ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ณ ต้นเดือนมกราคม 2565 กระแสการพูดถึงเรื่องการสิ้นสุดของ "การระบาดใหญ่" (Pandemic ) เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ แม้โลกจะเผชิญกับการระบาดที่หนักหน่วงมากในหลายประเทศแบบที่ไม่เคยพบอัตราการติดเชื้อที่สูงขนาดนี้มาก่อน บางประเทศสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ด้วยซ้ำ แต่ "ความเชื่อ" เรื่องอาการที่ไม่รุนแรงของเชื้อโอไมครอน ทำให้ทั้งๆ เกิดเวฟที่รุนแรงขนาดนี้ ก็ยังมีผู้คนพูดถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ "ภาวะโรคประจำถิ่น" (Endemic) ซึ่งหมายถึงจุดจบของการระบาดใหญ่ที่ยื้ดเยื้อมาถึง 3 ปี

แต่เรื่องนี้กลายเป็นวิวาทะขึ้นมา เพราะดูเหมือนว่าผู้ที่ส่งเสริมแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะโรคประจำถิ่นคือนักการเมือง (หรือผู้เชี่ยวชาญที่สังกัดหน่วยงานทางการเมือง) เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือหน่วยงานด้านสาธารณสุขของโลกโดยตรง นั่นคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ก็ยังมีเสียงสนับสนุนและคัดค้านจากบุคคล/องค์กรกลุ่มอื่นๆ ด้วย

ฝ่ายสนับสนุน

1. วันที่ 10 มกราคม 2565 รายแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องนี้ในช่วงที่เกิดเวฟที่รุนแรงของการระบาดของโอไมครอนคือ นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ของสเปน ที่กล่าวว่าเขาต้องการให้เจ้าหน้าที่ยุโรปจัดประเภทการระบาดใหญ่ในปัจจุบันว่าเป็น "โรคประจำถิ่น" เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง นอกจากนี้ เขากำลังขอให้นำเอาระบบเฝ้าระวังคล้ายไข้หวัดใหญ่มาแทนที่ระบบติดตามการระบาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงการลดความเข้มข้นของการตรวจสอบการติดเชื้อหรือการควบคุมทางสังคมลงโดยทำให้โควิด-19 มีลักษณะเหมือนการระบาดตามฤดูกาลของไข้หวัดใหญ่ โดยซานเชซกล่าวว่า “ผมเชื่อว่าเรามีเงื่อนไขในการเปิดการอภิปรายในระดับเทคนิคและระดับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอย่างช้าๆ ด้วยความระมัดระวัง แต่ในระดับยุโรปด้วย เพื่อเริ่มต้น การประเมินวิวัฒนาการของโรคนี้ด้วยตัวแปรที่แตกต่างจากที่เรามีจนถึงปัจจุบัน" (1)

2. แต่ละประเทศในยุโรปใช้นโยบายการควบคุมโรคที่เป็นอิสระได้ เช่น จากรายงานข่าวของ El Pais หนังสือพิมพ์ยอดนิยมของสเปนที่เผยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสเปนได้ทำงานเป็นเวลาหลายเดือนแล้วในการปรับสถานการณ์เป็นการเฝ้าระวังแบบเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ โดยภายใต้ระบบใหม่นี้ จะไม่มีการรายงานการติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยใดๆ อีกต่อไป และจะไม่มีการทดสอบใดๆ เลยแม้แต่น้อย โคโรนาไวรัสจะถูกตรวจสอบเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ (1) อย่างไรก็ตาม ประเทศสเปนเป็นส่วนหนึ่งของสภาพยุโรป เรื่องใหญ่ขนาดการลดระดับการระบาดใหญ่ยังต้องอาศัยการหารือในระดับภูมิภาคด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีของสเปนเอ่ยถึง "ระดับยุโรป" ซึ่งหลังจากนั้นวันที่ 11 มกราคม สำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) โดยมาร์โก คาวาเรลี หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์วัคซีนกล่าวว่า การแพร่กระจายของโอไมครอนกำลังผลักดันให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มนุษยชาติสามารถอยู่ร่วมได้ แม้ว่าตอนนี้จะยังคงเป็นโรคระบาดใหญ่อยู่ก็ตาม (2)

3. ที่จริงแล้วก่อนที่นายกรัฐมนตรีของสเปนจะเอ่ยถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น สหราชอาณาจักรมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาก่อน แต่เนื่องจากสหราชอาณาจักรได้แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแล้ว ดังนั้นการพูดถึงแนวทางนี้จึงเป็นเอกทเศมากกว่าการทำพร้อมๆ กันหลายๆ ประเทศ ผู้ที่พูดถึงการเปลี่ยนผ่านในช่วงไล่เลี่ยกับนายกรัฐมนตรีของสเปนคือ นาดิม ซาฮาวี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสหราชอาณาจักรได้กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ Sky เมื่อวันที่ 9 มกราคม ว่า "ผมหวังว่าเราจะเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจหลักกลุ่มแรกๆ ที่จะแสดงให้โลกเห็นถึงวิธีที่เราเปลี่ยนจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่น “แล้วจัดการกับสิ่งนี้ ไม่ว่ามันจะยังคงอยู่กับเรานานแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นห้าหก เจ็ด สิบปี" (3)

4. ศาสตราจารย์เดวิด เฮย์มันน์ จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าวในงานสัมนา Chatham House เมื่อวันที่ 10 มกราคม ว่า “หากยังไม่พ้นโรคระบาดและเป็นโรคประจำถิ่น ก็ยังถือว่าสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ที่สุดจากการหลุดพ้นการระบาดใหญ่” พร้อมกับอ้างตัวเลขล่าสุดจากหน่วยงานสถิติของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ประเมินว่า 95% ของประชากรในอังกฤษมีแอนติบอดีต่อการติดเชื้อ ไม่ว่าจะโดยการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อยู่ในหอผู้ป่วยหนักในตอนนี้ ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นเขาจึงกล่าวว่า “ขณะนี้ประเทศต่างๆ ต่างเห็นว่าภูมิคุ้มกันของประชากรเพิ่มขึ้น … และนั่นดูเหมือนว่าจะสะกดไวรัสไว้ได้ ไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตอย่างร้ายแรงในประเทศที่มีภูมิคุ้มกันของประชากรสูง” (4)

5. นูบาร์ อาเฟยาน (Noubar Afeyan) ผู้ร่วมก่อตั้ง Moderna Inc. บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ชั้นนำของโลกกล่าวเมื่อวันที่ 14 มกราคม ว่า การระบาดใหญ่อาจเริ่มเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่นในปี 2565 โดยเขากล่าวกับช่องโทรทัศน์ Bloomberg ว่า “ปี 2022 (พ.ศ. 2565) อาจเป็นปีที่โรคระบาดใหญ่เข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น แต่จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดอะไรขึ้นและการตัดสินใจที่เกิดขึ้นทั่วโลก” พร้อมกล่าวว่า แม้ว่าโอไมครอนจะแพร่เชื้อได้สูง แต่ในทางกลับกัน มันก็มีผลน้อยกว่าในแง่ของความร้ายแรงของโรค (5)

 

ฝ่ายคัดค้าน

1. ฮานส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปของ WHO ประจำยุโรปกล่าวว่า การที่ประเทศต่างๆ พยายามทำให้การระบาดใหญ่กลายเป็นโรคประจำถิ่น ถือเป็นเรื่องที่ "หลุดจากเป้าหมาย (หรือความเป็นจริง)" พร้อมกับเตือนว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรยุโรปอาจติดเชื้อโอไมครอนภายในสองเดือนข้างหน้า

