ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม มาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าการระบาดใหญ่จะไม่สิ้นสุดแม้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนลดลงในบางประเทศ พร้อมกับเตือนว่าการติดเชื้อในระดับสูงทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สายพันธุ์ใหม่เนื่องจากการกลายพันธุ์ของไวรัส

“เราได้ยินหลายคนเสนอว่าโอมิครอนเป็นสายพันธุ์สุดท้าย ว่ามันจะจบลงหลังจากนี้ และนั่นไม่ใช่แบบนั้น เพราะไวรัสนี้กำลังแพร่กระจายในระดับที่รุนแรงมากทั่วโลก” เคอร์คอฟ กล่าวในระหว่างการอัพเดทโคโรนาไวรัสในเจนีวา

ในขณะที่ ดร.บรูซ เอิลเวิร์ด เจ้าหน้าที่อาวุโสของ WHO เตือนว่าการแพร่เชื้อในระดับสูงทำให้ไวรัสมีโอกาสแพร่พันธุ์และกลายพันธุ์มากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้น เขายังกล่าวว่าสิ่งที่พบเห็นในเวลานี้ (ณ ช่วงกลางเดือนมกราคม 2565) คือการติดเชื้อที่ไม่สามารรถควบคุมได้อันเกิดจากสายพันธุ์ใหม่ๆ และยังมีความไม่แน่นอนที่รอให้จัดการในภายหน้าอีก (1)

คำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญจาก WHO หมายความว่ายังมีโอกาสเกิดการระบาดที่เลวร้ายในลักษณะนี้อีก เป็นคำเตือนที่ตรงกันข้ามกับท่าทีของบางประเทศโดยเฉพาะในยุโรปที่ยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดแทบจะโดยสิ้นเชิง เช่น อังกฤษและสก็อคตแลนด์ ทำให้เกิดความคาดหวังว่าการระบาดของโอมิครอนอาจเป็นการระบาดที่รุนแรงครั้งสุดท้าย ความเชื่อนี้ได้รับแรงหนุนจากข้อเสนอแนะที่ว่าโอมิครอนมีอาการไม่รุนแรงนัก และอาจเป็นกุญแจที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) สู่สถานะโรคประจำถิ่น (Endemic)

แต่ตอนนี้เริ่มมีเงื่อนไขของการเปลี่ยนผ่านขึ้นมาแล้ว เช่น ดร. แอโทนี ฟอซี ที่ปรึกษาทางการแพทย์ของทำเนียบขาวเกี่ยวกับสถานการณ์โคโรนาไวรัสกล่าวกับ Davos Agenda ซึ่งเป็นงานประชุมเสมือนจริงที่จัดโดย World Economic Forum ว่าโอมิครอนสามารถแพร่เชื้อสู่คนจำนวนมากจนโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น “แต่นั่นจะเป็นเช่นนั้นก็ต่อเมื่อเราไม่ได้เจอกับสายพันธุ์อื่นที่หลีกเลี่ยงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์ก่อนหน้า” (2)

ไม่กี่วันหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เอ่ยถึงโอกาสที่จะมีการกลายพันธุ์ก็มีรายงานข่าวเรื่องการปรากฏตัวของ Omicron sub-lineage หรือสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน (บางครั้งเรียกว่า Omicron BA.2 หรือ Omicron subvariant) โดยสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ได้กำหนดให้ BA.2 เป็น “สายพันธุ์ภายใต้การตรวจสอบ” (variant under investigation)

ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ จำนวนผู้ป่วยในปัจจุบันยังคงต่ำมาก โดยมีเพียง 53 กรณีที่ระบุในสหราชอาณาจักรภายในวันที่ 10 มกราคม ตามรายงานของหน่วยงานดังกล่าว แต่ในเดนมาร์กสายพันธุ์ย่อยนี้คิดเป็นครึ่งหนึ่งของเคสโอมิครอนในประเทศ อย่างไรก็ตาม การศึกษาในประเทศเดนมาร์กไม่พบความแตกต่างในจำนวนการรักษาในโรงพยาบาลระหว่าง "โอไมครอนดั้งเดิม" และ BA.2 (3)

แม้ว่าจะยังไม่แสดงพิษสงออกมา แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าไวรัสยังไม่ยอมหยุดวิวัฒนาการง่ายๆ แต่ก็ยังไม่ถึงกับทำลายความคาดหวังเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่นไปเสียทีเดียว เพียงแต่ว่า BA.2 เป็นวิวัฒนาการของสายพันธุ์ย่อย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นเตือนไว้ ซึ่งหมายถึงการกลายพันธุ์รูปแบบใหม่โดยสิ้่นเชิง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเรายังไม่มีทางรู้ว่ามันจะ "อ่อน" เหมือนโอมิครอน หรืองว่าจะ "ร้าย" เหมือนเดลตา

