ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนา 4 สายพันธุ์กัญชาของไทย หางกระรอกภูพานเอสที 1 , หางเสือสกลทีที 1 , ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1 และ ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 มีสาร THC และ CBD ที่ต่างกันไป ล่าสุดศึกษาพบรากกัญชา มีสารที่อาจช่วยรักษาเนื้อเยื่อปอด “อนุทิน” ลั่นสนับสนุนกรมวิทย์เต็มที่ หากศึกษาสำเร็จจะเป็นประโยชน์ช่วงโควิด-19

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วมงาน

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในพิธีตัดช่อดอกกัญชาในวันนี้ เป็นสายพันธุ์ไทย ปลูกโดยสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งขออนุญาตปลูกถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้แก่ หางกระรอกภูพานเอสที 1 , หางเสือสกลทีที 1 , ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1 และ ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 ที่มีสาร THC และ CBD ที่ต่างกันไป ซึ่งเป็นการปลูกศึกษาวิจัยและใช้เป็นต้นแบบการปลูกในโรงเรือนแบบกรีนเฮ้าส์ (Green house) ที่มีระบบการปลูกในวัสดุทดแทนดิน (substrate culture) ให้น้ำและธาตุอาหารผ่านระบบน้ำหยด

"การพัฒนากัญชาพันธุ์ไทยของกรมวิทย์ จะนำพันธุ์ที่ได้ไปขยายให้กับเครือข่ายวิจัยร่วมกัน ได้แก่ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สกลนคร เพื่อเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกร นำไปใช้ต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ พัฒนาส่งเสริมเกษตรกรให้มีศักยภาพในการพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยแข่งขันในตลาดโลก ลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อขึ้นทะเบียนของกัญชาพันธุ์ไทยทั้ง 4 พันธุ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนส.ค. นี้ เพื่อให้เกิดเป็นมรดกของชาติ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สร้างประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์

นานอนุทิน กล่าวว่า ทางกรมวิทย์ รายงานว่า มีการสกัดส่วนรากกัญชานำไปศึกษา พบว่าอาจจะมีผลในการช่วยรักษาเนื้อเยื่อของปอด ซึ่งตรงกับเวลาในขณะนี้ คือ ผู้ที่ป่วยโควิด-19 ที่แม้จะหายแล้ว แต่เนื้อเยื่อปอดถูกทำลายไป ดังนั้น หากกรมวิทยาศาสตร์ฯ สามารถพัฒนาวิจัยศึกษาได้สำเร็จ ก็จะเป็นประโยชน์อันมหาศาลของวงการแพทย์ ซึ่งตนพร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัยรากกัญชานี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์อย่างสูงที่สุด และมอบหมายให้เกิดการทำงานร่วมกันกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อสร้างความหวัง เกิดเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในเศรษฐกิจที่เกิดผลกระทบจากโควิด-19 ต่อไป

ด้าน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ศึกษากัญชาพันธุ์ไทยครอบคลุมทั้งลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ด้านเคมีและข้อมูลสายพันธุกรรม พบว่ากัญชาพันธุ์ไทยมีลักษณะเด่นถึง 3 แบบ คือ

แบบที่ 1 กัญชาให้สาร THC สูง ได้แก่ พันธุ์หางกระรอกสกลทีที 1 และพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1

แบบที่ 2 กัญชาให้สาร THC และ CBD สัดส่วน 1:1 ได้แก่ พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1

แบบที่ 3 กัญชาให้สาร CBD สูง ได้แก่ พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1

"กัญชาไทยแต่ละพันธุ์มีลักษณะของต้น ใบ ช่อดอกและกลิ่นต่างกัน นอกจากนี้การถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง พบว่าทั้ง 4 สายพันธุ์ พบได้เฉพาะถิ่นเท่านั้นไม่ได้พบได้ทั่วไป จึงเป็นพันธุ์ที่หายาก ซึ่งกัญชาพันธุ์ไทยมีสารสำคัญในสัดส่วนที่ต่างกัน จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ข้อบ่งชี้ของโรคที่ต่างกัน รวมถึงการได้สาระสำคัญคงที่ในการปลูก ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org