ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อรับมือกับโควิด-19 (COVID-19 booster dose) กำลังเป็นทั้งความจำเป็นเร่งด่วนและประเด็นทางการเมือง เพราะการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าและการเกิดขึ้นของเชื้อโอมิครอนในเวลาต่อเนื่องกัน แต่มันเป็นประเด็นการเมืองโดยเฉพาะในประเทศตะวันตกที่มีประชาชนจำนวนมากไม่ยอมฉีดเข้มกระตุ้นด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะการต่อสู้เพื่อผลักดัน/ต่อต้านเข้มกระตุ้นในบางประเทศที่มีกรณีน่าศึกษาที่น่าสนใจ

กรณีศึกษาอิสราเอล

อิสราเอลเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเริ่มฉีดวัคซีน Pfizer–BioNTech เข็มกระตุ้นสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ในเดือนสิงหาคม มีการขยายโครงการฉีดเข็มกระตุ้นครอบคลุมประชากรอิสราเอลที่เหลือทั้งหมด (1)

สิ่งสำคัญคือทัศนะของประชาชนต่อแนวทางฉีดเข็มกระตุ้นเป็นอย่างไร? อิสราเอลแทบไม่มีการต่อต้านการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะในอัตราปกติและอัตราเข็มกระตุ้น The Times of Israel สื่อชั้นนำของประเทศระบุว่าอิสราเอลเป็นประเทศที่มีการฉีดกระตุ้นต่อหัวประชากรสูงสุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากไอซ์แลนด์และชิลี โดยพยาบาลฉีดยากระตุ้น 44 ครั้งต่อประชากร 100 คน ซึ่งถือว่าสูงเป็นพิเศษ ตัวเลขสำหรับสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 17 ครั้งต่อ 100 คนและค่าเฉลี่ยของโลกคือ 5 ต่อ 100 คน (2)

อย่างไรก็ตาม Haaretz สื่อชั้นแนวหน้าของอิสราเอลรายงานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ว่า ณ เวลานั้นมีประชากรอิสราเอลถึง 1 ล้านคน (จากจำนวนประชากรทั้งหมด 9.2 ล้านคน) ที่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น และเรียกคนเหล่านี้ว่า “booster refusers” (ผู้ปฏิเสธเข็มกระตุ้น) โดยคนเหล่านี้ไม่รับเข็มกระตุ้นมาตั้งแต่ช่วงที่เดลตาระบาดหนัก และรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจเพราะมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้สูงวัยและเยาวชนมากกว่า จนกระทั่งเมื่อโอมิครอนระบาด รัฐบาลเริ่มกดดันให้ “booster refusers” ฉีดครั้งที่สาม (3)

สาเหตุที่ประชาชนเริ่มจะไม่รับเข็มกระตุ้น (ซึ่งย้ำว่าไม่ใช่การต่อต้าน) จากข้อมูลของผู้นำการณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ขององค์กร Clalit บอกกกับ Haaretz ว่าประชาชนเริ่มไม่เต็มใจที่จะฉีดเข็มกระตุ้น เพราะคิดว่าสองเข็มก็เพียงพอแล้ว และหากฉีดกระตุ้นทุกๆ 6 เดือนมันจะไม่เหมือนไข้หวัดไปหน่อยหรือ? และบางคนบอกว่า "มันจบแล้ว มันไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนอีกต่อไป" และบางคนบอกว่าโควิด-19 ถูกพิชิตลงได้แล้วด้วยซ้ำ Haaretz ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า "ความคิดเห็นเหล่านี้อาจแตกต่างกับวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความจำเป็นในการฉีดเข็มกระตุ้น แต่ก็เข้าใจได้" (3)

แต่ข้อมูลี่ชัดกว่านั้นมาจากสถาบันนโยบายสังคม (The Social Policy Institute) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเซนต์หลุยส์กำลังศึกษาทัศนคติของสาธารณชนต่อการฉีดวัคซีนเมื่อเวลาผ่านไป โดยทำการสำรวจซ้ำ 2,400 คนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 เป็นต้นไป การสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถามชาวอิสราเอลว่าใครได้รับวัคซีน 2 โดสแรกว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ได้เข็มกระตุ้น ผลปรากฏว่า 37% อ้างว่ากลัวผลข้างเคียงในระยะยาว 35% คิดว่าการกระตุ้นไม่จำเป็น และ 33% กลัวผลข้างเคียงในระยะสั้น 19% กล่าวว่าพวกเขากำลังตั้งครรภ์ กำลังพยายามตั้งครรภ์หรือให้นมลูก ขณะที่ 12% กล่าวว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนตราบเท่าที่คนอื่นๆ ได้รับ (คือเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว) 9% กล่าวว่าพวกเขาไม่มีเวลาหรือไม่สามารถไปคลินิกฉีดวัคซีนได้ (3)

