ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยอัตราการครองเตียงสีเหลืองและสีแดงลดลง แต่สีเขียวเพิ่มขึ้น! ขอความร่วมมือใช้ HI และ CI ก่อน เผยเหตุมีเตียงสีเขียวรองรับไว้กรณีผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 1 ปี หรือสูงอายุ 80-90 ปีอาการอาจเปลี่ยนแปลงเร็ว ด้าน สปสช. เผยช่องทางติดต่อหลังผลตรวจ ATK เป็นบวก

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงระบบการรักษาพยาบาลรองรับโอมิครอน ว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่ 48% ไม่มีอาการ ส่วนอาการของโอมิครอนที่พบมาก คือ ไอ 54% เจ็บคอ 37% และไข้ 29% จึงเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI/CI) เป็นหลัก ซึ่งการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลมี 3 แบบ คือ 1.มาตรวจที่ รพ. 2. ตรวจที่หน่วยบริการเชิงรุก ซึ่ง 2 แบบนี้หากผลบวกไม่ต้องติดต่อ 1330 โดย รพ.และหน่วยบริการเชิงรุกจะประเมินอาการ และ 3.การตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลบวกให้โทร 1330 ช่องทางที่ สปสช.เตรียมไว้ รวมถึงปลัด สธ.ยังสั่งการให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด เพื่อเป็นอีกช่องทางรองรับผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกในการติดต่อด้วย

"ทั้ง 3 รูปแบบเมื่อได้รับการประเมินอาการ หากไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก ก็จะให้ดูแลที่บ้าน (HI) ซึ่งหากหาก 1330 กระจายเคสให้คลินิกหรือ รพ.แห่งไหน ขอให้ติดต่อผู้ติดเชื้อกลับใน 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถทำ HI ได้หรือไม่สะดวกก็จะให้ไปดูแลที่ชุมชน (CI) ถ้าประเมินแล้วมีอาการมากหรือหากทำ HI CI แล้วอาการมากขึ้น จะมีการประเมินและจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังฮอสปิเทล รพ.สนาม หรือรพ.หลักต่อไป ซึ่งภาพรวมใช้เวลารักษา 10 วัน ไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนก็กลับบ้านได้" นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยเข้า รพ. คือ 1.ไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสมากกว่า 24 ชั่วโมง 2.หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที (ผู้ใหญ่) 3.ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% 4.โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง กลุ่ม 608 ที่มีความเสี่ยง หรือผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ และ 5.สำหรับในเด็ก อาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง

"ส่วนกรณีผลตรวจ ATK เป็นลบ แต่ยังมีอาการทางเดินหายใจให้ตรวจ ATK อีกครั้ง หากผลยังเป้นลบอยู่และมีอาการมากก็ให้ไปตรวจซ้ำที่คลินิกไข้หวัด รพ.ใกล้บ้าน แต่ผลลบไม่มีอาการ เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงต่ำก็เน้นการป้องกันตนเอง ถ้าเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัวเอง" นพ.สมศักดิ์กล่าว

 

00 เปิดรายละเอียดเด็กป่วยโควิด19

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนการดูแลผู้ป่วยโควิดในเด็กนั้น เราคาดว่าจะมีมากขึ้น จึงเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ไว้รองรับ และจัดผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาในการดูแลผู้ป่วยเด็กใน HI CI สำหรับกรณีข่าวที่มีการพาผู้ป่วยโควิดเด็กตระเวนหา รพ. ขณะนี้ได้รับเข้ามาดูแลแล้ว ทั้งนี้ ย้ำสถานพยาบาลทุกแห่งว่า หากมีผู้ป่วยโควิดเด็กไป รพ. ขอให้ช่วยรับไว้ก่อน ซึ่งเรามีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กให้คำปรึกษา ส่วนการเตรียมเตียงสำหรับแรงงานต่างด้าว เน้นย้ำให้ทำ Factory Isolation ทั้งโรงงาน หรือแคมป์คนงานทั้งหลาย ซึ่ง กทม.เตรียม CI สำหรับแรงงานต่างด้าวไว้ 1 แห่ง แต่หากมีการติดเชื้อมากขึ้นก็พร้อมขยายโซนละแห่ง

