ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคแจงรายละเอียดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก มีข้อกังวลกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แม้รักษาได้ แต่เพื่อเป็นทางเลือกมีวัคซีนชนิดเชื้อตาย “ซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม” รอปรับทะเบียนอายุการฉีดในเด็กเพิ่มเติม เบื้องต้นผู้ปกครองหากต้องการให้บุตรหลานฉีดวัคซีนเชื้อตาย ต้องรอ! เบื้องต้นวัคซีนซิโนแวคใช้ในเด็กเป็นล็อตเดิม 12 ล้านโดส

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด19 ในเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี ที่จะเน้นกลุ่มเปิดเรียนในเดือน พ.ย. ว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายจากการประมาณการณ์ 4.5 ล้านคน แต่ขณะนี้ก็ยังมีการสำรวจอยู่ โดยการฉีดคาดว่า จะเริ่มวันที่ 4 ต.ค. 2564 ในโรงเรียนในสังกัดภาครัฐและเอกชนหลักๆ เป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถาบันการศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนประเภทอื่นที่มีคนที่อยู่ในวัยนี้ 12-17 ปี

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการประสานผ่านไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีโรงเรียนในสังกัด โดยใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ ซึ่งจะทราบข้อมูลดีอยู่แล้ว ทำไม่ได้ให้โรงเรียนประสานไปยังผู้ปกครองเพื่อให้ทราบแผนงานการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน โดยต้องมีการให้ข้อมูลข้อดี ข้อเสียของวัคซีน ก่อนกรอกข้อมูลว่ายินยอมหรือไม่ยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีน แล้วส่งกลับมายังโรงเรียน ทั้งนี้เมื่อฉีดแล้วจะมีการลงข้อมูลในฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข มีการติดตามการฉีดและการเฝ้าระวังอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วัน โดยระยะแรก เป็นวัคซีน mRNAของไฟเซอร์ ส่วนระยะถัดไปอาจจะมีวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม หากผู้ปกครองยังไม่อยากให้เด็กฉีดวัคซีน mRNA ก็สามารถรอวัคซีนเชื้อตายได้

"วัคซีน mRNA ทำให้มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งข้อมูลในต่างประเทศที่ฉีดในเด็ก พบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว 16 ราย ต่อการฉีด 1 ล้านโดส ส่วนของประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์มาตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. มีเด็กส่วนหนึ่งที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ตอนนี้ก็ยังมีการเฝ้าระวังอยู่ แต่ว่ามีการตรวจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย ตอนนี้รักษาหายแล้ว ย้ำว่าภาวะนี้สามารถรักษาหายได้ โดยเด็กอาจจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เป็นต้น ดังนั้นเรื่องนี้ก็ต้องให้ข้อมูลกับผู้ปกครองได้รับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจจะให้เด็กฉีดวัคซีนหรือไม่ด้วย" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวัคซีนชนิดเชื้อตาย อย่างซิโนฟาร์ม จะนำมาฉีดในเด็ก คือ เป็นล็อต 12 ล้านโดส ใช่หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ใช่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้นำมาใช้ โดยต้องรอการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมของวัคซีนกลุ่มนี้ว่า สามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องทบทวนข้อมูลนี้ก่อน โดยเบื้องต้นจะไม่มีการใช้สูตรไขว้ในเด็ก แต่จะเป็นซิโนแวค 2 เข็ม และจะใช้ในล็อตเดิม 12 ล้านโดส น่าจะเพียงพอ จากการพิจารณาในกลุ่มเป้าหมาย 4.5 ล้านโดส หากฉีดไฟเซอร์ไปแล้วก็จะเหลือประมาณหนึ่ง เช่น อาจเหลือ 1-2 ล้านคน ซึ่งก็จะใช้ได้ และจะลดข้อกังวลปัญหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่เหมือนวัคซีนชนิด mRNA แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องรอทาง อย.พิจารณาปรับทะเบียนเพิ่มเติมของวัคซีนชนิดเชื้อตายก่อน จึงจะสามารถใช้ได้

เมื่อถามว่าหากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย เพื่อลดข้อกังวลภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่อาจเกิดขึ้นวัคซีนชนิด mRNA ก็ต้องรอใช่หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ใช่ เพราะต้องรอ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกผลการศึกษาในเด็ก ที่ทางอย.กำลังทบทวนอยู่ ส่วนกรณีวัคซีนซิโนฟาร์ม จะมีส่วนหนึ่งที่มีการรับเด็กนักเรียนแต่เท่าที่ทราบเป็นการศึกษาวิจัย ก็ต้องติดตามข้อมูล

“โดยสรุป ขณะนี้ในส่วนของภาครัฐจัดบริการวัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปีขึ้นไป คือ วัคซีนไฟเซอร์ โดยการดำเนินการจะมีเวลา 1 เดือนก่อนโรงเรียนจะเปิด ซึ่งจะให้บริการพร้อมกันทุกระดับชั้น ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์จะมาถึงประมาณปลายเดือนก.ย. หรือประมาณ 29 ก.ย.2564 ดังนั้น จะใช้เวลาตรวจคุณภาพความปลอดภัย 3-4 วัน และจะส่งไปยังพื้นที่ เพื่อให้บริการในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ถึง 9 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งหากเร่งฉีดเข็ม 1 ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เราจะได้ฉีดเข็มที่2 ได้ทันก่อนเปิดเรียน หรืออาจเปิดไปนิดหนึ่งก็ยังพอไหว” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม การจัดบริการวัคซีนในเด็ก จะเป็นไปตามความสมัครใจ

เมื่อถามว่าการเปิดเรียนมีเงื่อนไขว่า ต้องมีการฉีดวัคซีนในเด็กทุกคนหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า การเปิดเรียนไม่ได้มีเงื่อนไขว่า ต้องฉีดวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนช่วยให้เกิดความปลอดภัย หากต่ำกว่า 12 ปีไม่ได้รับวัคซีนก็เปิดเรียนได้ หากทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาว่าปลอดภัย ดังนั้น เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนก็สามารถไปโรงเรียนได้ เพราะยังต้องมี่มาตรการอื่นๆร่วมด้วย