ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยอดเสียชีวิต จากรถมอร์เตอร์ไซค์แซงหน้าโควิด ขึ้นแชมป์อันดับ 1 ของโลก เครือข่ายจักรยานยนต์ปลอดภัยจี้นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหา หลังยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อ 9  เดือนไม่คืบหน้า ท้าทุกพรรคการเมือง ถ้ามีนโยบายเพื่อความปลอดภัยของมอร์เตอร์ไซค์ พร้อมระดมเทคะแนนให้ท่วมท้นทันที

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ และผู้รับผิดชอบโครงการ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนก.พ.2564 ให้เร่งรัดติดตามการขับเคลื่อนงานเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก รายงาน Global Status Report on Road Safety 2018 ขององค์การอนามัยโลก ยืนยันว่ามีคนตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย 22,491คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและหนุ่มสาวอายุ 15-29 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ ประเทศไทยครองแชมป์ การตายจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว

พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคันต่อปี ปัจจุบันั้งประเทศมีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนถูกต้อง 21 ล้านคัน แต่มีคนที่มีใบขับขี่ รถจักรยานยนต์เพียง 10 ล้านคน หมายความว่าบนท้องถนนทุกวันนี้ มีทั้งรถมอร์เตอร์ไซค์เถื่อน และ คนขับเถื่อนมากกว่า 11 ล้านคน ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่ใช้รถใช้ถนน คนเดินถนน ยิ่งไปกว่านั้น มอร์เตอร์ไซค์รุ่นครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นพิมพ์นิยมสำหรับวัยรุ่น มีการใช้มากที่สุดและก่อให้เกิดอันตรายสูงสุด ทั้งจากสเปครถและการนำรถมาปรับแต่งเพื่อแข่ง แว้น ซิ่ง บนท้องถนนได้ง่าย ด้วยคุณสมบัติเสี่ยงตาย คือ ล้อกว้างแต่ยางแคบ

“ถ้าวันนี้ รัฐบาลนับตัวเลขคนตายจากโควิด 19 อยากบอกว่า พวกเรานับคนเจ็บ เก็บคนตายจากมอร์เตอร์ไซค์มา 18 ปีแล้ว ยอดการตายแซงนำโควิดไปมากแล้ว  แต่กลับยังไม่มีรัฐบาลไหนให้ความสำคัญที่จะดำเนินการรใดๆในเรื่องนี้เลย ถึงวันนี้อยากจะบอกว่า ถ้าพรรคการเมืองไหนมีนโยบายเรื่องมอร์เตอร์ไซค์ เครือข่ายของเราทุกเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นทีมช่างเชี่ยวจักรยานยนต์  ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุมอร์เตอร์ไซค์ทุกกลุ่ม รวมทั้ง สภาองค์กรผู้บริโภคพร้อมจะเทคะแนนให้พรรคการเมืองนั้นทันที” อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ กล่าว

ผู้รับผิดชอบโครงการ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ยังบอกอีกว่า ที่ออกมาพูดครั้งนี้ เพื่อเร่งรัดติดตามข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีที่ได้ยื่นไปประมาณ 9 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงหลักที่รับผิดชอบด้านการคมนาคมและขนส่ง ก็มิได้ดำเนินงานด้านความปลอดภัยจักรยานยนต์ ตามภารกิจหลักและนโยบายของนายกรัฐมนตรีเรื่องเด็กแว้น  จนล่าสุดมีการตายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ส่งผลเสียต่อประเทศ ประชาชน และงบประมาณราชการในการรักษาพยาบาล

พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้ร่างกฎกระทรวงคมนาคมตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563  เรื่องการขอ การออก และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ กำหนดให้ผู้ประสงค์จะขับรถจักรยานยนต์ ที่มีกำลังสูงหรือบิ๊กไบค์ตั้งแต่ 400 ซีซี ขึ้นไป ต้องผ่านการอบรมและทดสอบการขับรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเพิ่มเติม กฎกระทรวงฯ ใหม่นี้ครอบคลุมน้อยรถจักรยานยนต์ประมาณ 1 %ของประเทศ  แต่ไม่ครอบคลุมรถเร็วแรง 250-399  ซีซี ซึ่งเป็นรถที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตเด็กอายุ 15-20 ปี มากกว่ารถ 400 ซีซี ในแต่ละปี 

รวมทั้งไม่ได้จำกัดอายุผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ที่ 21 ปีขึ้นไป ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้แนะนำไว้เพื่อวุฒิภาวะในการขับขี่และการตัดสินใจ ทางโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัยและภาคีเครือข่ายมีความกังวลอย่างมากในความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ ใหม่นี้ และการตรวจสอบควบคุมกำกับการอบรมผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ ที่อาจเพิ่มอันตรายทั้งต่อผู้ขับขี่บิ๊กไบค์เองและผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ ส่งผลต่อการบาดเจ็บ พิการ และตายจากอุบัติเหตุทางถนนที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายต่อนายกรัฐมนตรี พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า มีด้วยกัน 6 ข้อ คือ 1. แก้ไขราชบัญญัติรถยนต์และกฎกระทรวงฯ ให้เกิดมาตรฐานและระบบความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถจักรยานยนต์ อย่างบูรณาการ และ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2555และ 2561 ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม 2. กำหนดให้หมวกนิรภัยเป็นส่วนควบมาตรฐานความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์

3. กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของมาตรฐานสเปกรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นครอบครัว มิให้ปรับแต่งมาแข่งบนถนนได้ง่าย โดยเพิ่มขนาดหน้ายาง ลดความกว้างวงล้อ และ ลดความเร็วสูงสุดบนหน้าปัดของรถ 4. กำหนดให้บิ๊กไบค์เป็นรถ ตั้งแต่ 246 ซีซี ขึ้นไป ซึ่งจะช่วยถนอมชีวิตผู้ใช้รถจักรยานยนต์แรงเร็วได้เพิ่มเกือบ2 เท่า 

5. ปรับปรุงการจำแนกประเภทรถ ให้มี 2 ล้อเครื่องขนาดเบา (L category) รถ L1 ความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามเกณฑ์สากล (UNECE - WP.29) ให้ผู้ไม่ต้องการรถแรงเร็วมีทางเลือก และ 6.ปรับปรุงแก้ไขระบบใบอนุญาตขับขี่ ให้เป็นระบบขั้นตอนตามอายุและประสบการณ์ (Graduated Driver Licensing - GDL) ซึ่งก็หวังว่า เสียงของประชาชนครั้งนี้จะดังมากพอที่จะส่งถึงนายกรัฐมนตรให้ได้ยินและลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org