ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขย้ำหากป่วยโควิดอาการไม่รุนแรงรักษา HI และ CI ตามสิทธิรักษาฟรีของแต่ละคน ส่วนหากอาการฉุกเฉินวิกฤตรักษาได้ทุกที่ 72 ชม.ตามโครงการยูเซป พร้อมเผยเกณฑ์ 6 ข้อเข้าข่ายวิกฤตอย่างไร ส่วนเบิกประกันเอกชนนั้น สบส.ส่งหนังสือคปภ.สัปดาห์นี้ย้ำชัด! รักษาโควิด HI – CI – Hospitel เบิกได้เพราะตามกม.อยู่ในรพ.

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 ก.พ. 2565 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงกรณีโรคโควิดพ้นโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) ว่า ยูเซป คือ ฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ใกล้บ้าน มีเจตนารมณ์ เพื่อดูแลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินวิกฤตจริงๆ เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ช็อก หายใจเร็ว หอบเหนื่อยมาก เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อ่อนแรงแขนขา เส้นเลือดออกในสมอง ถ้าเข้าอาการวิกฤตฉุกเฉินสามารถรักษาได้ใน 72 ชม. โดยเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตจะเป็นไปตามเกณฑ์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย 90 % เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นหลักหมื่นรายต่อวันก็จริง แต่ 90% มีอาการน้อย ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการติดเชื้อเดลตาในจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเท่ากัน อัตราการป่วยหนักลดลง 7 เท่า ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 7 เท่า เสียชีวิตลดลง 10 เท่า ดังนั้นจึงมีการพิจารณาปรับจาก UCEP มาเป็นระบบการรักษาตามสิทธิ โดยหากอาการไม่มากก็จะเข้ารักษาใน Home Issolation (HI) และ Commutity Issolation (CI ) ส่วนยูเซปจะสำรองให้คนไข้วิกฤตฉุกเฉิน ไม่ใช่แค่โควิด แต่รวมทั้งหมด

“สรุป คือ หากป่วยโควิดรักษาฟรี ตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากวันนี้ไปเข้ารพ.เอกชนที่หนึ่งและขอตรวจ โดยที่ไม่ได้มีอาการเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤต เมื่อตรวจแล้วผลบวก จะขอรักษา รพ.เอกชน อันนี้ต้องจ่ายค่ารักษาเอง” นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 3 หมื่นเตียงทั่วประเทศ เตียงสำหรับผู้ป่วยทั่วไป 1.3 แสนเตียง ซึ่งมีจำนวนหนึ่งเราสามารถปรับมาดูแลผู้ป่วยโควิดที่มีอาการมากได้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน หากเรามีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเข้าไปอยู่ สมมติ 1 วอร์ด มี 20 เตียง ให้คนติดเชื้อไปอยู่ 1 คน อีก 19 เตียงที่เหลือก็ต้องปล่อยว่างเพราะไม่สามารถเอาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไปอยู่รวมกันได้ ดังนั้นจึงต้องปรับตรงนี้เพื่อกันเตียงเอาไว้สำหรับผู้ที่มีอาการหนักจริง ๆ

 

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า การรักษาโควิดที่ผ่านมาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ารพ.ใหญ่ๆ โรงเรียนแพทย์ ทำให้รพ.เหล่านั้นไม่สามารถให้การรักษาโรคอื่นได้ เช่น ต้องชะลอการผ่าตัดโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิดมากขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 26 ม.ค.จึงมีการประชุมคณะกรรมการเห็นชอบให้มีการปรับการรักษาโควิดจากฉุกเฉินมาเป็นการรักษาตามสิทธิ และเข้าสู่การพิจารณา EOC กระทรวงสาธารณสุขก็เห็นชอบเช่นกัน พร้อมหารือร่วมกัน 3 กองทุน คือกองทุนบัตรทอง กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการถึงแนวทางการดูแล ประเด็นสำคัญคือเป็นการรักษาฟรี

กล่าวว่า ในส่วนของกองทุนสวัสดิการข้าราชการ สามารถเข้ารับการรักษาได้ในรพ.ของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศฟรี กองทุนบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาในรพ.รัฐ และสถานพยาบาลเครือข่ายทุกแห่งฟรี เช่น ผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรทองอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่มาทำงานที่ กทม. เมื่อติดโควิดก็สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเครือข่ายในกทม.

