การระบาดของโรคโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรให้แง่คิดกับประเทศไทยได้หลายประเด็น ที่น่าสนใจที่สุดคือสหราชอาณาจักรมีจำนวนประชากรไล่เลี่ยกับไทย (66.6 ล้านคน) แต่มีการระบาดที่หนักว่าไทย (ติดเชื้อ 6.59 ล้านคน เสียชีวิต 1.32 แสนคน - ตัวเลขวันที่ 26 สิงหาคม 2564)
ย้อนกลับไปช่วงเดือนมกราคม สหราชอาณาจักรพบกับคลื่นการระบาดระลอกที่สอง มีจุดพีคอยู่ในวันที่ 8 มกราคม ผู้ติดเชื้อสูงถึง 6.8 หมื่นราย แต่ในเวลานั้นรัฐบาลมั่นใจว่าจะสามารถคลายล็อคกดาวน์ได้ในเดือนมีนาคม โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้วางโรดแมปประเทศสำหรับการยกเลิกการล็อกดาวน์ ซึ่งรวมถึงแผนสี่ขั้นตอนสำหรับยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดเกี่ยวกับการติดต่อทางสังคม (social contact) ภายในวันที่ 21 มิถุนายนอย่างเร็วที่สุด
จอห์นสันเน้นย้ำว่าแผนเปิดประเทศจะทำอย่าง "ระมัดระวังแต่จะไม่กลับลำ" และการกำหนดมาตรการผ่อนคลายจะทำโดยพิจารณาจาก "ข้อมูลไม่ใช่กำหนดวัน" (1) ซึ่งหมายความว่าหากมีข้อมูลบ่งชี้ว่าสถานการณ์จะแย่ลง อาจจะต้องมีการปรับโรดแมปนี้ แต่แน่นอนว่า "จะไม่กลับลำ" ซึ่งหมายถึงว่าประเทศไม่มีทางล็อคดาวน์ได้ตลอดไป ต้องมีจุดใดจุดหนึ่งที่ต้องทำตามโรดแมปโดยสมบูรณ์
พอถึงเดือนมีนาคม สหราชอาณาจักรก็เริ่มคลายล็อคดาวน์ทีละขั้นๆ ตามที่ระบุไว้ในโรดแมป จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม กฎห้ามการติดต่อทางสังคมในที่กลางแจ้งส่วนใหญ่ถูกยกเลิกไป ในเดือนพฤษภาคมอัตราการติดเชื้อของสหราชอาณาจักรอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี ดูเหมือนว่าพวกเขาจะผ่านจุดวิกฤตมาได้แล้ว
แต่มันยังไม่จบง่ายๆ ตามแผนการเดิม การสิ้นสุดข้อจำกัดการติดต่อทางสังคมทั้งหมดจะมีขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน แต่เพราะรัฐบาลสหราชอาณาจักรเน้นที่ "ข้อมูลไม่ใช่กำหนดวัน" ดังนั้นในวันที่ 14 มิถุนายนจึงเสนอให้เลื่อนคลายล็อคดาวน์ทั้งหมดออกไปอีก 4 สัปดาห์ (จนถึง 19 กรกฎาคม) และการขยายการฉีดวัคซีนก็เร่งให้เร็วขึ้น เพราะมีความกังวลเรื่องเชื้อเดลต้า
เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม เดลต้ากลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักรและทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกที่สามภายในเดือนกรกฎาคม (เดลตามีสัดส่วนถึง 99 % ของเติดเชื้อทั้งประเทศ)
แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่รัฐบาลกลับประกาศว่าข้อจำกัดส่วนใหญ่จะถูกยกเลิกในวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งรวมถึงข้อบังคับเรื่องหน้ากากอนามัย มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และข้อจำกัดด้านความจุผู้คนในสถานที่ต่างๆ ข้อบังคับเดิมเหล่าจะเป็นมาตรการเชิงแนะนำที่ไม่บังคับแทน
นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดการณ์ว่าการติดเชื้อในสหราชอาณาจักร อาจจะติดเชื้อถึง 200,000 ต่อวันในช่วงฤดูร้อน ซึ่งก็คือช่วงเดือนกรกฎาคม และในวันที่ประกาศยกเลิกมาตรการจำกัดทางสังคมอยู่ที่ประมาณ 50,000 ครั้งต่อวัน แต่จากการสร้างแบบจำลองชี้ให้เห็นว่าอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อัตราการเจ็บป่วยที่รุนแรง และการเสียชีวิตจากโควิด-19 จะอยู่ที่ระดับที่ต่ำกว่าในช่วงพีคก่อนหน้านี้ เนื่องจากผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรมากกว่า 68% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้วัคซีนแล้วในเวลานั้นถึง 90% (2)
