ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมอนามัยเผยรายละเอียดมาตรการ Sandbox ในโรงเรียน คำนึงถึงสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ หากเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ครู บุคลากรต้องฉีดวัตคซีนมากกว่า 85% ประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์ ต้องตรวจ ATK เป็นระยะ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 ก.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวมาตรการ Sandbox ในโรงเรียน : sandbox safety zone in school ว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 11 ก.ย. มีกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นอายุ 6-18 ปีติดเชื้อสะสม 129,165 ราย โดยเป็นคนไทย 90% และต่างชาติ 10% เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว จังหวัดที่พบติดเชื้อสูงสุด คือ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ สาเหตุเกิดจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน อีกส่วนเกิดจากการค้นหาเชิงรุก ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ช่วง เม.ย.มี 2,426 ราย พ.ค.พบ 6,432 ราย มิ.ย.พบ 6,023 ราย ก.ค. 31,377 ราย และ ส.ค. จำนวนสูงถึง 69,628 คน แนวโน้มผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นเพิ่มขึ้น แม้ไม่มีการเปิดให้เรียน หรือมีการเรียนแบบผสมออนไซต์และออนไลน์ก็ยังพบการติดเชื้อ ส่วนหนึ่งมาจากการติดเชื้อในครอบครัว หรือเดินทางไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน

ขณะที่ข้อมูลการได้รับวัคซีนของครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 พบว่า ได้รับวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมกัน 897,423 ราย คิดเป็น 88.3% ยังไม่ได้รับวัคซีน 118,889 ราย คิดเป็น 11.7% ส่วนเด็กอายุ 12-18 ปีที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลถึงวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา รับไฟเซอร์เข็ม 1 จำนวน 74,932 คน และเข็มสอง 3,241 คน คาดว่าตัวเลขในปัจจุบันจะเพิ่มมากกว่านี้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมอนามัยนำร่องการเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ (Sandbox Safety Zone in School) ในพื้นที่โรงเรียนประจำ โดยคำนึง 3 ด้าน คือ 1.การบริหารจัดการ โดยสถานศึกษาต้องมีความพร้อมและสมัครใจ มีการหารือผู้ปกครองและชุมชนมีความเห็นพ้อง ได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เตรียมสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดแบ่งเป็นโซน คือ โซนคัดกรอง โซนกักกันผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยง และเซฟตี้โซน (สีเขียว) อยู่ภายในสุด ซึ่งนักเรียน ครู และบุคลากรที่มีความปลอดภัยสามารถมีกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวได้ใกล้เคียงปกติ และต้องมีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการร่วม สธ. และ ศธ. รวมถึงรายงานติดตามผลผ่านระบบ MOECOVID และ Thai Stop COVID Plus

2.นักเรียน ครู และบุคลากร ของสถานศึกษาที่เข้าร่วม โดยนักเรียนที่จะมาเรียนออนไซต์ต้องตรวจ ATK ก่อนเข้าโรงเรียน ทำกิจกรรมรูปแบบเป็นกลุ่ม Bubble and Seal แต่ละกลุ่มไม่มาสัมผัสกัน หากมีการเดินทางต้องเดินทางภายใต้การควบคุมกำกับ นักเรียน ครูและบุคลากรต้องประเมินความเสี่ยง ทั้งประวัติเสี่ยง อาการเสี่ยง และพฤติกรรมเสี่ยง เป็นระยะสม่ำเสมอ ด้วยแอปพลิเคชันไทยเซฟไทยหรือแอปฯ อื่นที่โรงเรียนดำเนินการได้ เน้นย้ำปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลเข้มข้น 6 มาตรการหลัก และ 6 มาตรการเสริม สำหรับครูและบุคลากรฉีดวัคซีนครอบคลุมไม่น้อยกว่า 85% สุ่มตรวจ ATK เป็นระยะอย่างเหมาะสม และ 3.สถานศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้งออนไซต์ ออนไลน์ หรือแบบผสม (ไฮบริด) แต่ต้องประเมินตนเองเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus หากพบผู้ติดเชื้อต้องปิดเรียน ให้ทำตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด และจัดระบบให้บริการอาหารนักเรียนตามหลักสุขาภิบาล

