ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล (UHC Day) ปี 2564 ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน ประเทศไทยย้ำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยไทยผ่านสถานการณ์โควิดได้ดี พร้อมร่วมมือกับนานาชาติแบ่งปันประสบการณ์ของไทยและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นทั่วโลก และพัฒนาหลักประกันสุขภาพของไทยเพื่อเป็นเครื่องมือในการรับมือกับการแพร่ระบาดโรคโควิดครั้งใหม่ 

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมจัดงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก รวมทั้งผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ประจำประเทศไทย

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในระหว่างการเปิดงานว่า สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล เพื่อสร้างความตระหนักให้นานาประเทศร่วมกันผลักดันให้ประชากรโลกเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง

นายดอน กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างถ้วนหน้า และช่วยให้เราผ่านสถานการณ์โควิดไปได้ การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ทั้งการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่คนไทยและชาวต่างชาติโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและสถานะการย้ายถิ่นฐาน

อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างที่เราต้องพัฒนากันต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนทุกคนจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานที่ดีที่สุดเมื่อยามจำเป็น ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นกุญแจสำคัญในการปิดช่องว่างเหล่านี้ได้ ทั้งในด้านการรับรองสิทธิสุขภาพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน 

ประสบการณ์สองทศวรรษของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่ด้วยเจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็ง ความมุ่งมั่นในนโยบายระยะยาว การลงทุนอย่างต่อเนื่อง ความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน

นายดอน กล่าวว่า เนื่องในวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ประเทศไทยยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ความสำเร็จ และความท้าทายในการดำเนินการตามแผนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย และประเทศไทยจะส่งเสริมการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เกี่ยวกับสุขภาพ เราจะส่งเสริมการรวมตัวของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของแต่ละประเทศเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการรับมือกับการแพร่ระบาดโรคโควิดครั้งใหม่ ในขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูและสร้างกลับมาให้ดีขึ้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก การสนับสนุนจากรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสิ่งสำคัญ เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกท่านในการขับเคลื่อนวาระการประชุมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลในปี 2564 นี้ มีประเด็นของการรณรงค์คือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน เพื่อสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ให้มีการลงทุนด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและครบวงจรลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า เป็นระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับทุกคน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการตรวจหาเชื้อโควิดทั้ง RT-PCR  ATK การรักษาพยาบาล และการรับวัคซีนป้องกันโรคทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากจะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าพวกเราทุกคนจะปลอดภัยทั้งหมด

นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพมา 2 ทศวรรษ ได้รับการยอมรับความสำเร็จและพิสูจน์ในเวทีระดับโลกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพไม่ใช่เป้าหมายที่เกินฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ช่วยให้คนเข้าถึงการรักษา ลดภาระค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต การฟอกเลือด ช่วยปกป้องประชาชนและส่งเสริมการเข้าถึงระบบสุขภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นผลของการลงทุนในระบบสุขภาพของประเทศไทย ทั้งนี้ การส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ใช่แค่เพื่อการต่อสู้กับโรคโควิด 19 แต่เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 “เราเชื่อว่าการส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเสริมสร้างให้ดียิ่งขึ้นจะช่วยให้เราไม่เพียงแต่ต่อสู้กับโรคระบาด แต่ยังขับเคลื่อนไปสู่การตระหนักรู้และปกป้องสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐบาลไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มุ่งมั่นที่จะนำประเทศไทยผ่านวิกฤตสุขภาพนี้อย่างชาญฉลาด เรามุ่งมั่นที่จะให้ความคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ทิ้งสุขภาพของใครไว้ข้างหลัง ลงทุนในระบบสุขภาพสำหรับทุกคน” นายอนุทิน กล่าว

 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย วางอยู่บนพื้นฐานของ 3 หลักการ ได้แก่ ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

“ตลอดระยะเวลาเกือบสองทศวรรษของการมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เราได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายของภาครัฐที่สำคัญ เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ครัวเรือนมีความมั่นคงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ไม่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล”

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่าประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ในวันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อให้นานาประเทศตระหนักถึงความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผลักดันให้สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลประชากรในประเทศของตนเอง โดยในปี พ.ศ. 2555 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองมติครั้งประวัติศาสตร์โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งดำเนินการไปสู่การประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ UHC เป็นลำดับความสำคัญที่สำคัญสำหรับการพัฒนาระหว่างประเทศ และตามมติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ได้รับรองให้วันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” หรือ Universal Health Coverage Day: UHC Day เพื่อผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลสุขภาพประชากรในประเทศของตนเอง

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในปี 2564 นี้ มีประเด็นการรณรงค์คือ Leave No One’s Health Behind, Invest in Health System for All หรือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน เพื่อให้นานาประเทศตระหนักรับรู้และกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศตนให้ประชาชนสุขภาพดี รวมถึงคุ้มครองทุกคนภายใต้สถานการณ์โรคโควิด 19 โดยมุ่งมั่นให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้บรรลุภายในปี 2573 หรือ UHC2030 ตามคำรับรองปฏิญญาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชนประจำปี 2562 เมื่อเดือนกันยายน 2562 และมุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)

ทั้งนี้ประเทศไทยนับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเริ่มกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 มีการประกาศเป็นนโยบายชัดเจนโดยรัฐบาลและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง จนเป็นต้นแบบให้กับนานาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org