จอห์นสันกล่าวว่า “ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ เราต้องถามตัวเองว่าเราจะทำเมื่อไหร่?” เป็นคำพูดที่สะท้อนแนวทางของเขาที่กล่าวไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ตั้งแต่การระบาดระลอกสองว่าการคลายมาตรการจำต้องทำอย่าง "ระมัดระวังแต่จะไม่กลับลำ" ครั้งนี้เขาก็พูดเหมือนเดิมว่า “แต่เราต้องทำอย่างระมัดระวัง เราต้องจำไว้ว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไวรัสตัวนี้ยังมีอยู่ทั่ว มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เราสามารถพบการแพร่ระบาดที่รุนแรงของสายพันธุ์เดลต้า” (2)
ในวันที่ประกาศคลายมาตรการคือวันที่ 19 กรกฎาคม หรือที่เรียกกันว่า ‘Freedom day‘ การติดเชื้อยังสูงมาก คือ 3.95 หมื่นคน แต่ในวันที่ 23 ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ลดลงเรื่อยๆ จนมาต่ำถึง 2.14 มื่นคนในวันที่ 3 สิงหาคม การลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความสงสัยในหมู่นักสถิติและนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ นักวิทยาศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะเดลต้าง่ายจนทำให้คนหมู่มากได้รับเชื้อทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวจนสหราชอาณาจักรได้ภูมิคุ้มกันหมู่ไปเรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office of National Statistics) พบว่า ในอังกฤษคาดว่าผู้ใหญ่ประมาณ 9 ใน 10 คน หรือ 91.9% ของประชากรผู้ใหญ่มีแอนติบอดี้โควิด-19 ในเวลส์ คาดว่าประมาณ 9 ใน 10 หรือ 92.6% ของประชากรผู้ใหญ่ ในไอร์แลนด์เหนือ คาดว่า 9 ใน 10 คน หรือ 90.0% ของประชากรผู้ใหญ่ และในสกอตแลนด์ ประมาณว่าผู้ใหญ่เกือบ 9 ใน 10 คน หรือ 88.6% มีแอนติบอดี้โควิด-19 จากการตรวจเลือดที่เริ่มเมื่อ 28 มิถุนายน ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าประชากรกลุ่นนี้เคยติดเชื้อหรือเคยฉีดวัคซีนมาก่อน (3)
เมื่อดูจากสถิติการติดเชื้อ การเสียชีวิต และการฉีดวัควีนจะเห็นหลักฐานบ่งชี้ว่าขณะนี้วัคซีนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมโรค หากรัฐบาลปล่อยสังคมให้เคลื่อนที่โดยไม่ต้องควบคุมอีกให้กับประชาชนที่ไม่มีการป้องกันอย่างสมบูรณ์ จำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละวันก็จะเพิ่มขึ้นเป็นพันคน เมื่อดูตัวเลขการติดเชื้อช่วงพีคเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมมีผู้ติดเชื้อ 5.12 หมื่นราย แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีแค่ 49 รายเท่านั้น ตรงกันข้ามกับการระบาดระลอก 2 ที่มีจุดพีคอยู่ในวันที่ 8 มกราคม ผู้ติดเชื้อสูงถึง 6.8 หมื่นราย และจุดพีคขอผู้เสียชีวิตอยู่ในวันที่ 20 มกราคม ที่ 1,820 ราย
