ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงแล้ว! จ่ายเงินคงค้างรักษาผู้ป่วยโควิด 5.1 หมื่นล้านบาทของปี 64 ชี้เป็นเพราะขั้นตอนการขอเงินกู้ และระบบต่างๆ แต่ล่าสุดวานนี้(11 ม.ค.65) โอนจ่ายหน่วยบริการแล้ว ส่วน สปส. เตรียมจ่ายเงินค้าง 200 ล้านภายใน 1 สัปดาห์ ด้านเลขาฯ สปสช.จัดระบบข้อมูลใหม่ให้รวดเร็ว ลั่นจ่ายได้ไม่เกิน 2-4 สัปดาห์

ตามที่ระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด19 ในปัจจุบันมุ่งการรักษากลุ่มไม่มีอาการอันดับแรกรักษาที่บ้านด้วยระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation(CI) แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีการเบิกจ่ายเงินว่า ที่ผ่านมาค่อนข้างล่าช้า 

เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus  ว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation(CI) ในเขตกทม. เพื่อให้บริการผู้ป่วยโควิดระลอกใหม่นั้น มีเสียงสะท้อนจากหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การเบิกจ่ายเงินโดยเฉพาะสิทธิประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง รวมทั้งกรณีต่างด้าว มีความล่าช้ามาก  โดยในปัจจุบันผลงานตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการจัดสรร โดยขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ภาครัฐ ดำเนินการจ่ายเงินตรงนี้ หรือหากเป็นไปได้ ให้ทางเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ยืมเงินทดลองจ่ายมาจ่ายให้หน่วยบริการโดยด่วน 

ล่าสุด  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับผู้สื่อข่าว Hfocus เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงกับคลินิก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่เข้าใจว่าเมื่องบประมาณยังไม่ได้รับการจัดสรรไปถึงก็ต้องมีความกังวลใจ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มีการดำเนินการจัดสรรงบประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว แบ่งออกเป็นเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินค้างจ่ายช่วงปีงบประมาณ 2564 และอีก 3.1 หมื่นล้านบาท เป็นเงินค้างช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. 2564  ทั้งหมดได้โอนจ่ายแล้ว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า  จริงๆการจ่ายเงินจะประมาณ 2 สัปดาห์ เพียงแต่สาเหตุที่มีการจ่ายช้านั้น สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ประมาณก.ค. - ก.ย. 2564การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดมีจำนวนมาก  ทำให้งบไม่พอ จึงต้องมีการของบฯเงินกู้ ซึ่งพอใกล้ๆสิ้นปีงบประมาณจะเป็นช่วงระหว่างรอยต่อปี 2564 และ 2565 รัฐบาลกำลังพิจารณาตัวเลขเงินกู้ จึงต้องรอขั้นตอนธุรการ มีผลให้ช่วงหนึ่งงบมาช้า ประกอบกับการของบประมาณนั้น ต้องมีการเรียกหนี้มาก่อน จึงจะไปของบได้ ไม่ใช่ว่าจะของบฯมาตั้งไว้กับเรา แล้วเบิกได้ทันที 

 "ด้วยเหตุนี้การจ่ายเงินจึงล่าช้า แต่ตอนนี้เงินก้อนทั้งหมดประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ทางสปสช.ได้จ่ายไปหมดแล้วเมื่อวานนี้(11 ม.ค.65) " เลขาฯ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ขณะนี้จะมีการปรับระบบให้เร็วขึ้น เพราะเดิมข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วยกว่าจะมาถึง สปสช. ต้องรอให้ผู้ป่วยออกจากระบบการรักษาก่อน แต่สปสช.ได้ตั้งทีมพิเศษติดตามข้อมูล ว่า หากให้บริการผู้ป่วย ข้อมูลจะส่งตรงมาที่ระบบสปสช.ทันที ทำให้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สปสช.จำเป็นต้องตรวจสอบก่อนจ่ายเงิน  อย่างน้อยคือ การโทรศัพท์สอบถามผู้ป่วยว่าได้รับบริการหรือไม่ ได้อาหาร ได้ยาอย่างไร เป็นต้น ซึ่งขณะนี้สปสช.ยังตั้งกติกาว่า   ผู้ป่วยโควิดที่เข้า HI  ให้เพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชันไลน์ (ADD LINE)  สปสช. จะทำให้ทราบทันทีว่าได้เข้ารับบริการ  โดยในสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับหน่วยบริการถึงทีมพิเศษติดตามข้อมูลดังกล่าว

"หลังจากนี้จากการปรับระบบต่างๆ เราคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้หน่วยบริการได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์  อย่างช้าที่สุดประมาณ 1 เดือน โดยหากมีการเรียกหนี้มา และถ้าเรามีเงินสดในมือเราอาจออกก่อน แต่ก็ต้องมีเงื่อนไข ว่า  ต้องให้ครม.อนุมัติเงินกู้  และเรามีเงินสด ก็จะสามารถจ่ายก่อนได้" เลขาฯ สปสช. กล่าว และว่า หากเรียกเก็บเงินมาที่ สปสช. วันนี้  และได้รวบรวมส่งเข้าครม. และครม.อนุมัติ เราก็จะสามารถจ่ายก่อนได้  

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีประเด็นว่า สิทธิอื่นๆ อย่างประกันสังคมจ่ายล่าช้า นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประกันสังคมก็ไม่ได้ต้องการจ่ายช้า  หรือไม่ยอมจ่าย เพียงแต่มีเรื่องข้อมูล การตรวจสอบตามระบบ ซึ่งกรณีรอยต่อการเชื่อมข้อมูลระหว่างสปสช.และสปส.นั้น ขณะนี้เราได้มีการแก้ปัญหาแล้ว โดยการทำข้อมูล จัดระบบต่างๆ สปสช.เป็นผู้ดูแล ส่วนสิทธิอื่นๆก็จะจ่ายเงินตามสิทธิผู้ป่วย เพียงแต่ที่ผ่านมาล่าช้า เพราะต้องมีใบรับรอง เอกสารต่างๆ แต่เนื่องจากโรคโควิด จึงปรับให้ไม่ต้องใช้ เพื่อลดขั้นตอน โดยคาดว่าสปส. จะเงินค้างประมาณ 200 ล้านบาทได้ภายใน 1 สัปดาห์นับจากนี้

เมื่อถามถึงกรณีข้อกังวลเรื่องคลินิกชุมชนอบอุ่นบางแห่งห่วงเรื่องการโอนงบช้า อย่างงบสร้างเสริมสุขภาพ ฯลฯ นพ.จเด็จ กล่าวว่า การโอนส่วนนี้เป็นไปตามขั้นตอนปกติ

 

อนึ่ง  เลขาธิการ สปสช. ได้ดำเนินการลงนามเพื่ออนุมัติโอนค่าบริการฯ สำหรับเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 แล้วให้กับหน่วยบริการแล้วรวมจำนวน รวม 21,203,336,431.67 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าบริการตรวจคัดกรองและรักษาพยาบาลจำนวน 17,401,609,557.07 บาท ค่าบริการระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation/ Community Isolation : HI/CI) จำนวน 31,640,000 บาท และค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด-19 (UCEP COVID - 19) จำนวนเงิน 3,770,086,874.60 บาท

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org