ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยในภาวะไตวายเรื้อรังที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต มีสิทธิเลือกวิธีการล้างไตด้วยตัวเอง ตามความเหมาะสมและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้สนับสนุนดูแลค่าใช้จ่ายตามสิทธิบัตรทองนั้น

เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และได้ข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับการฟอกไต สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จัดเสาวนา “เลือกวิธีล้างไต ได้ข้อมูลครบ พบผู้เชี่ยวชาญ” มุ่งหวังว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตได้นำไปประกอบการพิจารณาเลือกวิธีการฟอกไตแบบใด ให้เข้ากับตนเอง เนื่องจากการล้างไตแต่ละวิธีมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของผู้ป่วยแต่ละบุคคล และจำเป็นต้องมีการตัดสินใจร่วมกับแพทย์ที่ดูแลรักษา 

พญ.สมกัญญา ตั้งสง่า อายุรแพทย์โรคไต ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันการบำบัดทดแทนไตมีทั้งหมด 3 วิธี คือ

  1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
  2. การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis)
  3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney transplantion)

ประสิทธิภาพของการฟอกไต 

ปัจจุบันมีข้อมูลแล้วว่า ประสิทธิภาพของการฟอกไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้อง ได้ผลลัพธ์ต่ออันตราการเสียชีวิตไม่แตกต่างกัน แต่อาจจะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่เหมาะกับวิธีที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณากันในแง่ของทั้งบุคคล และมีปัจจัยร่วมที่จะต้องพิจารณาด้วยในเชิงของระบบ

วิธีที่ 1 การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

โดยนำสายสำหรับฟอกเลือดและจะทำการดึงเลือดออกไปฟอกที่เครื่องไตเทียมข้างนอก หลังจากนั้นจะนำเลือดที่ฟอกเสร็จแล้ว กลับเข้าสู่ร่างกายของคนผู้ป่วย ในจังหวะที่ทำการดึงเลือดออกไปฟอก หัวใจและเส้นเลือดจะต้องบีบตัว เพื่อให้ความดันคงที่อยู่ในระดับเดิม ดังนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวที่รุนแรง มีโอกาสที่อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ความดันโลหิตตกลงขณะที่ทำการฟอกไต เป็นต้น และวิธีการนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องฟอกไตเทียม ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาฟอกประมาณครั้งละ 4 ชั่วโมง ต้องมาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง  ขึ้นอยูกับความรุนแรงของอาการหรือปริมาณปัสสาวะของผู้ป่วย 

วิธีที่ 2 การล้างไตทางช่องท้อง

เป็นการนำสายน้ำยาล้างไตใส่เข้าไปที่ช่องท้องตรงบริเวณด้านหน้า และปิดจุกไว้ น้ำยาล้างไตจะทำการแลกเปลี่ยนของเสียต่าง ๆ ภายในเลือด เมื่อใส่ครบเวลาก็นำน้ำยาไปทิ้ง ซึ่งผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ระหว่างที่ล้างไตผู้ป่วยก็สามารถไปทำกิจวัตประจำวันได้ตามปกติ โดยส่วนใหญ่จะต้องทำการล้างทุกวัน ประมาณ 4-5 ครั้ง และการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาเก่าใส่น้ำยาใหม่ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีต่อครั้ง

นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ โดยจะนำเครื่องมาต่อที่สายน้ำยาล้างไตและเครื่องก็จะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาเองอัตโนมัติ ส่วนใหญ่จะทำในช่วงเวลากลางคืน ส่วนช่วงกลางวันก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติ 

วิธีการที่ 2 นี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความหยืดหยุ่นในแง่ของการควบคุมอาหารหรือมีผลต่อความดันน้อยกว่าวิธีที่ 1 แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีโรคทางช่องท้อง มีการอักเสบในช่องท้อง หรือว่าเคยมีการผ่าตัดใหญ่ทำให้มีพังผืดในช่องท้อง ประสิทธิภาพของวิธีนี้อาจจะไม่เหมาะสมมากนัก

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยในแง่ของผู้ป่วยแต่ละราย เพราะมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นบริบทของประเทศไทยควรจะต้องนึกถึง คือ ปัจจัยในเชิงของระบบ ปัจจุบันศูนย์ฟอกไตไม่ได้มีปริมาณที่จะเพียงพอรองรับผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องการมาฟอกด้วยวิธีที่ 1 ได้ทุกคน 

โดยเฉพาะในช่วงสถาณการ์ณโควิด-19 ศูนย์รับฟอกไตผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่วมด้วยยังมีน้อย ฉะนั้นในบริบทของสถาณการณ์เหล่านี้ การล้างไตทางช่องท้องที่ผู้ป่วยสามารถทำด้วยตัวเองได้ที่บ้านนั้น มีข้อได้เปรียบและมีความเหมาะสมมากกว่า 

..กรณีที่ผู้ป่วยยังสับสนเลือกไม่ถูกหรือปฎิเสธทำการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีทั้ง 2 แบบที่กล่าวข้างต้น..

