ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันพระปกเกล้า เผยผลการศึกษา “รับฟังความเห็นสิทธิบัตรทอง” ระบุ 17 ปี สปสช. พัฒนากระบวนการรับฟังต่อเนื่องเริ่มจากส่วนกลางสู่ระดับพื้นที่ ขยายการรับฟังผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมสะท้อนความเห็น ปัจจัยสำคัญสร้างการมีส่วนร่วมในระบบบัตรทองสู่ความสำเร็จ เสนอเพิ่มพัฒนา “ฐานข้อมูลภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” เพื่อเพิ่มศักยภาพการรับฟังความเห็นในระดับเขต

วันที่ 10 มิ.ย. 2564 ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ความสำเร็จหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นอกจากนโยบายมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพคนไทย งบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานหลักประกันสุภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้การกำกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) แล้ว การรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 18 (10) ที่ระบุให้บอร์ด สปสช. กำหนดให้จัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปีที่เป็นกลไกของการสร้างการมีส่วนร่วม ถือเป็นส่วนสำคัญทำให้บัตรทองได้รับการยอมรับจากในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ด้วยการรับฟังความคิดเห็นฯ เป็นช่องทางที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมสะท้อนความเห็นต่างๆ ที่มีต่อระบบมายังผู้บริหารและผู้ดำเนินงานกองทุนฯ เพื่อพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานกองทุนฯ และทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็นฯ สู่การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สปสช. ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้าจัดทำ “โครงการพัฒนาการของการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และพัฒนาต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วมในระดับเขต” ซึ่งจากการศึกษาและทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็นฯ 17 ปีที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ

ช่วงที่ 1 ปี 2547-2553 เป็นการรับฟังความเห็นช่วงเริ่มต้น ปี 2547 เป็นการทดสอบระบบ เน้นจัดเวทีประชุมที่ส่วนกลางและใน 4 ภาค ไม่มีเวทีระดับพื้นที่ ใช้วิทยุชุมชนและวิทยุกระจายเสียงเผยแพร่การประชุม โดยปี 2549 ขยายการรับฟังความเห็นไปในระดับจังหวัด และด้วยปี 2551 ที่ สปสช. พยายามกระจายอำนาจผ่านหลักการ “ความร่วมมือแก้ไขปัญหาและพัฒนาสุขภาพของพื้นที่” โดยให้ สปสช. เขตประสานงานกับสาขาจังหวัดและองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนของจังหวัดมีส่วนร่วม ส่งผลให้ปี 2554 เกิดการรับฟังความเห็นโดยใช้กระบวนการสมัชชาที่นำร่องเขตใน 8 อุดรธานี

ช่วงที่ 2 ปี 2554-2559 ช่วงกระจายอำนาจ โดย สปสช. เขตเพิ่มความซับซ้อนกระบวนการรับฟังความเห็น เกิดการรับฟังความเห็นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ปี 2554 ที่ได้เริ่มทำสมัชชาพิจารณ์ที่ จ.เลย พื้นที่ สปสช.เขต 8 อุดรธานี ก่อนขยายไปเขตอื่น ต่อมาปี 2558 ได้ทดสอบการรับฟังความเห็นระดับตำบลและอำเภอ นำร่องเขตละ 1 แห่ง

ช่วงที่ 3 ปี 2560 - ปัจจุบัน เป็นการรับฟังความเห็นฯ ที่สอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) เพิ่มรับฟังความเห็นกลุ่มเปราะบาง ทำให้ครอบคลุมการรับฟังความเห็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ให้บริการ ผู้แทนหน่วยบริการทุกระดับที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการ 2.ผู้รับบริการ ประชาชนทั่วไปที่มีและไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ 4.ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ 4.ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นักวิชากร ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น ในช่วงนี้ได้มีการพัฒนาการรับฟังความเห็นฯ ออนไลน์ ทำให้ในสถานการณ์โควิด-19 สปสช. สามารถเดินหน้ารับฟังความเห็นได้

