ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"อนุทิน" ย้ำวัคซีนรัฐบาลจัดหาฉีดฟรีทุกคนทุกขั้นตอน ขออย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพ เจอแจ้งเจ้าหน้าที่จัดการ พร้อมเชิญ 4 ค่ายมือถือถกสแกนคนร่วมให้บริการ ดังนั้นขอให้กรณีนี้เป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนความจำให้ประชาชนทุกคนว่า มาฉีดวัคซีนของรัฐ ต้องไม่ยอมถูกเรียกเก็บเงินใดๆทั้งสิ้น ด้านผู้ต้องหาหญิง เผยแผนประกอบคำรับสารภาพ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 27 ก.ย. 2564 ที่สถานีกลางบางซื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาทุจริตเป็นนายหน้าเก็บเงินผู้มารับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการตำรวจรถไฟทำการจับกุมผู้กระทำผิดเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ที่มาฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งในความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขอขอบคุณพญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ที่สังเกตเห็นความผิดปกติจำนวนยอดผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. จึงแจ้งกองบังคับการตำรวจรถไฟก็ระวังสังเกตการณ์จนมั่นใจว่าผู้ต้องหามีการกระทำการทุจริตแน่นอน จึงมีการเข้าจับกุมพบผู้ต้องหาหลายราย วันนี้ (27 ก.ย.) นำตัวผู้ต้องหา 2 คน เป็นสามี - ภรรยา มาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ให้มีความแน่ใจ โดยผู้ต้องหาให้การสารภาพแล้ว จากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการสอบสวนในเชิงรายละเอียดต่อไป

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า รัฐบาลขอให้คำยืนยันว่าการให้บริการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ถือเป็นภาระและหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลประชาชนคนไทยทุกคนตลอดจนบุคคลสัญชาติอื่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทย จริงๆ แล้วเราพูดหลายครั้ง ทำความเข้าใจหลายครั้ง ประชาสัมพันธ์ตลอดมาว่าเรื่องวัคซีนรัฐบาลจัดหาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายใดๆก็ตาม ทั้งตัววัคซีน การฉีด อุปกรณ์การฉีดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการดูแลหากมีอาการข้างเคียง การเฝ้าระวังสังเกตอาการทุกอย่างเป็นภาระเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น

"ดังนั้นขอให้กรณีนี้เป็นบทเรียน และเป็นเครื่องเตือนความจำให้ประชาชนทุกคนว่าประชาชนเข้ามารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าที่ใดก็ตามที่เป็นสถานบริการของภาครัฐ ต้องไม่ยอมรับการเรียกรับใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นใด หากพบกันเรียกร้องผลประโยชน์ เรียกร้องค่าใช้จ่ายขอให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์การฉีดวัคซีนทุกแห่งของรัฐได้เลย เธอไม่ตกเป็นเหยื่อในยามสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 นี้ พรุ่งนี้จะมีการดำเนินคดี อย่างถึงที่สุดไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ตนได้กำชับอธิบดีกรมการแพทย์และแพทย์หญิงมิ่งขวัญว่าจะต้องมีการเชิญผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้ง 4 แห่งเข้ามาหารือร่วมกันซึ่งจากการเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ถือเป็นจิตอาสาซึ่งเป็นเรื่องดีๆ แต่อาจจะต้องขอให้มีการตรวจสอบประวัติเจ้าหน้าที่ที่จะส่งเข้ามาช่วยเหลือด้วยเพราะเท่าที่ทราบผู้ต้องหา 2 รายนี้ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท Operator แต่เป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง จึงอาจจะหลุดบ้าง เริ่มจากการช่วยเหลือญาติพี่น้องแล้วเห็นช่องทางมีผลประโยชน์เล็กน้อยแล้วเริ่มขยายการกระทำไปเรื่อยๆ จนเป็นประโยชน์ 4 ล้านบาทที่เขาได้มานั้นถือเป็นเงินจำนวนมากเพราะเป็นการเรียกรับผลประโยชน์จากการขายคิว โดยใช้ความรู้ทางด้านไอทีมาทำที่อ้างว่าไม่ได้มาตัดสิทธิ์ประชาชนคนอื่นมันฟังไม่ขึ้น เพราะคนที่เข้ามาช่วยในการลงทะเบียนให้กับประชาชนนั้นจะต้องไม่มีญาติไม่มีเพื่อนไม่มีฝูง ใครมีสิทธิ์ ต้องได้คิวก่อน อันนี้จะมีการหารือเพื่อหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนต่อไป

พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ กล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้งหมด 7 คน คือ 1.น.ส.ภคมน หอมภักดิ์ 2. นายวิชญพงศ์ ธีรอังคณานนท์ 3. นางสุรีนาฎ ปัทมวิชัยพร 4.นายจุมพล ศรียาภัย 5.นางสาวบัณฑิตา รุ่งสว่าง 6. นางสาวกรรติมา ยางทอง และ 7 นายหทัยชนก บริรักษ์ โดยมีการตั้ง 2 ข้อหาคือฉ้อโกง และร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ต้องหา 7 รายนี้ พบว่า 2 ราย เป็นคนคีย์ข้อมูลที่ศูนย์ฉีด ส่วนอีก 5 คน เป็นคนจัดหาประชาชนมาฉีด

ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนังและผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ ตรวจพบความผิดปกติหลัก 2 ประการ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2564 คือ 1.พบมีการนัดล่วงหน้าจำนวนสูงผิดปกติ มากกว่าจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เป็นผู้นำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลด้วยตนเอง โดยตัวเลขผิดปกติในหลักร้อยและหลักพัน ในช่วงวันที่ 18-27 ก.ค. และพบจำนวนนัดผิดปกติสูงสุดในวันที่ 28 ก.ค. มากถึง 2,827 คน ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเปิดบริการแบบ walk-in 2.พบความผิดปกติของช่วงเวลาในการ upload ข้อมูลการนัดล่วงหน้าเข้าสู่ระบบ โดยพบช่วงเดือน ก.ค. ทางศูนย์ฯ ได้งดรับการนัดล่วงหน้าจากองค์กรภายนอกเกือบทั้งหมด เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ จึง upload ข้อมูลเข้าระบบเสร็จภายในเวลา 18.00 น. ของแต่ละวัน แต่หลัง 22.00 น.ของทุกวัน กลับมีข้อมูลupload เข้าสู่ระบบส่งข้อมูลนัดหมายล่วงหน้าอีกจำนวนมาก ประกอบกับทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการซื้อขายเพื่อรับคิวการฉีดวัคซีนจากประชาชน นำสู่การตรวจสอบพบทุจริตจากการใช้ Users 19 login ในกลุ่มจิตอาสาของ 1 ในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Operator) ที่มาช่วยคีย์ข้อมูล และแจ้งความดำเนินคดี จนนำสู่การจับกุมตัวกาสำคัญได้ในวันนี้ ซึ่งจากข้อมูลพบประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการนี้ช่วงเดือน ก.ค.2564 ประมาณ 7,000-10,000 คน มูลค่าความเสียอยู่ที่ราว 7 ล้านบาท

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการปิดข้อมูลบุคคลอื่นไม่ให้ใครคีย์ข้อมูลแล้ว ผู้ที่จะทำการเพิ่มข้อมูลหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลได้จะมีเพียงเจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนังเท่านั้น

ด้าน ผู้ต้องหาหญิง กล่าวระหว่างทำแผนประกอบคำรับสารภาพว่า เดิมที่ใส่ชื่อคนอื่นเพิ่มในระบบแล้วเพราะต้องการช่วยเหลือคนรู้จักและเพื่อนเพื่อนเพราะช่วงนั้นวัคซีนเข้ามาในประเทศไม่มากก็อยากให้เพื่อนได้รับวัคซีนเร็ว แรกแรกก็ไม่ได้รับเงินแต่เนื่องจากมีเพื่อนบอกต่อๆกันไปก็จึงมีคนมาให้ช่วยทำและเสนอว่าจะให้เงิน ตนก็รับรายละ 200 บาท ที่ข่าวว่ารายรับรายละ 1000 เป็นการบอกต่อต่อกันและบวกเพิ่มกันเอง รายได้ที่ได้ยอมรับว่าได้มาประมาณสามถึง 4,000,000 ไม่ใช่เป็น 1,000,000,000 ถ้าได้เป็น 1,000,000,000 ก็คงหนีออกนอกประเทศไปแล้วส่วนเงินที่ได้มานั้นนำไปใช้หนี้เพราะ เงินที่ได้รับจากการทำงานที่ศูนย์วัคซีนบางซื่อวันละ 500 บาทไม่พอ และสิ่งที่ทำก็ไม่ได้เป็นการแย่งคิวหรือแย่งสิทธิ์ใครเพียงแต่นำชื่อเข้าระบบและทราบมาว่าศูนย์วัคซีนบางซื่อเป็นศูนย์ที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดในประเทศไทย