ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลจัดหาเครื่องฉายรังสีแก้ปัญหาผลกระทบโควิด19 ล่าสุดกระจาย 7 รพ.ทั่วประเทศ ช่วยผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการฉายรังสีสะดวกมากขึ้น พร้อมสนับสนุนโครงการมะเร็งรักษาได้ทุกที่ ลดปัญหาเดินทางไกลเข้ารับการรักษา

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีเปิดการใช้เครื่องฉายรังสีที่จัดซื้อผ่านงบเงินกู้เพื่อลดผลกระทบจากโรคโควิด 19 โดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เข้าร่วม

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลจัดหาเครื่องฉายรังสี LINAC 7 เครื่องจากงบเงินกู้โควิดวงเงิน 878.20 ล้านบาท ตามที่ สธ.เสนอโครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสีสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระจายทั่วประเทศให้แก่ รพ. 7 แห่ง ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก รพ.สมุทรสาคร รพ.ร้อยเอ็ด รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.สุรินทร์ และ รพ.มหาราชนครราชสีมา เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการฉายรังสีได้สะดวกมากขึ้นและสนับสนุนโครงการมะเร็งรักษาได้ทุกที่ (Cancer Any Where) ไม่ต้องเดินทางไกลมารักษา เนื่องจากการรักษามะเร็งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีข้อจำกัดเรื่องความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อในการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัด

"การจัดหาใช้เวลา 10 เดือน โดยจัดหามาสถาบันมะเร็งแห่งชาติ 1 เครื่อง เพื่อทดแทนเครื่องเก่าที่ใช้มาเป็นเวลานาน วันนี้จึงมาดูการใช้เครื่องหลังติดตั้งเรียบร้อยและเริ่มใช้ในผู้ป่วยได้เป็นแห่งแรก ลดระยะเวลาการฉายรังสีในผู้ป่วยแต่ละราย สามารถรักษาได้ 40-50 คนต่อวัน ช่วยเพิ่มศักยภาพการรักษาผู้ป่วยมะเร็งหรือ โรคอื่นที่ต้องใช้รังสีรักษาได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติยังมีระบบวางแผนรังสีรักษาทางไกลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา ทำให้ไม่มีข้อจำกัดของระยะทาง ถือเป็น New Normal การแพทย์วิถีใหม่ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการฉายรังสีได้อย่างรวดเร็ว การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น" นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูงชนิดแปรความเชิงปริมาตร (Linear Accelerator Volumetric Modulated Arc Therapy) หรือ LINAC เป็นเครื่องฉายรังสีที่มีแขนกลฉายรังสีได้หลายทิศทาง เคลื่อนที่ได้เกือบรอบตัวผู้ป่วย มีการเพิ่มระบบอุปกรณ์ในการกำบังรังสีและกำหนดรูปร่างเพื่อปรับความเข้มของลำรังสี ทำให้สร้างรูปร่างของลำรังสีในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างอิสระ และมีการเพิ่มระบบติดตามเป้าหมายที่มีการเคลื่อนที่ตามการหายใจ เช่น ก้อนในปอด ก้อนในตับได้อย่างแม่นยำ ให้ความเข้มของรังสีได้สูง รวดเร็ว มีการกระจายของรังสีไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย ถือเป็นการรักษาที่มีความซับซ้อนและมีความละเอียดสูง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การรักษามะเร็งมี 3 วิธี คือ ผ่าตัด ให้เคมีบำบัด และการฉายรังสี หลังจากที่กรมการแพทย์ได้ดำเนินโครงการมะเร็งรักษาได้ทุกที่ที่พร้อมตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ สะดวก ลดระยะเวลาการรอคอยการรักษา ทำให้ปีนี้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโดยเคมีบำบัดกับรังสีรักษาได้ดีขึ้น ส่วนการผ่าตัดอาจจะมีปัญหาบ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งบางรายต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป แพทย์ผู้รักษาอาจจะเลือกวิะีกรรักษาโดยรังสีเพิ่มขึ้น สำหรับเครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูงชนิดแปรความเชิงปริมาตร เป็นการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมได้รับงบประมาณจัดซื้อมา 7 เครื่อง กระจายให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 1 เครื่อง ต่างจังหวัด 6 เครื่อง เป็นเครื่องรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย มีประสิทธิภาพการฉายที่แม่นยำด้วยระบบ 3 มิติ ทำให้การหักเหของรังสีมีน้อย ไม่กระทบต่อเนื้อเยื่อดี ส่งผลข้างเคียงที่เกิดรอยรังสีที่ฉายลดลงหรือแทบจะไม่มี อีกทั้งฉายต่อวันได้จำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นและใช้ระยะเวลาที่สั้นลง ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนการรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติร่วมกับคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในผู้ป่วยมะเร็งทั่วไปทุกช่วงอายุที่อยู่ระหว่างการรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติจำนวน 60-80 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรทั่วไป 200 คน โดยศึกษาผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ผลวิจัยเบื้องต้นเมื่อตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดของผู้ป่วยมะเร็งพบว่าขึ้นไม่ค่อยดีเท่ากลุ่มประชากรทั่วไป ขณะนี้กำลังศึกษาถึงการให้วัคซีนเข็ม 3 จากนั้นคณะผู้วิจัยจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายว่าในผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องได้รับการฉีดเข็ม 3 หรืออาจจะต้องเพิ่มเข็ม 4

นพ.จินดา กล่าวอีกว่า ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งอย่างยิ่ง คาดผลวิจัยจะเสร็จสมบูรณ์อีก 2 เดือน การวิจัยครั้งนี้ไม่ได้ตรวจเฉพาะระดับภูมิที่ขึ้นหลังฉีด แต่ศึกษาวิจัยไปถึงการทำงานของเม็ดเลือดขาวทีเซลล์ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งจะมีปัญหาเรื่องเม็ดเลือดขาวทีเซลล์ เป็นการตรวจที่ซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากเน้นย้ำผู้ป่วยมะเร็งจะต้องดูแลตนเองให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษา เนื่องจากโดยธรรมชาติผู้ป่วยมะเร็งมีภูมิที่ต่ำอยู่แล้ว ยิ่งอยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัดหรือการฉายรังสีภูมิก็อาจลดลง ดังนั้นหากมีโอกาสได้รับวัคซีนต้องรีบฉีด คนที่ดูแลอยู่ที่บ้านก็ต้องเคร่งครัดในมาตรการป้องกันอย่างเข้มแข็งไม่นำโควิดมาให้่ผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญไม่เช่นนั้นจะทำให้คนไข้แย่ยิ่งขึ้น ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องเคร่งครัดในมาตรการดูแลป้องตนเองอย่างเข้มงวด

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org