ดร.สติธร กล่าวว่า เพื่อภาพที่ชัดเจนยังได้เปรียบเทียบการรับฟังความเห็นใน 3 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศสที่จัดรับฟังความเห็นรูปแบบปรึกษาหารือหรือสาธารณะ ให้รัฐเป็นผู้ติดสินใจ, โปรตุเกส มีลักษณะคล้ายไทย ประชาชนไม่ค่อยกล้าแสดงออก จึงเน้นรับฟังความเห็นออนไลน์เพิ่มการมีส่วนร่วม และเกาหลีใต้ เป็นการรับฟังความเห็นแบบคณะลูกขุนพลเมือง โดยรัฐสรรหาตัวแทนประชาชนอย่างเท่าเทียม เพื่อร่วมแสดงความเห็น เน้นการตัดสินใจด้วยเหตุผลคนธรรมดา นอกจากนี้ยังมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ทำสมัชชาสุขภาพทุกปี มีรูปแบบที่คุมประเด็น รับฟังความเห็นหลายช่องทาง กลั่นกรองทำเป็นพิมพ์เขียวแล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาที่เกี่ยวข้องเพื่อทำเป็นเอกสารนโยบายเสนอต่อรัฐ

จากข้อมูลเห็นได้ว่า สปสช. มีการพัฒนากระบวนการรับฟังความเห็นอย่างต่อเนื่อง เปิดให้ทุกระดับและทุกภาคส่วนร่วมแสดงความเห็น เป็นจุดเด่นของระบบ ทำให้ได้รับข้อคิดเห็นหลากหลาย รอบด้าน สู่การพัฒนาระบบจนได้รับความพึงพอใจจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามการพัฒนากระบวนการรับฟังความเห็นฯ จากนี้ต้องเน้นที่เขต ในโครงการนี้จึงได้ร่วมพัฒนาต้นแบบการมีส่วนร่วมในระดับเขต กับ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ สปสช. สถาบันพระปกเกล้า และ สช. เมื่อปีที่ผ่านมา (2563) มุ่งเสริมศักยภาพการรับฟังความเห็นของเจ้าหน้าที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ และขยายบทบาทหน้าที่ไปยังหน่วยงานอื่นๆ

ดร.สติธร กล่าวว่า จากการศึกษาทบทวนนี้ ยังมีการจัดทำข้อเสนอแนะ ด้วยการรับฟังความเห็นฯ มีความหลากหลายและครอบคลุม ทั้งพื้นที่ บุคคล และประเด็นนำเสนอ จึงควรพัฒนา “ฐานข้อมูลภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” เพื่อเป็นช่องทางร่วมเสนอแนะกระบวนการรับฟังความเห็นฯ และเพิ่มศักยภาพรับฟังความเห็นฯ ทั้งการเพิ่มช่องทางแสดงความเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย และเป็นช่องทางที่มีการบูรณาการ จัดระบบรับฟังความคิดเห็นที่แสดงให้เห็นขั้นตอนเชิงนโยบาย ฝึกอบรมการจัดทำข้อเสนอนโยบาย และพัฒนาศักยภาพการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ต่อสังคมให้กับส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นผู้สื่อสารและประชาสัมพันธ์ในประเด็นที่เครือข่ายผลักดัน นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการศึกษารูปแบบการรับฟังความเห็นแบบ Onsite และ Hybrid มีผลสรุปคือ ทำให้ได้รับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่แตกต่าง มีกระบวนการจัดการที่ง่าย คนไม่มาก ไม่ต้องใช้สถานที่ใหญ่ ใช้เวลารวดเร็ว ทำให้สามารถจัดได้ตลอดทั้งปีควบคู่กับการรับฟังความเห็นที่จัดอยู่

“จากผลการศึกษา จากนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการที่ สปสช. จะนำมาพัฒนาและปรับปรุงจัดกระบวนการรับฟังความเห็นในระบบที่ตอบสนองต่อแนวทางดำเนินงาน และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน” ดร.สติธร กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org