ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตามเป้าหมายจัดหาวัคซีนโควิด 64 จำนวน 120 ล้านโดส รอลุ้น!  ปี 2565 จัดหาอีก 120 ล้านโดส ลุ้นเจรจา"วัคซีนซับยูนิต" 

เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขปี 2564 จำนวน 120 ล้านโดส...

อย่างล่าสุดแอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบวัคซีนให้ไทย 61 ล้านโดส ซิโนแวคส่งแล้วกว่า 30 ล้านโดส และไฟเซอร์อีกกว่า 30 ล้านโดส โดยทั้งหมดได้กระจายฉีดให้แก่กลุ่มต่างๆ ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเข็มที่ 1 เข็ม 2 หรือเข็มบูสเตอร์โดส

 
ทั้งนี้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 30 ธันวาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมดจำนวน 104,278,364 โดส  แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 61,134 ราย   เข็มที่ 2 จำนวน 151,440 ราย  และเข็มที่ 3 จำนวน 171,179 ราย แน่นอนว่า ยังต้องมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 แผนการจัดหาวัคซีนโควิดจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะวัคซีนสูตรใหม่ที่รองรับกับโควิดสายพันธุ์ โอไมครอน(Omicron)  ซึ่งในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้าได้มีการลงนามร่วมกันกับรัฐบาลไทยเมื่อช่วงกันยายน 2564 ที่ผ่านมาถึงการสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  ซึ่งสามารถดำเนินการเปลี่ยนเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ได้หลังจากได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียน 

เพื่อความชัดเจนของเรื่องนี้ Hfocus ได้สอบถามข้อมูลกับทางผู้บริหาร สธ. โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้ข้อมูล ว่า หลังจากปี 2564  การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้จำนนว 120 ล้านโดส ในปี 2565 ได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เบื้องต้นจำนวน 120 ล้านโดส

  
นพ.โอภาส ย้ำว่า แผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดสได้ผ่านความเห็นชอบจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รวมทั้งยังผ่านการพิจารณาและเป็นไปตามข้อแนะนำของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติแล้ว ซึ่งครม.อนุมัติจัดหาแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 60 ล้านโดส ไฟเซอร์อีกราว 30 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 30 ล้านโดสจะเป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต (subunit vaccine) ซึ่งกรณีหลังทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะเป็นผู้เจรจา 

"สำหรับวัคซีนปี 2565 จะเน้นการฉีดแบบกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5-11 ปี ขณะเดียวกันหากวัคซีนมีการพัฒนาสูตรใหม่ๆ สำเร็จก็จะมีการจัดส่งเข้ามา ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านการทดลองที่มีข้อมูลยอมรับได้ และผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามขั้นตอน" นพ.โอภาส กล่าว

*** ส่วนคำถามกรณีการใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายสลับกับ mRNA จะเป็นอีกทางเลือกสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีได้หรือไม่ อย่างกรณีซิโนแวค มีความเป็นไปได้ว่าจะนำเข้ามาในปี 2565 อีกหรือไม่อย่างไร

เรื่องนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับซิโนแวค ยังไม่มีแผนสั่งซื้อเพิ่มเติม ยกเว้นว่ามีข้อมูลผลการศึกษาใหม่ ซึ่งก็ต้องรอดูข้อมูลต่อไปก่อน อย่างไรก็ตาม  เรื่องนี้คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯ มีการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันว่า ต้องติดตามและรอดูข้อมูลว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย อย่างซิโนแวคจะมีผลการศึกษาในเด็กออกมาเป็นอย่างไร ถ้าผ่าน และต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ด้วย ซึ่งขอให้รอความคืบหน้าเรื่องนี้ก่อน  

เมื่อถามว่า วัคซีนป้องกันโควิดในปี 2565 จะรองรับโอไมครอนได้ใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า  การฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันสามารถตอบสนองสายพันธุ์โอไมครอนได้ ในแง่ของการลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันได้ 100% ซึ่งจริงๆแล้ววัคซีนทุกชนิดก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% อยู่แล้ว เรายังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด หรือการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention เช่นเดิม 

"สิ่งสำคัญตอนนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขอให้เข้ามารับวัคซีนตามช่องทางต่างๆ ที่ภาครัฐเปิด ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยบริการ และวัคซีนมีจำนวนมากพอ ประกอบกับหากใครกลับบ้านช่วงปีใหม่และพบว่า ญาติ พ่อแม่ ผู้ใหญ่ในบ้านยังไม่ฉีด ขอให้ทำความเข้าใจและพามาฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดความรุนแรง และลดการเสียชีวิตจากโควิดได้" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ด้วยเหตุนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงมีการดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565  ประกอบด้วย  

- ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบเข็มที่ 2  ในเดือนสิงหาคม - กันยายน 2564  จะสามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือนธันวาคม 2564
- ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบเข็มที่ 2 ในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2564  จะสามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือนมกราคม 2565 
- ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบเข็มที่ 2 ในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2564 จะสามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือนกุมภาพันธุ์ 2565 
- ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบเข็มที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564 จะสามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือนมีนาคม 2565 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากแผนดังกล่าวการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 23 ล้านโดสภายในมีนาคม 2565 นั่นเอง  แต่ตัวเลขนี้ยังเป็นข้อมูลเบื้องต้น เพราะยังมีวัคซีนอื่นๆอีก อย่างโมเดอร์นา มีทั้งวัคซีนบริจาค 2.5 ล้านโดส และวัคซีนที่องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้แทนจัดหาให้ทางเอกชนอีก แต่ที่ต้องจับตามอง คือ ยังมีวัคซีนป้องกันโควิดของคนไทย ทั้งของจุฬา มีวัคซีน "ChulaCov19” โดยศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวัคซีน "ใบยา" ของดย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ  และวัคซีน "HXP–GPOVac"  จากองค์การเภสัชกรรม ร่วมกับมหิดล  รวมทั้งยังมีวัคซีนชนิดพ่นจมูกของทางสวทช.อีก  ซึ่งในปี 2565 เมื่อผ่านการทดลองทั้งหมดจะสามารถผลิตและนำมาใช้ได้

 

ส่วนสูตรการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ที่ผ่านการพิจารณาไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย

-ซิโนแวค+ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม+ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไวรัลแวกเตอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา โดยให้ฉีดตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป หลังเข็มที่ 2
-แอสตร้าฯ + แอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 2 
-ไฟเซอร์+ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา-โมเดอร์นา ให้ฉีดเข็มที่ 3 ด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 2

ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ 

-  ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม + แอสตร้าฯ ให้ฉีดเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้า หรือไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 2 
- ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม + ไฟเซอร์ให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 2
- แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์ ให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 2 

อย่างไรก็ตาม ส่วนข้อมูลจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org