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ แม้แต่ The Times of Israel ที่รายงานข่าวในเชิงชื่นชมความกระตือรือร้นของชาวอิสราเอลในการฉีดเข็มกระตุ้น (ซึ่งตางจากรายงานของ Haaretz ที่ชี้ให้เห็นถึงกลุ่มคนที่ไม่อยากฉีดแล้วนับล้านคน) ก็ยังรายงานว่า หากนับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น 6 เดือนหลังจากได้รับวัคซีน 2 เข็มแรก จะพบว่าทั้งประเทศมีทั้งหมด 42%ไม่ได้รับการป้องกันจากโควิด-19 (วันรายงานข่าวคือวันที่ 18 ธันวาคม 2564) และยังรายงานอ้างสำนักข่าวแห่งชาติของอิสราเอลที่อ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเน็ตต์ ที่ประกาศระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ว่าอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศนั้น “แย่มาก” (2)

ดร. อาเบด อัลตีฟ มาฮามีด (Dr. Abed Altif Mahameed) กล่าวกับ Haaretz ว่าปัจจัยที่ทำให้การฉีดกระตุ้นเชื่องช้าลงเพราะความกลัวนั้นหายไป

และผู้คนเห็นโรงพยาบาลไม่ได้เต็มไปด้วยผู้ป่วยหนัก แต่เขาเชื่อว่าบางทีการปรากฏตัวของโอมิครอนอาจทำให้ความกลัวเพิ่มขึ้น (3)

 

กรณีศึกษาสหราชอาณาจักร

ตรงข้ามกับสหราชอาณาจักรที่ความกลัวเรื่องโอมิครอนกำลังบีบให้รัฐเร่งให้ประชาชนรับเข็มกระตุ้น แต่มันไม่ใช่งานที่ง่ายนัก เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 มีการเผยแพร่การศึกษาโดยนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) พบว่า 4% ของ 22,139 คนที่เข้าร่วมการศึกษาทางสังคมเกี่ยวกับโควิด-19 ไม่เต็มใจที่จะได้รับการฉีดกระตุ้น และอีก 4% ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้นหรือไม่ โดยสรุปก็คือ ประมาณ 1 ใน 13 คนที่ได้รับวัคซีนโควิด 2 โดสไม่เต็มใจที่จะฉีดวัคซีนกระตุ้น (4)

งานวิจัยพบข้อมูลว่า ผู้ที่ลังเลใจมักจะมาจากพื้นเพที่ยากจน มีระดับการศึกษาต่ำกว่า และอายุต่ำกว่า 45 ปี

และผู้ที่มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาลน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นก็ไม่เต็มใจที่จะได้รับเข็มกระตุ้น แต่ข้อมูลนี้ยังไม่น่าสนใจเท่ากับความเห็นของ ดร. เดซี่ แฟนคอร์ท (Dr Daisy Fancourt) ผู้ร่วมเขียนการศึกษานี้ที่กล่าวว่าผู้คนอาจลังเลใจที่จะรับเข็มกระตุ้นเพราะรู้สึกว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันเพียงพอและได้ “ได้ทำเต็มที่แล้วในส่วนของพวกเขา” ซึ่งอาจหมายถึงการรับเข็มสองเข็มก็ถือว่ามากพอแล้วสำหรับคนเหล่านี้ (4)

ดร. เดซี่ แฟนคอร์ท ยังแสดงความเห็นคล้ายๆ กับสื่อในอิสราเอลว่า คนส่วนใหญ่ที่ลังเลหรือไม่เต็มใจที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ได้จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าพวกเขาต่อต้านวัคซีน พวกเขาแค่มีข้อกังวลที่สมเหตุสมผลบางอย่าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจ พร้อมกับเสนอแนะว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องระมัดระวังไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าการฉีดเข็มกระตุ้นเป็นการบังคับและควรสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน เพราะประชาชนอาจคิดว่าการที่รัฐบังคับประชาชนให้ฉีดเข็มกระตุ้นก็เพราะมันต้องมีลับลมคมในอะไรบางอย่างจึงต้องบังคับกัน (4)

