ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนวก.สธ. เผยว่า “หมออนามัย” ส่วนใหญ่ต้องการถ่ายโอน เหตุสธ.ไม่เคยเหลียวแลหมออนามัย ไม่เคยสนับสนุนความก้าวหน้า ไม่จัดสรรอัตรากำลัง และงบประมาณให้เพียงพอต่อการทำงานในพื้นที่ เปรียบแรง ว่าดูแลรพ.สต.เหมือนลูกเมียน้อย  ย้ำ! หากรุ่นแรกถ่ายโอนไปแล้วรุ่ง รุ่น 2 คงถ่ายโอนตามไปอีกหลายพันแห่งแน่นอน

นักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ริซกี สาร๊ะ” เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เกี่ยวกับความคิดเห็นกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ  ดังนี้

จากปรากฏการณ์ที่รพ.สต.มีความต้องการถ่ายโอนไปหลายพันแห่งนั้น  พบว่ามีทั่วทุกภาคเกือบ 50 จังหวัด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นมีความประสงค์ถ่ายโอนยกพวงทั้งจังหวัด เป็นจำนวนมากกว่าสองร้อยแห่ง  ส่วนรพ.สต.ที่ยังไม่ถ่ายโอนนั้น อาจเนื่องมาจาก ยังลังเล และรอดูว่ารพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปรุ่นแรกนั้น จะก้าวหน้าหรือดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ และบางส่วนก็ยังรอสิทธิประโยชน์จากกระทรวงสาธารณสุข  เช่นเรื่องของการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง  หรือรอการปรับตำแหน่ง ข้าราชการสายงานทั่วไป(เจ้าพนักงาน :จพ.) ที่มีวุฒิปริญญาตรี เป็นสายงานวิชาการ

ทั้งนี้ส่วนใหญ่รพ.สต.ที่ตัดสินใจถ่ายโอนไปนั้น ประเด็นหลักคือ  การที่กระทรวงสาธารณสุข ละเลยและขาดการเหลียวแล Career path ของหมออนามัย  ไม่เคยสร้างขวัญกำลังใจของบุคลากรทุกวิชาชีพให้ทัดเทียมกัน  ไม่จัดสรรงบประมาณ  และบุคลากรให้ รพ.สต. อย่างเพียงพอ เปรียบดังลูกเมียน้อยที่ถูกดูแลแบบตามมีตามเกิดตลอดมา

ทั้งนี้ หากพิจารณาพัฒนาการของรพ.สต. อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดร้อยปีที่ผ่านมานั้น  "พบว่าเมื่อหมออนามัยมีปัญหาคับข้องใจใดๆ  กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่เคยดูแลแก้ปัญหา จนปัญหาสะสม ทับถม หมักหมม จนพอกพูนเป็นดินพอกหางหมู ยิ่งเมื่อบุคลากรสาธารณสุขเองมีการเปรียบเทียบในเรื่องความก้าวหน้ากับข้าราชการในระดับตำบลด้วยกัน ว่าทำไมข้าราชการในกระทรวงอื่นจึงมีความก้าวหน้า มี career path  อย่างต่อเนื่อง เช่น ครู ปกครอง ท้องถิ่น พบว่งมีช่องทางเติบโต ก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆจนเกษียณ

แต่พอหันมาดูผอ.รพ.สต.  ส่วนใหญ่จะเกษียณในระดับชำนาญการ  ส่วนระดับชำนาญการพิเศษ กลับจัดสรรแค่จังหวัดละ 1 คนเท่านั้น  และเมื่อเปรียบเทียบกับผอ.โรงพยาบาลที่สามารถเลื่อนระดับขึ้นชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ โดยไม่ได้มีข้อจำกั ดหรือเงื่อนไขอะไรมากมายเช่นผอ.รพ.สต  ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ ผอ.รพ.สต. ส่วนใหญ่ตัดสินใจถ่ายโอนไปอย่างง่ายดาย"

ส่วนเรื่องของงบประมาณนั้น ที่ผ่านมา สป.สช. จัดสรรงบผ่านระบบโรงพยาบาลหรือ CUP เนื่องมาจาก รพ.สต.ในโครงสร้าง การบริหารหน่วยงานสาธารณสุข ไม่ได้ถูกกำหนดเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคเป็นแค่ subset ของสสอ.เท่านั้น จึงมีการจัดสรรงบผ่าน สสจ. และโรงพยาบาล แทน  ซึ่งการที่ต้องรอโรงพยาบาลจัดสรรงบ โดยส่วนใหญ่จึงมักมีปัญหา คือรพ.สต.ได้รับงบแบบจำกัดจำเขี่ย รพ.สต.หลายแห่งจึงต้องหันไปของบประมาณจากท้องถิ่น หรือมีการจัดผ่าป่าแทน เพื่อที่จะให้มีงบประมาณเพียงพอที่จะทำงานในพื้นทีได้

ส่วนในเรื่องของโครงสร้างรพ.สต. กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดกรอบอัตรากำลัง มาหลายปีแล้วว่ารพ.สต.ขนาดเล็กต้องมีบุคลากร 7 คน รพ.สต.ขนาดกลางต้องมีบุคลากร 12 คน และรพ.สต.ขนาดใหญ่ต้องมีบุคลากร 14 คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว  บุคลากรในรพ.สต.ในปัจจุบัน  มีเฉลี่ยประมาณ 3 คนต่อแห่งเท่านั้น  