"ผลการดำเนินการโครงการเป็นไปอย่างดี โรงเรียนที่ดำเนินการแม้พบผู้ติดเชื้อ ก็มักเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยในส่วนของโรงเรียน แต่เกิดจากการไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อภายนอกโรงเรียนและตรวจจับได้ จึงเป็นที่มาถึงแนวทางที่ ศธ.และ สธ.หารือร่วมกันเพื่อจัดให้มี Sandbox Safety in School ในโรงเรียนไปกลับ" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า แนวปฏิบัติตามมาตรการ Sandbox Safety in School ในโรงเรียนไปกลับ คำนึงถึงสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ หากเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ครู บุคลากรต้องฉีดวัตคซีนมากกว่า 85% ประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์ ผ่านไทยเซฟไทยหรือแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเน้น 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา คือ 1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus รายงานติดตามประเมินผลผ่าน MOECOVID 2.การทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กย่อย Small Bubble ไม่ข้ามกลุ่ม 3.จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและโภชนาการ 4.จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและห้องเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน เช่น การระบายอากาศในอาคาร ทำความสะอสด คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ ซึ่งหลายกรณีที่ติดเชื้อในโรงเรียนเกิดจากการที่นักเรียนไปอยู่แออัดในห้องเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดโดยเฉพาะห้องปรับอากาศ

5.โรงเรียนเตรียม School isolation กรณีพบผู้ติดเชื้อ และจัดทำแผนเผชิญเหตุร่วมสาธารณสุขในพื้นที่ และซักซ้อมหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในโรงเรียนจะดำเนินการอย่างไร 6. เนื่องจากเป็นการไปกลับ โรงเรียนต้องร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง ต้องควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนให้มีความปลอดภัย (Seal Route) และ 7.จัด School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ประกอบด้วยข้อมูลผลประเมินความเสี่ยงบุคคล ที่อาจใช้ไทยเซฟไทยหรือแอปฯ อื่น มีตรวจ ATK ในระยะ 7 วัน หรือประวัติรับวัคซีน หรือประวัติตติดเชื้อในช่วง 1-3 เดือน ตามมาตรการ สธ. และศธ.กำหนดร่วมกัน ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกทม.

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า หากโรงเรียนอยู่พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จะเพิ่มการสุ่มเฝ้าระวังตรวจด้วย ATK 1 ครั้งภายใน 2 สัปดาห์ หากโรงเรียนอยู่พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จะเพิ่มประเมินความเสี่ยงบุคคลให้ถี่มากขึ้นเป็น 2 วันต่อสัปดาห์ หากพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) เพิ่มมาตรการอีก 3 ข้อ คือ สถานประกอบกิจการกิจกรรมรอบรั้วสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และ COVID Free Setting เนื่องจากมีร้านค้า รถเร่ ร้านค้าประจำโดยรอบ จัดทำ School Pass นักเรียน ครู และบุคลากร และจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องไม่ให้แออัด คือไม่เกิน 25 คนต่อห้องเรียนขนาดปกติ เพิ่มตรวจ ATK 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมินความเสี่ยงเป็น3 วันต่อสัปดาห์ นักเรียนเข้าถึงวัคซีนเพิ่มขึ้นตามมาตรการของ สธ. และกรณีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ทำทั้งหมดโดยเพิ่มการตรวจ ATK เป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ประเมินความเสี่ยงบุคคลทุกวัน