พญ.สมกัญญา อธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้วการฟอกไตด้วยวิธีการที่ 1 หรือ 2 นั้น เรียกว่า “เป็นการล้างแค่ชั่วคราวเท่านั้น” โดยปกติเมื่อมีผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย 1 รายมาพบแพทย์ ก็จะต้องพูดคุยกันเบื้องต้นว่า เขาเหมาะสมที่จะบำบัดทดแทนไตไหม หรือ ไม่เหมาะสม

ถ้าคนผู้ป่วยมีอายุมากเกิน 80 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัวรุนแรงที่เป็นโรคระยะสุดท้าย และมีกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเวลาอันสั้น 

การบำบัดทดแทนไต อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพหรือช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยเลย และซ้ำร้ายอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการล้างไต ในกรณีแบบนี้ แพทย์จะบอกผู้ป่วยว่าจะได้รับการรักษาแบบประคับประครอง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่กับโรคไตและภาวะแทรกซ้อน โดยที่ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ตามมาได้

หรือทางเลือกสุดท้าย หากผู้ป่วย (ทุกราย) ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดใด ๆ ควรจะได้รับการพิจารณาไปจนถึงการรักษาวิธีที่ 3 การผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยนำไตที่ไม่มีโรคใด ๆ ของผู้บริจาคที่อาจจะเสียชีวิตแล้ว หรือเป็นญาติสายตรง และคนใกล้ชิดอย่าง สามี-ภรรยา มาปลูกถ่ายเข้าไปในร่างกายเป็นไตที่ 3 และไตนี้ก็จะทำหน้าที่ทดแทนในส่วนไตที่เสียไปแล้ว

หลังจากผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตเสร็จแล้วพบว่า ส่วนใหญ่ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังปลูกไต มักจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงการล้างไตอีกต่อไป ส่วนอัตราการมีชีวิตก็ยืนยาวขึ้น 

ทั้งนี้สถาณการณ์ในไทยตอนนี้ เรามีไตที่ได้รับบริจาคมาเฉลี่ยประมาณ 500 ไต/ปี แต่กลับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องบำบัดทดแทนไตเป็นหลักแสนคนต่อปี เพราะฉะนั้นวิธีการที่ 3 จึงไม่สามารถรองรับผู้ป่วยทุกคนได้

ประสบการณ์จากผู้ป่วยฟอกไต

คุณเพ็ชรัฐ กิจโชติกุล หนึ่งในผู้ป่วยโรคไต เล่าประสบการณ์ว่า ในช่วงแรกที่รู้ว่าตนต้องเข้ารับการฟอกไตนั้น รู้สึกเสียใจมาก ต้องตั้งสติอยู่พักใหญ่และมีความกังวลเป็นอย่างสูงว่า แต่สุดท้ายกก็เข้ารับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นเวลา 1 ปี และได้เปลี่ยนวิธีมาเป็นการล้างไตทางช่องท้อง

คุณเพ็ชรัฐ เล่าว่า ชอบการล้างไตทางช่องท้องมากกว่า เพราะเจ็บตัวเพียงครั้งเดียวและกลับมาอยู่บ้านได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เปลี่ยนวิธีการฟอกไต เนื่องจากรู้สึกว่าตนผอมมากและมีเรี่ยวแรงน้อยลง เพราะมักจะรับประทานอาหารได้น้อยลง พอเปลี่ยนมาล้างไตทางช่องท้องรู้สึกว่า ตนสดชื่นขึ้น สามารถไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไปเจอเพื่อน ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ไปเจอเพื่อนสัก 6-8 ชั่วโมงแล้วค่อยกลับมาเปลี่ยนเท่านั้น และเครื่องมือก็มีความสะดวกในการพกพา

คุณเพ็ชรัฐ เสริมว่า ทำการล้างไตทางช่องท้องมา 10 กว่าปี ในช่วง 2 ปีแรก ตนติดเชื้อเพียง 1 ครั้ง และหลังจากนั้นมาก็ไม่เคยติดเชื้ออีกเลย เพียงแค่ดูแลหลักความสะอาดให้เรียบร้อย