ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากย้อนอดีตไปเมื่อ 17-18 ปีก่อน เวลาพูดถึงบัตรทองขึ้นมามักจะมีคำพูดล้อเลียน เช่น “30 บาทตายทุกโรค” “ไปทีไรก็ได้แต่ยาพารา” ฯลฯ คำพูดเหล่านี้อาจจะเกินจริงไปบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคเริ่มต้นนั้น สิทธิบัตรทองยังไม่ได้ครอบคลุมการรักษาในหลายๆ โรคเหมือนปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมาบัตรทองได้ปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ จนไม่ได้น้อยหน้าสิทธิข้าราชการและประกันสังคมแล้ว หัวใจสำคัญที่ทำให้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้คือกระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์หรือ Universal Coverage Benefit Package (UCBP) ซึ่งในทุกปีจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ว่าอยากให้ปรับปรุงหรือเพิ่มสิทธิในเรื่องใดบ้าง จากนั้นก็จะคัดเลือกหัวข้อสำคัญๆเพื่อนำไปศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แล้วเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอนุมัติเป็นสิทธิประโยชน์ต่อไป

สำหรับช่องทางการรับฟังข้อเสนอแนะนั้น จริงๆแล้ว สปสช.ออกแบบไว้หลากหลายมาก ตั้งแต่จัดประชาพิจารณ์จากกลุ่มต่างๆโดยตรง การส่งเป็นเอกสารมายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทางไลน์ ทางสายด่วน 1330 และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมาก็ยังเปิดเว็บไซต์ https://ucbp.nhso.go.th/ สำหรับให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเสนอความคิดเห็นสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถติดตามสถานะข้อเสนอต่างๆว่าอยู่ในขั้นตอนไหนแล้วอีกด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปอาจคิดว่าการเสนอหัวข้อเพื่อปรับปรุงพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เป็นเรื่องของคนใหญ่คนโต ยุ่งยาก และฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้วประชาชนทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นได้หมด เพียงแต่ต้องทำการบ้านสักนิดในการรวบรวมข้อมูลมาสนับสนุนข้อเสนอของตัวเองด้วย

ทพญ.วรมน อัครสุต หนึ่งในผู้เสนอหัวข้อพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทอง กล่าวถึงประสบการณ์การเสนอหัวข้อว่า ในงานทางด้านทันตกรรม บริการบางอย่างมีราคาแพง ก่อนหน้านี้ตนเคยทำงานในโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด เมื่อเห็นประชาชนมารับบริการทันตกรรมโดยใช้สิทธิบัตรทองก็รู้สึกดี อย่างไรก็ตาม ก็ยังรู้สึกว่ามีบางรายการที่น่าจะเพิ่มเข้าไปในสิทธิประโยชน์ด้วยเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทันตกรรมที่ครอบคลุมมายิ่งขึ้น

จนกระทั่งต่อมาได้ย้ายเข้ามาทำงานที่สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จึงเริ่มศึกษาว่ามีช่องทางไหนที่สามารถเสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้ จึงได้เสนอหัวข้อต่างๆมาหลายหัวข้อ เช่น การตรวจสุขภาพช่องปากในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ การคัดกรองรอยโรคและมะเร็งช่องปาก ซึ่งทุกหัวข้อก็มีความคืบหน้า บางหัวข้อรอเสนอให้คณะกรรมการ สปสช. พิจารณา บางหัวข้อก็อยู่ระหว่างศึกษาความคุ้มค่า เป็นต้น

“การตรวจสุขภาพช่องปากในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ หลายคนอาจคิดว่าเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่จริงๆยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ อีกอย่างคือการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงและมะเร็งช่องปาก เพราะคนที่อายุเกิน 40 ปีจะมีความเสี่ยงกับมะเร็งช่องปาก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหัวข้อที่อยู่ในลิสต์แต่ต้องรออีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้ระบบบริการพร้อมก่อน”ทพญ.วรมน กล่าว

ทพญ.วรมน กล่าวต่อไปว่า เมื่อได้มีประสบการณ์เสนอหัวข้อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์แล้วจึงรู้ว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าเป็นเรื่องยาก ต้องเป็นระดับผู้ใหญ่ถึงจะเสนอได้ แต่พอเข้ากระบวนการจริงๆถึงได้รู้ว่าใครก็เสนอได้ และ สปสช.มีช่องทางให้เสนอเยอะมาก การเสนอก็ไม่ยาก สปสช.จะบอกว่าต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งในส่วนของประชาชนจริงๆ แล้วข้อมูลไม่ครบถ้วนก็ไม่เป็นไร แต่ต้องเน้นให้ชัดเจนว่าอยากได้อะไร ต้องการอะไร แล้วจะมีฝ่ายวิชาการมาสนับสนุนข้อมูลวิชาการให้ ดังนั้นไม่ต้องกังวล ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในภาคสาธารณสุข ทุกคนสามารถเสนอหัวข้อได้หมด

เช่นเดียวกับ รศ.พญ.อาภัสณี โสภณสฤษฏ์สุข อีกหนึ่งผู้เสนอหัวข้อเกี่ยวกับการปลูกถ่ายตับและได้รับการพิจารณาเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง กล่าวว่า ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เพราะปี 2560 ตนดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ตอนนั้นพบว่าปัญหาของผู้ป่วยตับแข็งระยะกลางและระยะท้ายมีความสำคัญมาก มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการปลูกถ่ายตับ แต่ละปีมีผู้ป่วยรอปลูกถ่ายตับปีละกว่า 200 ราย แต่เนื่องจากการปลูกถ่ายตับมีราคาแพง จึงมีผู้ป่วยเสียชีวิตไปจำนวนมาก ทางสมาคมฯจึงเสนอหัวข้อนี้ในปี 2560 และได้รับการคัดเลือกสู่การศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ จนนำสู่การพิจารณาอนุมัติเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองโดยมีผลในเดือน ม.ค. 2564

รศ.พญ.อาภัสณี กล่าวถึงแนวทางการเสนอหัวข้อว่าต้องตระหนักถึงขนาดและความสำคัญของปัญหาก่อน อย่างกรณีผู้ป่วยตับแข็งระยะกลางและระยะสุดท้าย มีความสำคัญในแง่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและโรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจนผู้ป่วยเสียชีวิต และมีภาระการรักษาที่สูงด้วย ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าดูเรื่องขนาดของปัญหาก็ผู้ป่วยจำนวนมาก ถ้าดูเรื่องความสำโรคก็คือเป็นโรคที่มีความร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตและมีการสูญเสียค่ารักษาจำนวนมาก

“ประชาชนทั่วไปจะเสนอหัวข้อ สิ่งที่สำคัญที่ผู้เสนอหัวข้อต้องศึกษา คือเกณฑ์การให้คะแนนของหัวข้อว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นเขียนเสนอความเห็น รวบรวมข้อมูลมาสนับสนุนตามเกณฑ์ในแต่ละหัวข้อนั้น” รศ.พญ.อาภัสณี กล่าว

ขณะที่ ดญ.พลายณภัทร โฉมแดง เป็นหนึ่งในผู้รับสิทธิประโยชน์จากสิทธิปลูกถ่ายตับในเด็ก ซึ่งมารดาของ ดญ.พลายณภัทร เล่าให้ฟังว่าลูกสาวของตนมีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน ตนจึงค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและพบว่าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีการรักษาเกี่ยวกับตับจึงเข้าไปรับบริการ โดยในช่วงแรกแพทย์รักษาท่อน้ำดีแต่อาการยังไม่ดีขึ้น จึงวางแผนปลูกถ่ายตับในปี 2553 เตรียมตัวอยู่ 1 ปี แล้วได้ผ่าตัดในปี 2554

“ครั้งแรกที่รู้ว่าต้องปลูกถ่ายอวัยวะ ฟังยอดค่าใช้จ่ายและโอกาสสำเร็จก็กังวลมากเพราะค่าใช้จ่ายสูง ตอนนั้นถอดใจแล้วว่าคงต้องดูแลกันไปจนวาระสุดท้าย แต่พอรู้ว่ามีบัตรทองที่เราไม่ต้องจ่ายเงินก็รู้สึกดีใจมาก อยากขอบคุณโครงการดีๆ ขอบคุณโรงพยาบาลรามาธิบดี ขอบคุณ สปสช. ที่ทำให้ได้ชีวิตลูกกลับคืนมา”มารดาของ ดญ.พลายณภัทร กล่าว

ด้านนายธนพลธ์ ดอกแก้ว ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากสิทธิล้างไต กล่าวว่า ตนตรวจพบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในปี 2546 สาเหตุเกิดจากเป็นความดันโลหิตสูงแต่ไม่ได้ไปพบแพทย์เนื่องจากหน่วยบริการอยู่ไกล และเมื่อไปแล้วก็ต้องซื้อยากินเองเพราะขณะนั้นยังไม่มีสิทธิบัตรทอง เมื่อไม่ดูแลตัวเองจึงเกิดภาวะไตเสื่อมจนกลายเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จากนั้นก็ใช้สิทธิบัตรทองมาตลอด 18 ปี

“ในอดีตแม้จะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพในปี 2545 แต่สิทธิการรักษายังไม่ครอบคลุมโรคค่าใช้จ่ายสูง ตอนนั้นใครเป็นโรคไตคือฝันร้ายมาก เตรียมตัวร่ำลาญาติพี่น้องได้เลยเพราะถ้ารักษาจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงขั้นล้มละลาย นอกจากนี้ยังมีหน่วยบริการรองรับน้อย บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญก็มีน้อย 3 อย่างนี้คือปัญหาในอดีต แต่ปัจจุบัน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากกว่า 95% สามารถเข้าถึงการรักษา ทั้งการล้างไตทางช่องท้อง ฟอกไต ปลูกถ่ายไต ยากดภูมิ ต้องขอบคุณ สปสช. ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนทุกปี มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ชุมชนถึงระดับนโยบาย และถูกนำไปผลักดันจริงๆ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่งดงามที่สุด ทำให้ประชาชนสามารถเสนอนโยบายและเข้าถึงบริการได้ สามารถหลีกเลี่ยงการล้มละลายจากการรักษาพยาบาล”นายธนพลธ์ กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org