“เนื่องจากการแพร่กระจายในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” จนขณะนี้ยุโรปกำลังเผชิญกับอัตราการรักษาในโรงพยาบาลที่สูงขึ้น ขณะที่แคเธอรีน สมอลล์วูด เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายฉุกเฉินของ WHO ในยุโรปกล่าวว่าในขณะที่โคโรนาไวรัสอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น “ในระยะเวลาอันควร” แต่การเปลี่ยนแปลงในปี 2565 นั้น “ยากนิดหน่อย” ซึ่งหมายความว่ามันจะเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคต แต่คงเป็นไปได้ยากในปีนี้ (6)

2. ศาสตราจารย์คริสตินา เพจเกล สมาชิกของ Independent SAGE บอกกับ Sky News กล่าวว่า "เราเพิ่งมีการติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในประชากรของเรา (สหราชอาณาจักร) อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นเราจึงไม่อยู่ในขั้นตอนของโรคประจำถิ่นถิ่น"

และชี้ว่า "คุณไม่สามารถพูดได้ว่าเรากำลังเปลี่ยนจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่น นั่นคือกำหนดเวลาของไวรัส ไม่ใช่กำหนดเวลาของเรา" พร้อมกับชี้ว่าการเป็นโรคประจำถิ่นหมายความว่าโควิดก็ยังมีอยู่ แต่จะไม่เกิดการติดเชื้อแลบบทวีคูณเมื่อไม่ใช้มาตรการควบคุมแล้ว เช่นเดียวกับ ดร.ปีเตอร์ อิงลิช อดีตที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของอังกฤษด้านการควบคุมโรคติดต่อ กล่าวเสริมกับ Sky News ว่า คำจำกัดความที่ยอมรับเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น หนึ่งในนั้นคืออัตราการติดโรคที่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้น และมันจึงไม่ใช่ภาวะโรคประจำถิ่นแน่นอน (3)

3. ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 นาเนตต์ โคเซโร ประธานในระดับภูมิภาคโลกของ Pfizer Vaccines กล่าวว่า “เราเชื่อว่าโควิดจะเปลี่ยนไปเป็นสถานะโรคประจำถิ่น ที่อาจเกิดขึ้นภายในปี 2024 (พ.ศ. 2567)” ขณะที่ มิคาเอล ดอลสเทน หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์กล่าวว่า "เรื่องนี้ (การเป็นโรคประจำถิ่น) จะเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างไรขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของโรค และขึ้นกับว่าสังคมใช้วัคซีนและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด และการกระจาย (วัคซีน) อย่างเท่าเทียมกันไปยังสถานที่ที่อัตราการฉีดวัคซีนต่ำ" พร้อมเตือนว่า “การเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่อาจส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง” (7)

ดอลสเทนทำนายว่า “ดูเหมือนว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า บางภูมิภาคจะเปลี่ยนไปใช้โมเดลโรคประจำถิ่น ในขณะที่ภูมิภาคอื่นจะยังคงอยู่ในโหมดระบาดใหญ่ต่อไป” (7)

 

อ้างอิง

1. Brady, Erin. (1/10/22). "Spanish PM Wants to Treat COVID as 'Endemic Illness,' Move to Tracking It Like the Flu". Newsweek.

2. "Omicron pushing Covid out of pandemic phase: EU agency". (11/01/2022). AFP.

3. Keay, Lara. (1/10/22). "COVID: When will the UK 'transition from pandemic to endemic' - and how would we learn to live with coronavirus?". Sky News.

4. Ellyatt, Holly. (1/12/22). "UK could be among the first countries to emerge from Covid pandemic, top scientist says". CNBC.

5. Paton, James. (1/14/22). "Pandemic to endemic? Moderna chair says it could happen this year". Bloomberg.

6. Paolo Mancini, Donato. Dombey, Daniel. (1/11/22). "WHO says too early to treat Covid as endemic, predicts half of Europe could get infected". FT.

7. Miao, Hannah. (12/17/21)."Pfizer executives say Covid could become endemic by 2024". CNBC.

ภาพ Suyash.dwivedi / commons.wikimedia