กระนั้นก็ตาม ณ เวลาที่พบเชื้อแขนงย่อยนี้ก็ยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันว่าตกลงแล้ว BA.2 ควรเป็นที่สิ่งที่ต้องกังวลหรือไม่? (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมันคือการกลายพันธุ์อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นได้เตือนเอาไว้หรือไม่?) นักวิจัยบางคนเชื่อว่า BA.2 นั้นแตกต่างจากสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิมของมากจนองค์การอนามัยโลกควรระบุว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) ซึ่งเป็นนิยามที่สงวนไว้สำหรับสายพันธุ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นและควรจะมีการตั้งชื่อใหม่เป็นชื่อเฉพาะให้มัน หมายความว่าไม่ควรเป็นแขนงย่อย (subvariant/sub-lineage) อีก แต่เป็น new variant เพื่อเตรียมรับมืออย่างจริงจังต่อไป

มาถึงประเด็นสำคัญก็คือ วัคซีนจะไปทิศทางไหนกันต่อ? ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีความแน่นอนระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานการณ์โรคประจำถิ่นและยังมีโอกาสที่จะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมา

ประเด็นที่ถกเถียงกันในตอนนี้และยังหาข้อสรุปไม่ได้คือควรจะฉีดเข็มกระตุ้นหรือไม่ ซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ในโลกตะวันตกที่มีกระแสคัดค้านรุนแรงถึงกับที่บางรัฐบาลต้องออกเป็นคำนสั่งบังคับให้ประชาชนต้องรับเข็มกระตุ้น แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผลิตวัคซันอย่างแอลเบิร์ท เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ Pfizer ก็ยังกล่าวว่าวัคซีน 2 โดสไม่เพียงพอที่จะรับมือกับโอมิครอน จนทำให้เขาถูกตั้งคำถามว่าเขากำลังกังขากับวัคซีนที่บริษัทของเขาผลิตเองหรือไม่ ต่อมาตัวแทนของ Pfizer ชี้แจงว่าเบอร์ลาอ้างถึงงานวิจัยที่เสนอแนะว่า "วัคซีนโควิดของ [Pfizer-BioNTech สองโดส] อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์โอมิครอน" แต่เชื่อว่าคนที่ได้รับวัคซีนจะได้รับการป้องกันอาการร้ายแรงได้อยู่ (4)

คำอธิบายของตัวแทนบริษัทก็ไม่ได้ดีไปกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ยังใช้คำว่า "คิดว่า/เชื่อว่า" (were thought) การส่งสารที่กำกวมออกไปแบบนี้มีผลสองทางคือ 1. ผู้ที่กังวลอาจจะยอมฉีดเข็มกระตุ้น หรือ 2. ผู้ที่กังขาต่อวัคซีนอาจใช้คำกล่าวนี้มาย้ำว่าฉีดวัคซีนไปก็ไม่ได้ผล (แม้จะย้ำกันมาตลอดเวลาว่าวัคซีนช่วยลดอาการรุนแรงได้) ปรากฏว่ามีกลุ่มที่กังขาวัคซีนนำสารนี้ไปใช้อ้างว่า "วัคซีนไม่ได้ผล" ไปเรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้เบอร์ลาให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศส BFM TV โดยกล่าวว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสของ Pfizer 3 โดสและมีแนวโน้มว่าจะต้องให้วัคซีนกระตุ้นประจำปี แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะต้องรับวัคซีนทุก 4 เดือน เด็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันพวกเขา ประสิทธิผลในเด็กดีมาก ดีมากๆ” (5) คำกล่าวนี้ตอกย้ำวาทะข้าวต้นของเบอร์ลาว่า 2 เข็มไม่พอและ 3 ก็อาจจะไม่พอ เพราะต้องฉีดกระตุ้นกันไปเรื่อยๆ

จากข้อจำกัดของวัคซีนที่เกิดขึ้่นและชัดขึ้นในระยะหลัง ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกร้องให้มีการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในเทคโนโลยีวัคซีน นั่นคือการสร้าง "วัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสแบบครอบจักรวาล" ที่สามารถต่อต้านไวรัสทุกชนิดที่รู้จักซึ่งทำให้เกิดโควิด-19 และแม้แต่สายพันธุ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เสริมภูมิคุ้มกันในระยะยาวและลดความเสี่ยงของการระบาดใหญ่ที่คล้ายคลึงกันในอนาคต (6)