"สธ.ตระหนักถึงความจำเป็นของตัวนักเรียนที่จะต้องไปเรียนภายใต้ระบบปกติ เพราะมีผลต่อปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนด้วยกัน ต่อสังคม และมีหลายกิจกรรมที่ไม่สามารถให้เด็กเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสมบูรณ์ หากต้องเปิดเรียนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน มีการเตรียมความพร้อมตามสิ่งที่กำหนด สำคัญคือความร่วมมือระหว่าง โรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่และจังหวัด จะทำให้การเปิดเรียนมีความปลอดภัยต่อวัยเรียนวัยรุ่น ครอบครัว เพราะออกจากบ้านมาเรียนแล้วไม่เอาเชื้อกลับไปแพร่ที่บ้าน" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ถามถึงกรณีโรงเรียนประจำในต่างจังหวัดติดเชื้อ ทำให้กังวลเรื่องการเปิดเรียน นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา เราพบการแพร่ระบาดของโควิดในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่กำหนด เช่น โรงเรียนประจำมีบุคลากรภายนอกเข้าๆ ออกๆ หรือบุคลากรทางการศึกษาที่เดินทางไปกลับแต่ไม่คัดกรองความเสี่ยง อาจจะละเลย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำความเสีย่งกลับมายังโรงเรียนประจำ มาตรการจึงให้ความสำคัญเข้มข้นในการจัดการของตัวนักเรียน ครู บุคลากรว่าต้องคัดกรองความเสี่ยง รับวัคซีน สุ่มตรวจ ATK การจัดการสิ่งแวดล้อม เพราะคนจะติดกันคือพื้นที่แออัดระยะเวลานาน กิจกรรมที่สัมผัสหรือข้ามกลุ้ม อีกเรื่องคือเส้นทางไปกลับ ทั้งรถสาธารณะ รถส่วนตัวต้องเป็นซีลรูท สถานประกอบกิจการกิจกรรมรอบโรงเรียนต้องทำตามมาตรการโควิดฟรีเซตติ้งด้วย

"แม้กำหนดมาตรการอย่างครบถ้วน ไม่มีทางที่จะเลี่ยงโอกาสพบผู้ติดเชื้อได้ จึงกำหนดให้ทำแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม พร้อมเตรียมพื้นที่ School Isolation ไว้รับรองด้วย เป้นไปไม่ได้ให้เรียนออนไลน์ตลอดไป แต่ไม่ได้แปลว่าเปิดเรียนโดยไม่มีมาตรการ หลายมาตรการกำหนดเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ชุมชน และครอบครัวโดยร่วม ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการเคร่งครัดปฏิบัติตาม" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

เมื่อถามว่าการตรวจ ATK จะได้รับการสนับสนุนอย่างไร นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า การให้ตรวจ ATK จะมีความถี่ห่างตามสถานการณ์การระบาด พื้นที่ไม่มีการระบาดหรือระบาดน้อยให้เว้นห่างตรวจตามเหมาะสม พื้นที่ระบาดมากอยู่ก็ตรวจถี่มากขึ้น การสนับสนุนมี 2 ส่วน คือ 1.สปสช.มีการจัดชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด กระจายลงไปยังจังหวัดผ่านระบบสถานพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งจะเป้นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขร่วมกับโรงเรียนในการวางแผนเตรียมความพร้อมหากมีการเปิดเรียน ครู บุคลากร นักเรียน ถือเป้นประชาชน ถ้าประเมินมีความเสี่ยงก็รับชุดตรวจตามระบบของ สปสช.ได้ และ 2.เมื่อดำเนินการระยะหนึ่ง ตัวชุดทดสอบจะมีจำนวนมากขึ้น ราคาลดลง การจัดหาขึ้นกับพื้นที่ เช่น ท้องถิ่น คณะกรรมการโรงเรียน หรือกองทุนสุขภาพระดับพื้นที่สามารถนำเงินมาสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียน ขึ้นกับกระบวนการหารือร่วมกันของโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและจังหวัด

"แม้ผู้ติดเชื้อต่อวันจะมีสัญญาณแนวโน้มเชิงที่ลดลง แต่ลดลงอย่างช้าๆ เรายังพบการระบาดเป็นจุดๆ ในที่มีการรวมกลุ่มคน สถาการณ์จากนี้เริ่มมีการผ่อนคลายหลายมาตรการ เชื่อว่าจะมีผู้ติดเชื้อเนื่องมาจากการสัมผัสใกล้ชิดกันเพิ่มมากขึ้น แต่รัฐบาลกำหนดแนวทางอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด หากจำเป้นต้องกลับไปสู่การมีกิจกรรมที่ป้นปกติ เปิดสถานประกอบการ ขอให้ระลึกว่าเราต้องปฏิบัติแบบ New Normal โดยเฉพาะการป้องกันตัวเองสูงสุดตลอดเวลา แม้จะมีการระบาดเราจะอยู่ร่วมกับโควิดโดยสมดุล ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ" นพ.สุวรรณชัยกล่าว