ส่วนอัตราการครองเตียง ซึ่งปัจจุบันมีเตียงประมาณ 1.78 แสนเตียง ภาพรวมช่วงต้น ม.ค.มีการครองเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 โดยภาพรวมประเทศช่วงสิ้นปีมีการครองเตียง 11% วันที่ 9 ม.ค.เพิ่มเป็น 22.7% ส่วน กทม. สิ้นปีอยู่ที่ 12.2% วันที่ 9 ม.ค.เพิ่มเป็น 30.7% แต่เตียงสีเหลืองและสีแดงมีการครองเตียงลดลง ที่เพิ่มขึ้นคือเตียงสีเขียว ดังนั้น จึงขอความร่วมมือใช้ HI CI ก่อน แต่ที่ต้องมีเตียงสีเขียวไว้ เพื่อรองรับ เช่น กรณีผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 1 ปี หรือสูงอายุ 80-90 ปีที่หากติดเชื้อแล้วอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว แพทย์อาจขอให้แอดมิทไว้ก่อน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาประเมินเป็นรายๆ ทั้งนี้ ย้ำว่าหากติดเชื้อแล้วดูแลด้วย HI/CI First จะทำให้เตียงเพียงพอ ซึ่งระบบ HI จะมีการส่งอาหารและยาตามแนวทางการรักษา โดยฉบับล่าสุด หากไม่มีอาการ แพทย์จะยังไม่ให้ยา แต่ถ้าเริ่มมีอาการจะจ่ายฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเมื่อให้หลังมีอาการไม่เกิน 3-4 วันได้ผลดี

เมื่อถามว่าต้องขยาย รพ.สนามต่างจังหวัดหรือไม่ นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เราเน้น HI/CI เพราะครึ่งหนึ่งของโอมิครอนไม่มีอาการ ส่วนปอดอักเสบพบน้อยมาก อย่างผู้ป่วย 100 รายแรกเราพบ 7 ราย ทั้งยังไม่พบออกซิเจนในเลือดลดลง ดังนั้น การขยาย รพ.สนามยังไม่มีความจำเป็น แต่ใช้ HI/CI First ทำให้บุคลากรสามารถดูคนไข้หนักได้ตามความจำเป็น ส่วนการขยาย รพ.สนามอาจทำในพื้นที่ที่มีปัญหา อย่างบางจังหวัดฉีดวัคซีนน้อย ทำให้คนเข้า รพ.มากกว่าพื้นที่อื่น ก็เป็นไปตามแต่ละพื้นที่

ถามต่อว่าอาการในเด็กที่ติดโอมิครอนต่างกับผู้ใหญ่อย่างไร นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เด็กกับผู้ใหญ่อาการต่างกันไม่มาก แต่เด็กอาจมีเรื่องของซึม ดูดนม หรือกินอาหารน้อยลง ต้องสังเกต ที่พบในเด็กเยอะคือท้องเสีย ถ่ายเหลว 20-30% ต้องคอยหมั่นสังเกตอาการ ทั้งนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หากผลบวกขอให้ไปพบแพทย์เพื่อรับประเมินอาการทุกราย ซึ่งเรามีจัดทีมหมอเด็กเป็นที่ปรึกษาสำหรับแต่ละ รพ. เพื่อประเมินอาการว่าต้องเข้ารักษาที่ รพ.หรือไม่ โดยย้ำว่าไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.ทุกคน ขึ้นกับการประเมินอาการแรกรับ

 

00 สปสช.เผยขั้นตอนหากตรวจ ATK  เป็นบวก

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ประชาชนที่มีผลตรวจโควิด 19 เป็นบวก ทั้งจากการตรวจด้วย ATK หรือโดยหน่วยบริการ และยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา สามารถติดต่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ สายด่วน 1330 ต่อ 14 ตลอด 24 ชั่วโมง, เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th เพื่อกรอกข้อมูลและแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ และแอปพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน @nhso ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา หากไม่มีข้อห้าม เช่น ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะได้รับคำแนะนำให้เข้าระบบการรักษาแบบ HI และ CI โดยจะมีการติดตามอาการโดยบุคลากรทางการแพทย์ และนำอาหารวันละ 3 สามมื้อ ,ยาที่จำเป็น, อุปกรณ์ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน ใช้เวลาในการรักษาตัว ประมาณ 10 วัน ระหว่างรักษาตัวหากผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง จะนำเข้าสู่ระบบรักษาในขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ระบบสายด่วน 1330 รองรับสายเข้าพร้อมกันได้ทั้งหมด 3,000 สาย มีเจ้าหน้าที่รับสายจำนวน 300 คน ตลอด 24 ชั่วโมง ทั่วประเทศ ซึ่งระยะต่อไปหากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มจำนวนบุคลากรเพื่อรองรับให้เพียงพอต่อการให้บริการ โดยข้อมูล 24 ชั่วโมงล่าสุด มีผู้โทรศัพท์เข้ามาขอเตียงทั้งหมด 1,054 ราย จากสายโทรศัพท์จำนวน 8,000 ราย ขอให้ความมั่นใจว่าในมีความพร้อมในการให้บริการ โดยไม่มีสายตกค้างหรือตกหล่น พร้อมเตรียมทดลองระบบหากมีผู้โทรเข้าพร้อมกันจำนวน 20,000 สาย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org