ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในเวทีเสวนา ”เอาชีวิตรอดอย่างไรหากต้องแยกกักตัวในบ้าน ในชุมชน” ซึ่งถ่านทอดผ่านเฟซบุคไลฟ์ กรมอนามัย เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 2 ส.ค.ว่า ในการระดมตรวจหาผู้ติดเชื้อทั่วประเทศระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค.นี้ คาดว่าถ้าตรวจได้ถึงวันละ 2 แสนคนก็อาจจะพบผู้ที่สงสัยจะติดเชื้อโควิดสูงถึง 2-3 หมื่นคน จึงต้องเตรียมพร้อมเรื่องการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation หรือ CI) เพื่อรองรับ โดยขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดทั้งประเทศประมาณ 2 แสนราย ครึ่งหนึ่งอยู่ในกทม. โดยมีผู้อย฿ในระบบ HIและ CI ประมาณ 50,000 คน ซึ่งสปสช.ได้เพิ่มเงื่อนไขให้ถือเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระบบเช่นเดียวกับโรงพยาบาล โดยได้รับยา อาหารครบทุกมื้อ ทั้ง 14 วัน ได้รับอุปกรณ์วัดไข้ วัดออกซิเจน ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านด้วยวิธีการที่ถูกต้อง

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การตรวจช่วงวันที่ 4-10 ส.ค.นี้ต้องเตรียมการ ทั้ง กทม. สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ถ้าแรพพิดเทสต์ได้ก็จะทำแรพพิด จากนั้นเข้าสู่ CI มียา อุปกรณ์จำเป็น อาหารส่งให้ที่บ้าน โดยจะมีทีมของกระทรวงสาธารณสุขช่วยดูแล ตั้งใจว่าจะเก็บตกผู้ที่ไม่ได้ตรวจและผู้ที่อยู่ในชุมชนให้ได้มากที่สุด เบื้องต้นจะออกตรวจ 250 ชุมชน โดยตรวจจะมีถุงพลังใจให้ 1 หมื่นถุงซึ่งมีของจำเป็นเบื้องต้นข้าวสาร ยาจำเป็น อาจจะมีฟ้าทะลายโจรบ้างแต่คงไม่ครบทั้งหมด ยาแก้ไอ แก้ไข ผงเกลือแร่สำหรับคนที่ถ่ายเหลวเล็กน้อยสามารถอยู่ในชุมชนได้ และมีถุงขยะสีแดงเอาไว้ให้ด้วย แจกให้กับคนที่ฐานะค่อนข้างจะลำบากก่อน อาจจะไม่ครบทั้งหมดแต่จะพยายามเตรียมไปแจก

ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด19 ระบาดในวงกว้างเป็นจำนวนมาก พบผู้ติดเชื้อมีการระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ปัญหาที่ตามมาคือผู้ติดเชื้อเหล่านั้น มากกว่า 80 % เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

"ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเริ่มมีปัญหาเรื่องใช้เตียงที่มีอาการหนักหรือที่เรียกว่าสีแดง ส่วนสีเหลืองก็เริ่มมีปัญหาเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการดึงผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยๆ ให้รักษาตัวเองที่บ้าน แต่ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้อก็ต้องให้ชุมชนนั้นมีการจัดตั้งสถานที่ที่จะดูแลภายใต้การกำกับของสถานพยาบาล จึงเป็นที่มาของ HI และ CI เพื่อให้เตียงในสถานพยาบาลที่เต็มเริ่มมีพื้นที่ว่าง แต่เรื่องเหล่านี้มีความจำเป็นต้องจัดระบบ ไม่ว่าจะระบบความพร้อมของตัวผู้ป่วยและครอบครัว ความพร้อมของชุมชนในกรณีจัดตั้ง CI เพื่อลดการเสียชีวิตควบคู่ไปกับการแพร่กระจายของตัวเชื้อไปสู่ชุมชนและผู้อื่น"

นพ.สุวรรณชัย อธิบายว่าการแยกระดับอาการผู้ป่วยมี 3 ระดับการหายใจ คือ หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก ถ้ามีทั้ง 3 อาการนี้คืออยู่ในระดับสีเหลือง แต่ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย ซึม ไม่รู้สติ หายใจหอบลึกมาก จะเป็นกลุ่มอาการสีแดง