กระแสต่อต้านวัคซีนในสหราชอาณาจักรในเวลานี้จึงแผ่ขยายมาถึงการฉีดเข็มกระตุ้นด้วย แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะพยายามอธิบายว่าการลังเลเรื่องเข็มกระตุ้นไม่ใช่การต่อต้านวัคซีนหรือกลุ่ม Anti-vaxxers แต่การเมืองเรื่องวัคซีนในสหราชอาณาจักรได้ผสมโรวเอาเรื่องนี้เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกันด้วย เช่น กรณีของสมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฏราชกุมารแห่งอังกฤษซึ่งทรงรับการฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว (พระชนมายุ 73 พรรรษา) ได้เสด็จไปเยี่ยมศูนย์ชั่วคราวสำหรับฉีดวัคซีนที่ย่านเคนซิงตัน พร้อมกับทรงชื่มชมเจ้าหน้าที่ว่า “คุณวิเศษมาก เราจะทำอย่างไรถ้าไม่มีคุณ” และยังตรัสวิพากษ์วิจารณ์กลุ่ม Anti-vaxxers ว่า "มันน่าผิดหวังมากกับทฤษฎีสมคบคิดไร้สาระทั้งหมดเหล่านั้น" (5)

ท่าทีเชิงรุกของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษถึงขนาดตรัสวิจารณ์กลุ่ม Anti-vaxxers กลางศูนย์รับฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ เพราะกลุ่ม Anti-vaxxers ก็เคลื่อนไหวตามศูนย์รับฉีดวัคซีนเช่นกัน โดยมีรายงานว่ากลุ่ม Anti-vaxxers เล็งเป้าหมายชาวลอนดอนที่เป็นผู้รับบำนาญ (ผู้สูงวัย) และมารดาที่มีลูก ขณะที่คนเหล่านี้กำลังเข้าคิวรับเข็มกระตุ้น โดยรบเร้าให้คนเหล่านี้อย่ารับวัคซีน จนกระทั่งต้องมีการเรียกตำรวจเข้ามาช่วยระงับสถานการณ์ (6)

ทั้งนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรเร่งเร้าให้ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเร็วขึ้นและโดยรวมแล้วประชาชนให้การตอบรับด้วยดี โดยซาจิด จาวิด (Sajid Javid) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสังคมกล่าวเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม หลังมียอดเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น 25 ล้านครั้งว่า

"มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนอย่างยิ่ง – เราไม่มีเวลาให้เสียเปล่าในการแข่งขันระหว่างไวรัสกับวัคซีน เข็มกระตุ้นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับแนวรับของเรา และหมายหลักในการฉีด (เข็มกระตุ้น) 25 ล้านครั้งในปัจจุบันเป็นข้อพิสูจน์ถึงความกระตือรือร้นของผู้คนในประเทศที่กำลังเตรียมจะลุกขึ้นสู้ในตอนนี้" (7)

 

อ้างอิง

1. Weiss, Mark (19 August 2021). "Israel to roll out COVID-19 booster shots to entire population". Irish Times.

2. Jeffay, Nathan (18 December 2021)."Vaccine grinches are wrong — Israel is still a paragon of immunization excellence". The Times of Israel.

3. Efrati, Ido (15 December 2021). "'People Feel Protected': Why Are 1 Million Israelis Not Getting the Booster Shot?". Haaretz.

4. Tapper, James (18 December 2021). "One in 13 Covid double-jabbed in UK reluctant to get booster, study finds". The Guardian.

5. Palmer, Richard (15 December 2021). "Prince Charles backs booster jabs drive with snipe at anti-vaxxer ‘conspiracies’". Daily Express.

6. Lydall, Ross (15 December 2021). "Anti-vaxxers target pensioners, mothers in Chelsea churchyard". Evening Standard.

7. "25 million boosters in UK as public urged to Get Boosted Now". (16 December 2021). Department of Health and Social Care.

 

ภาพ - https://en.wikipedia.org/wiki/File:COVID_Vaccine_(50745583447).jpg