก จึงไม่อยากให้เสี่ยงเลย แล้วก็พบว่าโรคลิ่มเลือดอุดตันรุนแรงมักเป็นในคนที่อายุน้อย ประกอบกับมีวัคซีนยี่ห้ออื่นให้ใช้ก็เลยฉีดเฉพาะอายุเกิน 30 ส่วนบางประเทศเช่นมาเลเซียไม่ได้เลิกใช้เพียงแต่มีหลายวัคซีนให้เลือก ก็เลยไม่ใช้แอสตราฯเป็นตัวเลือกแรก โดยเฉพาะกับคนอายุน้อย นั่นคือมีวัคซีนหลายยี่ห้อ แต่ประเทศไทยโดยพื้นฐานกรรมพันธ์โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดเช่นนี้คือ 1 ในล้าน หรือน้อยกว่า อาจไม่เกิดเลยด้วยซ้ำไป ถ้ากลัวแต่เรื่องที่อาจเกิดได้น้อยมากแล้วทำให้ขาดโอกาสในการปกป้องคนของเราให้ปลอดภัย มันเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มกันเลย”

ศ.พญ.กุลกัญญายืนยันว่า อาการข้างเคียงเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่ อาการข้างเคียงระยะยาวยังไม่มีใครรู้จนกว่าจะไปถึงจุดนั้น แต่ก่อนที่จะใช้วัคซีนมันต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น MRNA มีข่าวในโซเชียลมีเดียว่าฉีดแล้วจะเป็นโรคนั้นโรคนี้ อย่าเพิ่งไปเชื่อ เพราะด้วยพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ MRNA มันจะถูกทำลายไปด้วยกระบวนการธรรมชาติของเซล ผลข้างเคียงระยะยาวต้องจับตามองต่อไป แต่การที่เราใช้วัคซีนมานานในเด็กทั่วๆ ไป แต่ละปีฉีดวัคซีนเด็กในประเทศไทยหลายล้านโดส เรารู้ว่าผลข้างเคียงระยะยาวไม่มีอะไรในวัคซีนที่เราได้ทดสอบมาอย่างปลอดภัยแล้ว อีกอย่างหนึ่งเราไม่ใช่ประเทศแรกที่ฉีดวัคซีน ปัจจุบันทั้งโลกมีการฉีดไปแล้วกว่า 1,000 ล้านโดส ซิโนแวคฉีดแล้ว 200 ล้านโดส แอสตราฯก็ฉีดแล้ว 200 ล้านโดส ขอให้มีสติและค่อยๆ คิด อย่างมีเหตุผล ดูอัตราส่วนการเกิดอาการข้างเคียง 1 ใน 100,000 1 ในล้าน