"การจะทำ HI นอกจากจะดูจากอาการแล้วคือต้องช่วยเหลือตัวเองได้ สภาพของบ้านต้องเอื้อ คือไม่แแออัดและสามารถเว้นระยะห่างได้ในระดับหนึ่ง จัดข้าวขาวเครื่องใช้ส่วนแยกออกมาได้ แยกการใช้ชีวิตโดยไม่ไปปะปนผู้ใกล้ชิด และต้องปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของการแพทย์ เพราะฉะนั้นถ้าอาศัยอยู่ในครอบครัวต้องแยกผู้ติดเชื้ออกมาอยู่ข้างนอกจะเหมาะสมกว่า แต่ถ้าอยู่กัน 1-2 คน ก็ควรแยกห้อง ถ้าแยกห้องไม่ได้ก็ควรจัดฉากกั้น การใช้ห้องน้ำก็ต้องมีลำดับโดยให้ผู้ติดเชื้อเป็นคนช้หลังสุดพร้อมกับทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ"

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า CI ไม่ต้องคำนึงถึงขนาด โดยสามารถทำได้ได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ คล้ายโรงพยาบาลสนาม แต่สิ่งที่สำคัญจะต้องมีความพร้อมของชุมชน โดยมีปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ 1.ความปลอดภัย 2.ระบบบริการทางสังคม 3.การจัดการโดยมีส่วนร่วมทั้งสถานที่และชุมชนโดยรอบ

ด้าน น.ส.เขมนิจ จามิกรณ์ หรือ แพนเค้ก ดารานักแสดง ซึ่งเคยเป็นผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิดและได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว กล่าวว่า เริ่มต้นเข้าไปตรวจโควิดเนื่องจากมีสมาชิกในครอบครัวไม่สบาย เจ็บคอมากเหมือนมีอะไรมาบาดคอ มีเสมหะ ไอมี น้ำมูก และจมูกไม่ได้กลิ่น โดยเป็นกันก่อน 3 คน

"แค่ 1-2 วัน ที่ไปตรวจทุกคนในครอบครัวรู้แล้วว่ามีความเสี่ยง ด้วยความที่ในบ้านอยู่ด้วยกันค่อนข้างใกล้ชิด ก็เลยติดไปทั้งหมด 8 คน แม้ว่าเวลาออกนอกบ้านทุกคนใส่แมสก์กันเป็นปกติ แต่เมื่ออยู่ในบ้านมันก็มีความไม่นึกว่ามันจะเกิดขึ้น พอติดแล้วก็เลยข้ามความกลัว เพราะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ ดูแลตัวเองอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร ไม่รู้ว่าเมื่อต้องไปรับการรักษาต้องเตรียมอะไรบ้าง คิดว่าเราจะรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้หรือเปล่าในช่วงตรงนั้น การได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ"

แพนเค้ก กล่าวถึงการเข้ารับการรักษาว่า ด้วยไม่รู้ว่าอาการเป็นมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งมีเริ่มต้นมีแค่อาการไอแห้งๆ นิดหน่อยเท่านั้น วันต่อมาเริ่มไม่ได้กลิ่น ก่อนที่เช้าวันถัดมาจะมีอาการไข้ขึ้น

"เตรียมของใช้ส่วนตัวเท่าที่เราจะนึกออก คุณหมอรักษาอาการตามที่เรามีขณะนั้น ไอ น้ำมูก เสมหะ คุณหมอประเมินอาการแล้วก็มีการเอ็กซเรย์ปอด พอเริ่มมีไข้ ปอดเริ่มอักเสบ ร่างกายต้องการพักตลอดเวลา ตื่นมาทานข้าว ทานยา นอน ทุกวันเป็นกิจวัตร จนค่อยๆเริ่มดีขึ้น กระทั่งสามารถลุกขึ้นเดิน ออกกำลังกายเบาๆ ที่พอทำได้ อยู่ในการประเมินของคุณหมอตลอด ก็มีบางช่วงที่คุณหมอต้องมาฉีดยาสลายลิ่มเลือดให้แพนที่ท้อง แพนก็ตกใจว่านี่มันรุนแรงขนาดนั้นเลยหรือ เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รุนแรงหรือเปล่า แล้วเราก็ไม่เคยฉีดยาเข้าตรงท้อง มันคืออะไร คิดไปได้ร้อยแปดอย่างนอนไม่หลับเลย ซึ่งคุณหมอบอกว่าโควิดคืออาการที่ไม่แน่นอน วันนี้อาจจะอาการปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปปลายๆ อาทิตย์อาจมีอะไรแทรกซ้อนขึ้นมาก็ได้ ซึ่งเราต้องสังเกตอาการของเราตลอดเวลา วัดความดัน วัดออกซิเจน คือสิ่งที่แพนต้องทำทุกวันที่อยู่ในโรงพยาบาลจนค่อยๆดีขึ้น" นักแสดงสาวกล่าว