จากสถิติแอนติบอดี้ที่สำรวจในช่วงปลายเดือนมิถุนายนยังน่าสนใจตรงที่ หลังจากนั้นตังเลขการติดเชื้อพุ่งขึ้นมาอีกรอบในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เรื่องนี้สร้างความกังขาในหมู่นักวิทยาศาสตร์เช่นกัน วิลเลียม จอห์น เอ็ดมันด์ (William John Edmunds) นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษ และเป็นศาสตราจารย์ในคณะระบาดวิทยาและสุขภาพประชากรที่ London School of Hygiene & Tropical Medicine กล่าวว่า ถึงจะมีภูมิคุ้มกันหมู่แต่มันก็จะยังมีการติดเชื้อพุ่งถึงจุดพีคในช่วงเวลาต่างๆ ในส่วนต่างๆ ของประเทศ เนื่องจากมีระดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันทั่วประเทศ (ลองดูสถิติแอติบอดี้ในสกอตแลนด์ที่ค่อนข้างต่ำกว่าที่อื่นในสหราชอาณาจักร) แต่สิ่งที่ทำให้การติดเชื้อลดลงหลังจากนั้น เพราะหลังสิ่งที่เรียกว่า ‘pingdemic’ (4)
‘pingdemic’ เป็นการเล่นคำที่ประกอบด้วยคำว่า "pandemic (การระบาดใหญ่)" และ "ping (เสียงดังปิ๊ง)" หมายถึงเสียงเตือนเมื่อได้รับแจ้งจากแอป NHS Covid-19 ในโทรศัพท์ หากได้ยินเสียง ping จากแอปหมายความว่าจะต้องแยกตัวเองไปกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนด การแจ้งเตือนจะถูกส่งหลังจากแอปลงทะเบียนว่าคนๆ นั้นได้ใกล้ชิดกับผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกหรือไม่ และการกักตัวนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากหลังแฟนลูกหนังยกขบวนไปชมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ฟุตบอลยูโร) และการปฏิบัติตาม ‘pingdemic’ ทำให้การติดเชื้อลดลงมากตามทัศนะของวิลเลียม จอห์น เอ็ดมันด์ แต่เอ็ดมันด์ยังชี้ด้วยว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีการเปิดโรงเรียนในช่วงนั้น
แต่ถ้าเปิดโรงเรียนเมื่อไร นักวิทยาศาสตร์กังวลว่ามันจะทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังเปิดเรียนในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน พวกเขามีเหตุผลให้กังวลเพราะ ในสกอตแลนด์ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่กลับไปเมื่อสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม มีกรณีติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 3,190 ในวันที่ 22 สิงหาคม (จาก 799 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม)
เมื่อเปิดเทอมแล้ว เด็กๆ ทีไปพบกับเพื่อนฝูงมากมายอาจจะเป็นพาหะนำโรคกลับมาบ้านด้วย ยิ่งเด็กๆ ทั่วโลกยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงด้วยเหตุผลด้านการแพทย์ยิ่งทำให้พวกเขาเป็นพาหะที่น่ากลัว แนวทางหนึ่งที่เสนอโดย ศ.เจมส์ ไนสมิธ (Prof James Naismith) ผู้อำนวยการสถาบันโรซาลินด์ แฟรงคลินในอ็อกซ์ฟอร์ดคือการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 16 และ 17 ปีทั่วสหราชอาณาจักรเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยชี้ว่าการฉีดวัคซีนให้เยาวชนแม้จะมีผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่ผลข้างเคียงของวัคซีนก็ยังถือว่าแย่น้อยกว่าอาการแทรกแซ้อนที่เยาวชนจะได้มาจาการติดเชื้อโควิด-19 (4)
แต่ในที่สุด รัฐบาลสหราชอาณาจักรเลือกที่เปิดเทอมต่อไปโดยสะท้อนยุทธศาสตร์ของจอห์นสันนั่นคือ “ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ เราต้องถามตัวเองว่าเราจะทำเมื่อไหร่?” ในปลายเดือนสิงหาคมก่อนที่จะเปิดเทอมไม่กี่วัน กรมสามัญศึกษาแนะนำว่าโรงเรียนควรพยายามกลับสู่สภาวะปกติโดยให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันทั้งการแสดงละคร กีฬา และดนตรี โดยกำจัด "ฟองสบู่" หรือมาตรการทางสังคมในโรงเรียน ไม่ปิดโรงเรียน และไม่ส่งนักเรียนกลับบ้านหากพบการติดเชื้อในโรงเรียน แต่จะแนะนำให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยหรือทำการทดสอบนักเรียนทุกคน รัฐบาลยังแนะให้โรงเรียนต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งหากมีการระบาด ฝ่ายสาธารณสุขจะช่วยบอกให้โรงเรียน "อย่าตื่นตูม" (5)
ขณะที่ไอร์แลนด์เหนือออกแนวทางก่อนเปิดเทอมที่ชัดเจนกว่ารัฐบาลกลาง สำนักงานสาธารณสุขมีประกาศให้นักเรียนไม่ต้องแยกตัวเองหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วยหากพวกเขาเพิ่งทดสอบไวรัสได้ผลบวกเมื่อเร็วๆ นี้ ประกาศระบุรายละเอียดกว่า "นักเรียนที่สัมผัสใกล้ชิดแต่มีผลการทดสอบเป็นบวกใน 90 วันที่ผ่านมาและไม่มีอาการใหม่ ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีการทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (PCR) หรือการแยกตัวเอง นี่เป็นเพราะเป็นไปได้ที่การทดสอบ PCR จะยังคงผลบวกเป็นระยะเวลาหนึ่งหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 อันเนื่องมาจากเศษไวรัสที่ตกค้าง (ซึ่งไม่ติดเชื้อ)"
หากนักเรียนในโรงเรียนสัมผัสใกล้ชิดและไม่มีอาการใดๆ แต่ไม่ได้รับการทดสอบ PCR มีผลบวกในช่วง 90 วันที่ผ่านมา พวกเขาควรแยกตัวเองออกไปจนกว่าจะได้ทำการทดสอบ PCR
อย่างไรก็ตาม หากผลตรวจเป็นลบ พวกเขาสามารถกลับไปโรงเรียนได้และไม่ต้องกักตัวเองเป็นเวลา 10 วัน
และตราบใดที่นักเรียนยังสบายดี พวกเขาสามารถอยู่ในโรงเรียนได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมบ้านพักคนชราและโรงพยาบาล (ซึ่งมีกลุ่มเสี่ยงอยู่มาก) ส่วนพนักงานในโรงเรียนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ก็สามารถทำงานในโรงเรียนต่อไปได้หากได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับวัคซีนต้องกักตัวเองเป็นเวลา 10 วัน (6)
มาตรการเหล่านี้ถือว่ารัดกุมที่สุดแล้วเท่าที่จะทำได้สำหรับประเทศที่ต้องการเดินไปข้างหน้าโดยที่การระบาดยังมีอยู่และมองไปข้างหน้าด้วยว่าในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว (เริ่มตั้งแต่กลางเดือนสิงหคมไปจนถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า) อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดหนักอีก
อ้างอิง
1. "Lockdown: Boris Johnson unveils plan to end England restrictions by 21 June". (22 February 2021) BBC News.
2. Shearing, Hazel and Lee, Joseph. (19 July 2021). "19 July: England Covid restrictions ease as PM urges caution". BBC News.
3. "Coronavirus (COVID-19) Infection Survey, antibody and vaccination data, UK: 21 July 2021". (21 July 2021). Office of National Statistics.
4. McKie, Robin. (1 Aug 2021). "Is Covid-19 on the run in the UK?". The Guardian.
5. "Schools told to stay open, scrap bubbles and keep testing pupils for Covid". (August 25 2021). The Times.
6. Meredith, Robbie. (26 Aug 2021) "Covid-19: NI pupils in contact with coronavirus case can stay in class". BBC News.
ภาพ - United Kingdom Open Government Licence v3.0
- 40 views