ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต เดินหน้ายุทธศาสตร์ลดฆ่าตัวตายไม่เกิน 8 ต่อแสนประชากร หลังโควิดเพิ่มเป็น 10 ต่อแสนประชากร ชู 4 มาตรการป้องกัน ขณะที่อธิบดีฯ เผยเฝ้าระวังพิเศษ 25 จังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ อิงข้อมูลกระทรวงแรงงาน กรณีคนตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ ชี้มีกลุ่มไม่เข้าระบบสุขภาพ ทำติดตามยาก พร้อมส่งทีมสุขภาพจิตเคลื่อนที่เร็วค้นหาเชิงรุก

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่กรมสุขภาพจิต นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดการแถลงข่าวเรื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2564 ว่า วันนี้เป็นวันที่ 10 ก.ย.ซึ่งทุกปีจะตรงกับวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกหรือ World Suicide Prevention Day ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นความสูญเสียที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและเป็นความสูญเสียที่เราทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันได้ ซึ่ง World Suicide Prevention Day ในปีนี้ มี theme ในระดับนานาชาติที่มีชื่อว่า Creating Hope Through Action หรือ รวมพลังสร้างความหวัง ซึ่งเป็นการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในสังคมมุ่งหน้าสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อผ่านวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นและลดการฆ่าตัวตาย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนสนใจเรื่องปัญหาการฆ่าตัวตายมากขึ้น เนื่องจากทั่วโลกประสบวิกฤตขนาดใหญ่ คือ มีการระบาดของโรคโควิด -19 ที่มีลักษณะเฉพาะคือ 1.ขอบข่ายของผลกระทบวงกว้างมากกว่าผู้ป่วย หรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย แต่รวมถึงสังคม เศรษฐกิจ และผลกระทบวงกว้างต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 โดยวิกฤตครั้งนี้ลงไประดับครัวเรือน 2.ระยะค่อนข้างยาว เมื่อเทียบกับการเผชิญโรคอื่นๆ ที่เผชิญมา

ทั้งนี้ จากข้อมูลฐานใบมรณะบัตร ฐานข้อมูลการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล และระบบรายงานการฆ่าตัวตาย พบว่าแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2563-2564 ตั้งแต่มีการระบาดโควิด และประสบการณ์ที่ได้จากวิกฤตต้มยำกุ้ง จะพบว่าแม้อัตราผู้ป่วยโควิดลดลงเรื่อย ๆ แต่การฆ่าตัวตายหลังภาวะวิกฤตยังคงอยู่อีกระยะหนึ่ง ราว ๆ 2-3 จึงสามารถทำนายได้ว่าโอกาสการฆ่าตัวตายจะสูงขึ้น แต่หวังว่าจะยังคุมให้อยูในระดับที่เราควบคุมได้ เพราะจำนวนที่สูญเสียต่อปีเกือบ 5 พันราย หมายถึงยังมีอีก 5 พันครอบครัวที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป ที่เราต้องเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือ

“ตัวเลขเดิมเราอิงเพียงฐานข้อมูลมรณบัตร ปี 63 อยู่ที่ 7 ต่อแสนประชากร มีการคาดการณ์ว่าหากไม่ทำอะไรจะขึ้นไปที่ 9 ต่อแสนประชากร แต่เรายังหวังว่าจะคงอัตราอยู่ที่ 8 ต่อแสนประชากร แต่ตัวเลขสัมพัทธ์ ซึ่งมีการรวมข้อมูลใหม่ จะเห็นว่าปี 63 นั้น แตะที่ 10 ต่อแสนประชากร ไม่ใช่ 7 ต่อแสนประชากร และปี 64 ก็น่าจะแตะที่ 10 ต่อแสนประชากรเหมือนกัน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ดังนั้นยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ปี 2564-2565 เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชากรไทย ไม่ให้เกิน 8 ต่อแสนประชากร โดยมี 4 มาตรการสำคัญคือ 1.ส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลด้านสวัสดิการทางสังคม และสุขภาพขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างพลังใจในประชากรกลุ่มเสี่ยง ต่อการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ 2. พัฒนาระบบการคัดกรอง ค้นหา และเฝ้าระวังประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ตามระบบความรุนแรง และครอบคลุมทุกมิติ 3. การพัฒนารูปแบบกลไกการจัดการแบบบูรณาการในจังหวัด ที่มีการฆ่าตัวตายสูง ในฐานะเจ้าของร่วมกัน และ 4. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย ขณะนี้กำลังทำงานกับเครือข่ายใหม่ๆ และเทคโนโลยีอีกหลายตัวเพื่อรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นกับท่าน

“ตอนนี้เรามีการเฝ้าระวังทั่วประเทศ แต่เฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 25 จังหวัด อาทิ ลำพูน กาฬสินธุ์ สงขลา นครสวรรค์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ ที่อิงข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน กรณีคนตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นงานยาก เพราะด้วยสถานการณ์โควิด ส่งให้มีปัญหาการฆ่าตัวตายมากขึ้น และกลุ่มนี้เมื่อมีปัญหาก็ไม่เข้าระบบสุขภาพ ไม่เหมือนกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยเดิม ดังนั้นจะต้องใช้การประสานงานร่วมกันของหลายฝ่าย ใช้ทีมสุขสุขภาพจิตเคลื่อนที่เร็ว (MCATT) เข้าไปค้นหาเชิงรุก และเชื่อมต่อเข้าระบบสุขภาพ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว และว่า วันนี้เราพบความตึงเครียดมากขึ้น เศร้า ความอ่อนล้าทางอารมณ์ หากเหนื่อย ท้อ ให้เช็คสุขภาพใจตัวเอง ที่ mental health check-in ทั้งนี้ ย้ำว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ และทุกคน จะช่วยให้คนรอบตัวที่เริ่มอ่อนล้า คิดทำร้ายตัวเอง ยังมีใครคอยประคอง ยังอยากเจอเขาในวันพรุ่งนี้ เรายังอยากเจอกัน อยากผ่านปัญหาไปด้วยกัน

ด้าน ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ตัวเลขการฆ่าตัวตายมากขึ้น แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทำงานอย่างหนัก แต่เรื่องนี้ไม่สามารถยกให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำเพียงคนเดียว แต่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะทะลายกำแพงในการแก้ปัญหา ความคิดเชิงลบต่อการฆ่าตัวตายว่ามีความอ่อนแอ มีปัญหาสุขภาพจิต มุมมองนี้ทำให้คนไม่กล้าเข้าหาความช่วยเหลือ ดังนั้นเพื่อให้ได้ผล ต้องลดมุมมองตรงนี้ เพราะจริงๆ แล้วเปอร์เซ็นต์ส่วนมากของคนฆ่าตัวตายก็ไม่ได้ป่วย ปัญหาการฆ่าตัวตายเหมือนคนเป็นไข้ ไม่ได้บอกว่าเป็นโรค แต่มีบางอย่างต้องได้รับการช่วยเหลือ สำหรับคนที่ตอนนี้มีปัญหาวิกฤติอย่าคิดว่าตัวเองผิดปกติ แต่เป็นช่วงที่ท่านกำลังต้องการความช่วยเหลือ

 

 **สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org