ในขณะที่ พระโสภณธรรมวงศ์ หรือเจ้าคุณน้อย เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. กล่าวถึงการทำ CI ในชุมชนว่า วัดอินทรฯ เป็นแห่งหนึ่งที่ได้จัดตั้งศูนย์พักคอยและส่งต่อเพื่อลดการติดเชื้อจากครอบครัวมาอยู่ที่ศูนย์นี้

"การจัดตั้งศูนย์พักคอยน่าจะสำคัญที่สุดในขณะนี้ โดยต้องช่วยกันหยุดเชื้อให้เร็วที่สุด หนทางหนึ่งในบริบทต่างๆศูนย์พักคอยนั้นสำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจไม่ใช่เฉพาะภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยภาคประชาชนด้วย เดิมทีเดียวการตั้งศูนย์ทางวัดต่างๆ ก็อยากจัดตั้งหลายที่ด้วยปัญหาความไม่เข้าใจของประชาชนว่าการตั้งศูนย์ในที่นั้นๆแล้วจะเป็นที่รวมนำเอาเชื้อโรคต่างๆมาสู่ชุมชน ความเข้าใจของประชาชนจึงเป็นส่วนหลักของการจัดตั้งศูนย์นี้ ที่สำคัญคือรัฐต้องร่วมมือกับวัด อบต. หรือชุมชน ต้องดึงหน่วยงานหลายๆอย่างมาจัดตั้ง รักษาความปลอดภัยให้เกิดความเชื่อมั่น"

เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร กล่าวด้วยว่า ถ้าทุกวัดจัดตั้งได้หรือทุกตำบลจัดได้ปัญหาเรื่องชาวบ้านเกี่ยงงอนหรือกลัว ก็จะลดหายไปได้มาก

"เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้ว การตรวจหรือการรักษาจากประสบการณ์ที่วัดของอาตมา ตอนที่รับการตรวจโดยไม่ได้ให้บริการคนต่างด้าว พบว่าคนที่มารับการตรวจไม่ติด แต่คนที่ไม่ตรวจติดกันเยอะแล้วแพร่กระจาย ขอฝากไว้ว่าบุคคลใดที่อยู่ในประเทศใดเราถ้ามีโอกาสเสี่ยงก็ต้องรีบกักหรือดำเนินให้เร็วไวที่สุด" พระโสภณธรรมวงศ์ กล่าว

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า มีนโยบายให้ทุกเขตมี CI 1 แห่งเป็นอย่างน้อย เพราะถ้าหากมีคนในชุมชนติดเชื้อก็ไม่มีทางแยกกักตัวอยู่ที่บ้านได้แน่นอน

"ในส่วนของ กทม. มี CI หลายเซ็ตติ้ง ศูนย์ออกกำลังกายที่ไม่อนุญาตให้เปิดบริการก็นำมาเป็น CI บางชุมชนก็จัดตั้งศูนย์แยกกักของเขาเองในชุมชน ก็จะไปดูพี่น้องตัวเองในชุมชน เมื่อมีการติดเชื้อก็ต้องมีการได้รับคำแนะนำจากทางแพทย์ ศูนย์แยกกักต่างๆ ในกทม.ทุกสังกัด มีความหลากหลายในการบริการทางการแพทย์ ของสำนักการแพทย์ ของกรมการแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ก็มาร่วมดูแลกับกทม. เพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอย เพื่อลดความต้องการเตียงในโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลก็จะได้มีเวลาในการบริการมากขึ้น การทำงานในศูนย์พักคอยก็จะคล้ายๆ HI ในลักษณะ TeleMedicine ถ้ามีอาการมากขึ้นก็จะส่งยาไปให้ นี่เป็นการร่วมมือของการจัดตั้งศูนย์พักคอยของ กทม.โดยสถานที่ที่สามารถนำมาเป็นศูนย์พักคอยได้คือ วัด โรงเรียน ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ส่วนในชุมชนถ้าเขามีพื้นที่สามารถแยกออกมาได้ ไม่ต้องใหญ่โต สถานที่สอนศาสนามัสยิดก็ทำได้ แต่ขอให้แยกคนไข้ มีบริการให้อยู่ได้ มีห้องน้ำ ถ้าชุมชนมีความเข้มแข็ง อาสาสมัครสามารถรวมตัวแล้วจัดตั้ง CI ทางสำนักอนามัยก็จะดูแลในการนำโรงพยาบาลไปเป็นผู้ให้คำปรึกษา มีการส่งยาให้ ถ้าเราร่วมมือกันอย่างนี้ได้ปัญหาเตียงล้นในโรงพยาบาลก็อาจจะแก้ปัญหาได้" พญ.ป่านฤดี กล่าว