ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรณีที่เคยมีการเผยแพร่ข้อมูลอ้างว่า เป็นสูตรตำราโบราณ กล่าวถึงสมุนไพร 5 ชนิดได้แก่ ใบมะยม ใบมะรุม อบเชย รากเตย หญ้าหวาน เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณฟื้นฟูตับอ่อนทำให้รักษาโรคเบาหวานหายขาดได้ ทางศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพรฯ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบ และรวบรวมข้อมูลจากรายงานการวิจัยต่าง ๆ และให้ข้อสรุปว่า ข้อมูลดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นเท็จ และบิดเบือนข้อเท็จจริงอยู่มาก ดังนั้นจึงไม่ควรแชร์ต่อ ซึ่งมีข้อมูลสรุปดังนี้

สมุนไพรทั้ง 5 ชนิดที่มีการกล่าวอ้างมานี้ พบว่ามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง แต่ยังมีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับกลไกการฟื้นฟูการทำงานของตับอ่อนไม่เพียงพอ ควรรอข้อมูลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมมากกว่านี้ ประเด็นเรื่อง สำหรับการดูแลตนเองหรือผู้ป่วยเบาหวานนั้น ควรจะพิจารณารับประทานสมุนไพรจากการปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ แพทย์แผนไทย และเภสัชกร เพราะว่าสมุนไพรบางชนิดสามารถเสริมฤทธิ์กับยาแผนปัจจุบันได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ฉะนั้น จึงไม่ควรใช้สมุนไพรรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ เองโดยพละการ และไม่ควรหลงเชื่อข้อมูลที่เผยแพร่โดยไม่ใช้จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง เนื่องจากมีข้อมูลบิดเบือนจนทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาในภายหลังได้ 

สำหรับประเด็นที่กล่าวว่า ใบมะยม ใบมะรุม อบเชย รากเตย และหญ้าหวานช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยฟื้นฟูตับอ่อน เมื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการใช้ทางการแพทย์แผนไทยหรือศาสตร์การแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ ร่วมกับงานวิจัยที่มีเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ วิเคราะห์สรุปได้ดังนี้ 

ใบมะยม ในทางการแพทย์แผนไทยจะใช้ใบมะยมสดร่วมกับรากเตยพอประมาณนำมาน้ำต้มเป็นน้ำดื่ม ข้อมูลในงานวิจัยระบุว่า สารที่สกัดจากใบมะยมชนิดน้ำ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มระดับการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีนัยสำคัญ 

ใบมะรุม ในทางการแพทย์อายุรเวทใช้ผงใบแห้ง 2-3 ก. ชงกับน้ำในปริมาณ 50 - 100 มล. ต้มดื่ม พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาในเลือดได้ ซึ่งมันจะไปรบกวนระดับฮอร์โมนอินซูลินที่อยู่ในเลือด ข้อมูลในงานวิจัยระบุว่า จากการทดลองในหนูทดลองที่เป็นเบาหวานและมีสุขภาพปกติพบว่า ผงใบแห้ง มีสารสกัด 95% เอทานอล ทำให้มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดอบเชย ในศาสตร์ทางการแพทย์พบว่า ไม่มีข้อบ่งใช้ในการรักษา บรรเทาหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมอาการโรคของผู้ป่วยเบาหวาน

ด้านข้อมูลงานวิจัยเองก็ไม่มีการสนับสนุนให้ใช้อบเชยร่วมกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เพราะอบเชยจะไปเสริมฤทธิ์การทำงานของยาซึ่งจะมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยมีค่าต่ำเกินไปจนเป็นอันตรายได้

รากเตย ในทางการแพทย์แผนไทยใช้ใบมะยมสดร่วมกับรากเตยพอประมาณนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ข้อมูลงานวิจัยระบุว่า จากการทดลองกับหนูทดลองที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานพบว่า สาร 4-hydroxybenzoic acid ที่ได้จากการสกัดจากรากเตยสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ

หญ้าหวาน ในทางการแพทย์พื้นบ้านของต่างประเทศในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ เช่น ประแทศปารากวัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้ใบเป็นหลัก แต่ไม่ระบุขนาดแน่นอนในการใช้ จากข้อมูลของงานวิจัยในระดับคลินิกพบว่า การบริโภคหญ้าหวาน 1 ก. ทุกวัน (มีสาร stevioside อยู่ 91%) สามารถลดระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารได้ แต่การบริโภคหญ้าหวานขนาด 250 มก. วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3 เดือน ไม่ได้ทำให้ค่า HbA1c เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจากข้อมูลของสมุนไพรทุกตัวที่กล่าวอ้างมาในข้างต้น จะมีการใช้ลดระดับน้้าตาลในเลือดได้จริงอยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรเข้ารับการรักษาจากการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวจากเบาหวาน โดยการควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งในการควบคุมระดับน้ำตาลจะมีค่าที่เหมาะในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับอายุ และระยะเวลาที่ป่วยเป็นเบาหวาน รวมไปถึงการมีโรคแทรกซ้อน โรคร่วม และเคยมีประวัติการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ หากสนใจรับประทานสมุนไพรเสริมควรปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพ แพทย์ แพทย์แผนไทย เภสัชกร ก่อนใช้ทุกครั้ง 

สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคเบาหวาน คือ เป็นโรคที่เซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลภายในเลือดให้เป็นพลังงาน ซึ่งกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับ “อินซูลิน” ฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้นเพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกร่างกายนำไปใช้ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าระดับปกติ และโรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุของการเกิดโรค ดังนี้ 

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบบ่อยในเด็ก 

2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดถึง 95 % ของจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนร่วมด้วย 

3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักเกิดสตรีมีอายุครรภ์ในช่วงระยะเดือนที่ 4 – 6 (ไตรมาส 2) และช่วงระยะเดือนที่ 7 - 9 (ไตรมาส 3 ) 

4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น 

ในส่วนของการวินิจฉัยเบาหวานมี 4 วิธี ดังต่อไปนี้ 

1. มีอาการโรคเบาหวานชัดเจน ได้แก่ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดทีมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. 

2. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. 

3. การตรวจความทนต่อกลูโคส โดยให้รับประทานกลูโคส 75 ก. แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดภายในระยะ 2 ชั่วโมงแรก ถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. 
4. การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C) มีค่าเป็นมากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% โดยวิธีการตรวจและห้องปฏิบัติการต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับในประเทศไทยนั้นมีน้อยจึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ 
เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากแนวทางเวชปฏิบัติของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560 กล่าวว่าการวินิจฉัยโรคเบาหวาน วิธีการตามข้อที่ 2-4 นั้นจะต้องมีการตรวจยืนยันซ้ำอีก 1 ครั้ง โดยใช้ตัวอย่างเลือดอันใหม่ มาทดสอบด้วยวิธีเดียวกันหรือต่างกันในวันถัดไป อย่างไรก็ตามแนวทางเวชปฏิบัติของสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2562 ได้มีการเปลี่ยนแปลงว่า สามารถตรวจยืนยันอีกครั้งโดยใช้ตัวอย่างเลือดอันเดิมหรืออันใหม่ก็ได้

 

 

 

อ้างอิง ศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพรฯ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข