ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ร่วมรณรงค์ “วันเบาหวานโลก” จัดสิทธิประโยชน์บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาต่อเนื่อง เผยปี 2553 แยกเป็นงบเฉพาะ ดูแลผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่ม ชะลอสู่โรคเรื้อรังรุนแรงทั้งโรคหัวใจ ไตวายเรื้อรัง ปี 2565 จัดงบ 1,154 ล้านบาท มุ่งเป้าให้บริการกว่า 3.71 ล้านครั้ง พร้อมเปิดข้อมูลกองทุนบัตรทอง ปี 2563 เบาหวานอยู่อันดับต้น โรคที่มีผู้ป่วยรับบริการมากที่สุด

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก” เพื่อรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตื่นตัวในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งสถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย จากข้อมูลสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานราว 5 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 ของประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คนต่อปี

ด้วยสถานการณ์โรคเบาหวานที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมที่แยกจากงบเหมาจ่ายรายหัวตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อเร่งรัดการให้บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมทั้งชะลอภาวะเจ็บป่วยจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากทำให้ผู้ป่วยการเข้าถึงบริการควบคุมและป้องกันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังนำไปสู่การจัดระบบดูแลโรคเบาหวานของหน่วยบริการอย่างมีคุณภาพ

 “บอร์ด สปสช.ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะโรคเบาหวานเป็นความเสี่ยงที่นำไปสู่โรคเรื้อรังรุนแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง จึงได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณสิทธิประโยชน์นี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลให้ประชาชนเข้าถึงบริการควบคุม ป้องกัน และรักษา ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 นี้ จัดสรรที่จำนวน 1,154.78 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายบริการจำนวน 3,711,100 ครั้ง จากที่ปี 2553 ที่ได้เริ่มแยกงบประมาณดูแล เริ่มที่งบประมาณ 400 ล้านบาท”

นพ.จักรกริช กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่า สปสช. จะได้ดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นสู่บริการควบคุม และป้องกัน ควบคู่กับการรักษาแล้ว แต่โรคเบาหวาน โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ยังเป็นโรคที่มีผู้ป่วยเข้ารับการดูแลและรักษาพยาบาลในอันดับต้นๆ ของการเข้ารับบริการ ซึ่งจากรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบประมาณปี 2563 ในกลุ่มผู้ป่วยนอก โรคเบาหวานมีจำนวนการเข้ารับบริการสูงถึง 10,785.775 ครั้ง สูงเป็นอันดับที่ 2 ของการรับบริการผู้ป่วยนอก ส่วนกลุ่มผู้ป่วยใน โรคเบาหวานมีจำนวนการเข้ารับบริการสูงถึง 98,403 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 10 ของการรับบริการผู้ป่วยใน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เร่งแก้ไข ซึ่งเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค จำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน

“ที่เราพยายามทำให้เกิดคือสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมป้องกันโรคที่ยังมีช่องว่างอยู่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองประชาชน มองกว้างมากกว่าเรื่องการรักษาอย่างเดียว ดังนั้นเรื่องเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนหนึ่งอยู่ที่พฤติกรรมและปรับระบบการบริการ การดูแลสุขภาพแบบใหม่ให้คนไข้มีความรู้และทักษะที่จะสามารถดูแลตัวเองได้ หรือใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี กับเรื่องของการทำการบริบาลทางไกล ซึ่งตอนนี้ สปสช.กำลังเดินไปในทิศทางนี้ให้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพให้กับประชาชน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org