ส่วนผู้ประกันตน ทางสำนักงานประกันสังคมจะมีการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ เพื่อหารือถึงการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากว่ามีสถานพยาบาลเครือข่ายทั้งรัฐ และเอกชน ส่วนผู้ป่วยต่างด้าวจะมีรพ.ตามสิทธิผ่านการซื้อประกันสุขภาพอยู่แล้ว กรณีแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่รพ. หรือสถานพยาบาลของรัฐได้ สำหรับกรณีรักษาตัวใน HI สามารถโทรสายด่วน 1330 ได้ กรณีที่ไม่ได้ไปรักษาพยาบาลตามสิทธิ เช่น มีหลักประกันอยู่ในรพ.รัฐ แต่ประสงค์เข้ารับการรักษารพ.นอกสิทธิ อย่างเช่นรพ.เอกชน ในส่วนนี้ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายเงินเอง อาจจะมีการคุยกับรพ.เอกชนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอัตราค่ารักษาเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน

“กทม. ให้ติดต่อสายด่วน 1330 เพราะจะจัดเรื่อง HI รองรับ ส่วนเครือข่ายประกันสังคมติดต่อ 1506 อย่างไรก็ตาม กทม.จะเน้น 1330 จะเป็นผู้ดำเนินการเพื่อจัดการรักษาที่บ้าน หรือ HI เพราะอย่างที่ทราบอาการผู้ป่วยไม่มาก 80% แต่ในต่างจังหวัดให้ประสาน 1669 จะมีระบบจัดบริการไว้ให้” นพ.ธเรศ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  "สาธิต" ลั่นยังไม่สรุปโควิดพ้นยูเซป เริ่ม 1 มี.ค. หรือเลื่อน 1 เม.ย.นี้ ขอหารือเพิ่มเติม)

นพ.ธเรศ กล่าวถึงกรณีปัญหาบริษัทประกันสุขภาพ ไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาที่บ้าน หรือระบบ HI ว่า ขณะนี้ สบส.จะทำหนังสือส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิดที่ดูแลตัวเองที่บ้าน ที่ชุมชน ว่าจัดอยู่ในระบบการดูแลผู้ป่วยใน ของรพ.ตามระบบที่กระทรวงสาธารณสุขวางเอาไว้ ยืนยันว่า HI /CI เป็นหนึ่งในสถานพยาบาล จะอ้างเป็นเหตุไม่จ่ายค่าสินไหมไม่ได้

เมื่อถามว่ากรณีรักษาอยู่ HI แล้วอาการรุนแรงขึ้นไม่ต้องกังวลใช่หรือไม่ ระบบจะจัดรพ.จัดเตียงให้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากการเข้ารับบริการ HI จะมีสถานพยาบาลเป็นพี่เลี้ยง บางแห่งเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น บางแห่งเป็นรพ. หากอาการบ่งชี้เริ่มมากขึ้นก็จะติดต่อและส่งต่อให้รพ.คู่ปฏิบัติการต่อไป

นพ.ธเรศ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเติมกรณีจากเดิมกลไกยูเซปเดิมอาจมีบางอย่างไม่ครอบคลุม เช่น ชุด PPE ชุดป้องกันโรค เครื่องช่วยหายใจบางชนิดที่ใช้กับคนไข้โควิด ทางสบส.ได้รับมอบจากท่านปลัดสธ.จะจัดประชุมในการเพิ่มไอเทมต่างๆที่ไม่ครอบคลุม เพราะเป็นโรคใหม่ เพื่อให้คนไข้ที่เป็นโควิดแล้วเกิดฉุกเฉินวิกฤต ทางรพ.จะได้นำไปใช้เบิกจ่ายได้

เมื่อถามว่าจะเริ่ม 1 มี.ค.2565 หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนกรอบเวลาจะเริ่มเมื่อไหร่ ทางกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤต ตามประกาศกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมี 6 อาการ คือ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669 เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org