ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 4 สาขา 69 คน เตรียมลงพื้นที่ช่วยผู้ป่วยโควิดวิกฤตสีแดง พื้นที่ กทม. เผยความในใจกังวล แต่ก็พร้อมใจช่วยผู้ป่วยโควิด เหตุเพราะสถานการณ์รุนแรง ต้องช่วยเหลือ แต่ก็ห่วงความปลอดภัยตัวเอง หากภาระงานมาก จนเหนื่อยและล้า อาจทำให้การระวังตัวบกพร่องได้ แต่ก็จะพยายามเต็มที่

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอความร่วมมือแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอายุรแพทย์ และเวชบำบัดวิกฤตกว่า 100 คนที่จบหลักสูตรเชี่ยวชาญในวันที่ 30 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมาตามสถานฝึกอบรมโรงเรียนแพทย์ต่างๆในพื้นที่กทม. และจะต้องกลับไปยังโรงพยาบาลพื้นที่จังหวัดของตนเองนั้น โดยขอให้วันที่ 1 ก.ค. มารายงานตัวที่กระทรวงสาธารณสุข ก่อนกระจายไปยังจุดเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กทม. เป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือนนั้น

โดยนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ได้ให้ข้อมูลว่า แพทย์เชี่ยวชาญ 4 สาขา ประกอบด้วยอายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤต ซึ่งจบเชี่ยวชาญในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา และต้องกลับไปปฏิบัติงานตามรพ.ในพื้นที่ของตัวเองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป แต่เมื่อเกิดเหตุระบาดโควิดหนักในกทม. ปริมณฑล จึงต้องขอให้ปฏิบัติราชการในพื้นที่กทม.และปริมณฑลก่อน โดยรวมทั้งหมด 144 คน แบ่งเป็นกทม. 69 คนซึ่งจะมีการประเมินระยะเวลาการปฏิบัติงานทุกเดือน หากเดือน ก.ค.สถานการณ์ดีขึ้นก็จะส่งกลับไปปฏิบัติงานตามพื้นที่ของตัวเองต่อไป

อ่านรายละเอียดต่อ : มาแล้ว! แพทย์เชี่ยวชาญ 4 สาขา 144 คน เสียสละปฏิบัติงานพื้นที่ กทม.ปริมณฑล ช่วยผู้ป่วยโควิดวิกฤต

ทั้งนี้ ลองมาฟังความในใจของแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้

นพ.กฤษณะ เนื่องขันธี อายุรแพทย์ทั่วไป สังกัด รพ.ร้อยเอ็ด ต้องไปช่วยราชการที่วชิรพยาบาล ให้สัมภาษณ์ ว่า สำหรบตนต้องไปปฏิบัติงานที่วชิรพยาบาล โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลคนไข้โควิด เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การระบาดสูงขึ้น โดยเฉพาะกทม.และปริมณฑล ทางกระทรวงฯ จึงขอความร่วมมือจากพวกเราซึ่งเป็นอายุแพทย์ที่จบเฉพาด้านให้มาช่วยในพื้นที่ก่อน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวกังวลเรื่องเมื่อมีคนไข้ป่วยมากขึ้น เคสผู้ป่วยหนักก็เพิ่มขึ้น แน่นอนว่า ภาระงานก็ต้องหนัก เพราะจะมีเคสไอซียูเพิ่มขึ้น เมื่อภาระงานมากขึ้น เราเหนื่อย เราล้า บางครั้งการป้องกันตัวเองอาจลดลงและมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ แต่หมอก็เชื่อว่า ทุกคนป้องกันตัวเองอย่างดีที่สุดอยู่แล้ว

“หมอและเพื่อนจบเชี่ยวชาญจากรพ.ราชวิถี ซึ่งอย่างที่ทราบว่า รพ.ก็มีการเปิดไอซียู และผมก็เคยรับดูแลคนไข้โควิดมาอยู่แล้ว แต่เป็นการปฏิบัติงานที่มีการกำกับดูแลโดยมีอาจารย์แพทย์ที่ปรึกษา แต่เมื่อมาครั้งนี้ต้องไปทำเอง ก็คิดว่าจะดูแลได้ดีแค่ไหน แต่เราก็จะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อผู้ป่วย ตามที่อาจารย์ได้แนะนำมา สำหรับงานที่ดูแลคนไข้ เราดูทั้งระบบ เวลาคนไข้โควิดแอดมิทมาที่ไอซียู ก็จะมีปัญหาอื่นๆ เช่น ไตวาย ติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ หรืออาจมีภาวะช็อก ซึ่งไอซียูจะดูครบทั้งระบบ ภาระงานในการดูแลคนไขจึงมากกว่าการดูแลคนไข้โควิดที่ป่วยเป็นปอดอักเสบ แต่เราดูทั้งหมด ซึ่งคนไข้ 1 คนเราจะมีหมอหลายๆแผนก ตั้งแต่หมอโรคปอด โรคติดเชื้อ เวชบำบัดวิกฤต โรคหัวใจ แทบทุกระบบต้องมาดูแลคนไข้โควิด” นพ.กฤษณะ กล่าว

นพ.ยศกร เรือนมะกอก อายุรแพทย์ทั่วไป ต้นสังกัด รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ต้องไปช่วยราชการที่วชิรพยาบาล กล่าวว่า การทำงานในแต่ละคนจะแบ่งการรับผิดชอบ เช่น ไอซียู 10 เตียง ก็จะมีหมอมาผลัดกันดู ซึ่งหมอก็จะมาจากหลากหลายแผนก อย่างหมอ 1 คนดู 20 คนก็ได้ และเมื่อเราดูคนไข้แล้ว ตอนออกมาเราก็ต้องอาบน้ำ ทำความสะอาด ดูแลตัวเองตลอด ก่อนจะสลับสับเปลี่ยนหมอที่จะมาดูแล

ด้าน นพ.คมชาญ อุตมวาทิน อายุรแพทย์ทั่วไป ต้นสังกัด รพ.อ่างทอง กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในแพทย์ที่ต้องใช้ทุน และได้รับภารกิจให้มาช่วยเหลือวิกฤตโควิดครั้งนี้ ซึ่งแพทย์ทุกคนก็ยินดีปฏิบัติ เพราะทุกคนล้วนเคยปฏิบัติหน้าที่และเข้าใจสถานการณ์ ยอมรับว่า ภาระงานครั้งนี้หนักกว่าทุกครั้ง และ ยังมีคนไข้อื่นที่ไม่ได้เป็นโควิดที่ต้องรับผิดชอบ. แต่อยากให้ต้นสังกัดเร่งจัดหาวัคซีนเข็ม 3 ที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้กับแพทย์ที่ปฏิบัติงานหน้าด่านโดยเร็ว แม้ว่าขณะนี้จะได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว แต่แพทย์ พยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังมีการติดเชื้อ การปฏิบัติหน้าที่ ทำให้แพทย์ พยาบาลทุกคนไม่กล้าไปเจอคนในครอบครัว เพราะกลัวว่าจะเป็นการนำเชื้อไปสู่ครอบครัว ทำให้หลังปฏิบัติหน้าที่แม้จะได้หยุดพักก็ไม่ได้กลับบ้าน ทั้งนี้อยากให้ต้นสังกัด พิจารณาตามข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องของทั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมโรคติดเชื้อฯ ที่จะเร่งจัดหาวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้แพทย์ พยาบาล โดยเร็ว