เดโบราห์ ฟุลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามใช้สองแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหานี้ แนวทางที่ 1คือ ฝึกร่างกายให้รู้จักโมเสคของโปรตีนสไปค์จากหลากหลายสายพันธุ์ แนวทางที่ 2 คือ ฉีดวัคซีนป้องกันโดยเล้งเป้าหมายที่ต่างๆ ของโคโรนาไวรัสที่ไม่กลายพันธุ์ แต่มนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละแนวทางมีข้อจกัดของมัน และนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามมานานหลายปีแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แบบครอบจักรวาล (6)

แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "วิสัยทัศน์" ของซีอีอีบริษัท Pfizer เกี่ยวกับการระบาด โดยเบอร์ลากล่าวกับ BFM TV ว่า “สถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุด” คือ ไวรัสโคโรน่าจะแพร่ระบาดในอีกหลายปีข้างหน้า เขาเชื่อว่าคลื่นของการติดเชื้อในปัจจุบันจะเป็นคลื่นสุดท้ายที่ต้องมีข้อจำกัดเพื่อควบคุมการระบาด (5)

ประเด็นก็คือ ระหว่างความเชื่อที่ว่า 1. ยังอาจมีเชื้อกลายพันธุ์อีกที่รุนแรงขึ้น 2. มีเชื้อกลายพันธุ์ที่อ่อนแรงลง 3. สามารถเปลี่ยนไปสู่ภาวะโรคประจำถิ่นได้ ผู้บริหาร Pfizer มองว่ามีทางเลือกที่ 4. คือ การระบาดยังจะต่อเนื่องไปอีกหลายปี เพียงแต่มันไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะทางสังคม การเร่งตรวจเชื้อแบบถี่ยิบ ไปจนถึงการปิดประเทศ เราจะเห็นว่ามาตรการเหล่านี้เริ่มหายไปในบางประเทศ หากไม่หายไปครบทั้งหมด ก็ค่อยๆ ถูกยกเลิกไปทีละน้อย

หากในอนาคตอันใกล้ "วัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสแบบครอบจักรวาล" กลายเป็นความจริงขึ้นมา เราก็ไม่จำเป็นต้องเถียงกันอีกว่าจะต้องฉีคกระตุ้นทุกปีหรือไม่ หรือจะมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีโอกาสที่วัคซีนครอบจักรวาลจะสำเร็จ (โอกาสมีน้อยเทียบกับควาพยายามก่อนหน้านี้กับไข้หวัดใหญ่) บางทีธรรมชาติอาจมีทางออกรอให้เราอยู่แล้ว เหมือนกับตอนที่มนุษยชาติเผชิยกับโรคไข้หวัดสเปนจนล้มตายไปหลายสิบล้าน แต่แล้วจู่ๆ มันไม่ได้ลากยาวและ "หายไป" เสียอย่างนั้น

ผู้เชี่ยวชาญรู้ว่าไข้หวัดสเปนไม่ได้หายไปไหน แต่มันยังอยู่ เพียงแต่มันไม่ได้อาละวาดเหมือนเดิม มันเป็นปริศนาพอๆ กับเรื่องภูมิคุ้มกันที่มุนษย์เรายังไม่รู้เรื่องนี้กระจ่างนัก

 

อ้างอิง

1. Kimball, Spencer. (January 18, 2022). "WHO says omicron won’t be last Covid variant as global cases surge by 20% in a week". CNBC.

2. Caldwell, Travis. Yan, Holly. (January 18, 2022). "Omicron might mark the end of Covid-19's pandemic phase -- unless a certain scenario happens, Fauci says". CNN.

3. McFadden, Brendan. (January 21, 2022). "What is Omicron BA.2? New Covid sub-variant explained and how many cases have been found in the UK". iNews.

4. Schraer, Rachel. (January 20, 2022) "Covid: Did Pfizer's boss cast doubt on his own vaccine?"

5. TOI STAFF. (January 17, 2022). "Pfizer CEO: Virus will be here for years but this may be last wave with restrictions". The Times of Israel.

6. Irfan, Umair (January 19, 2022). "Could a universal Covid-19 vaccine defeat every variant?". Vox.

 

ภาพ Ministry of Health and Family Welfare / commons.wikimedia