ซึ่งเมื่อต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้มาอย่างยาวนานหลายสิบปี โดยไม่มีทีท่าว่าจะมีการแก้ไขแต่อย่างใด บุคลากรในรพ.สต.จึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่า “ทำไมกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่ยอมปลดล็อครพ.สต.ในเรื่องของความก้าวหน้า  ไม่ยอมจัดสรรงบรพ.สต. ให้อย่างเพียงพอ และไม่ยอมจัดสรรอัตรากำลังให้รพ.สต.ครบตามกรอบเสียที ซึ่งเมื่อไปเทียบกับบุคลากรสาธารณสุขของท้องถิ่น ในเรื่องของความก้าวหน้านั้น พบว่า ทุกตำแหน่งสามารถเลื่อนตำแหน่งสู่ระดับชำนาญการพิเศษได้ โดยไม่มีข้อจำกัดมากมายอย่างกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด”

ยกตัวอย่าง รพสต. ที่ถ่ายโอนไป รุ่นแรกๆ อย่างเช่น รพ.สต.บึงยี่โถ จ.ปทุมธานี รพ.ชุมชนตำบลดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ในปัจจุบัน  พบว่ามีพัฒนาการก้าวกระโดด จนปัจจุบันมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานมากกว่า 50 คน สามารถจ้างแพทย์ลงมาปฏิบัติงานทุกวัน มีนักกายภาพบำบัด มีนักจิตวิทยา และตำแหน่งต่างๆ มากมายมาบริการประชาชน และรพ.สต.ก็มีสภาพคล่องที่จะบริหารจัดการภารกิจในการดูแลสุขภาพประชาชนได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

แต่ปัญหาหลักที่หมออนามัยยังมีความกังวลในเรื่องการถ่ายโอน คือเรื่องการเมือง  ที่อาจมีผลกระทบต่อการทำงาน แต่ส่วนใหญ่ ผอ.รพ.สต. ที่ตัดสินใจถ่ายโอนไป นั้นบางคนทำงานจนใกล้เกษียณแล้ว หรือทนกับระบบในกระทรวงสาธารณสุขมามากพอแล้ว เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว คงคิดได้ว่าไม่มีอะไรที่ต้องกังวลแล้ว ยอมไปเสี่ยงเอาดาบหน้าดีกว่า

เมื่อผอ.รพ.สต.ยอมรับการเปลี่ยนแปลง  เพราะคงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรที่น่ากังวลอีกแล้ว  เพราะเคยเจอปัญหาหนักๆในกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว ยังผ่านพ้นมาได้  เพราะฉะนั้นผอ.รพ.สต.ส่วนใหญ่ จึงตัดสินใจถ่ายโอนไปอย่างง่ายดาย  จนกระทรวงสาธารณสุขเอง กลายเป็นฝ่ายที่ตั้งรับไม่ทันเสียเอง ถึงขนาดหลายพื้นที่ มีผู้บริหารได้ทำการแจ้งทางไลน์ส่วนตัวผอ.รพ.สต.หลายท่านว่า ยังไม่ควรถ่ายโน เพราะอาจเกิดปัญหามากมาย  ที่น่าตลกคือ มีการจัดฉากโดยการขึ้นป้ายหน้ารพ.สต.ว่าไม่ยอมถ่ายโอนด้วย

ทั้งนี้ สำหรับการเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนไปยังท้องถิ่นนั้น ควรมีการเตรียมพร้อมในการพัฒนาศักยภาพตนเองตลอดเวลา เพราะการเลื่อนระดับในท้องถิ่น มีการคัดเลือกโดยยึดถือเรื่องคุณสมบัติและสมรรถนะที่เหมาะสม  เพราะฉะนั้นถ้าหมออนามัยที่ถ่ายโอนไปแล้ว หวังว่าจะได้ชำนาญการพิเศษโดยง่ายดาย โดยไม่พัฒนาตนเอง  ก็อาจจะผิดหวังได้เช่นกัน เนื่องจากในท้องถิ่นเองก็มีการแข่งขันสูง และบุคลากรในหน่วยงานก็ไม่ใช่บุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งหมด จึงอาจจะมีปัญหาเรื่องของแนวคิดบางอย่างได้ หากถ่ายโอนไป ยังอบจ. ที่มีแนวคิดด้านสาธารณสุขดี สนใจเรื่องสุขภาพภาคประชาชนเป็นอย่างดี  ก็ถือว่าเป็นโชคดีของประชาชนและโชคดีของหมออนามัยที่ถ่ายโอนไป

“ผมมองว่า  แนวคิดในการถ่ายโอน  ควรไปแบบยกพวงอำเภอ หรือยกพวงจังหวัดได้จะดีที่สุด จะส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุขมีเอกภาพ    และระบบสาธารณสุขปฐมภูมิในภาคท้องถิ่นก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันระบบปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุขก็จะเริ่มอ่อนแอลง เพราะไม่มีคนทำงานด่านหน้าที่จะรองรับสารพัดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป  กระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่รู้ว่าจะถ่ายถอดนโยบายสู่ระดับปฐมภูมิอย่างไร  เพราะไม่สามารถสั่งการรพ.สต. ถ่ายโอนได้   ยกเว้นว่าต้องประสานงานผ่าน อบจ.เท่านั้น ณ ตอนนี้ รพ.สต. ที่เหลือ ที่ยังไม่ถ่ายโอน ก็กำลังพิจารณาและติดตามว่า  รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปในรุ่นแรกนั้น ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่  ถ้าผลลัพธ์ออกมาว่าดีกว่า ผมว่าจะมีการถ่ายโอนตามไปในปีที่ 2 อีกหลายพันแห่งแน่นอน” นายริซกี กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org