ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยสัดส่วนและข้อมูลกรณีผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.1 สามาถติดเชื้อโอมิครอน BA.2 ได้จริงหรือไม่ พร้อมสาเหตุที่ WHO ไม่จัด “โอมิครอน BA.2” เป็นสายพันธุ์ต้องกังวล

วันนี้ (27 ก.พ. 65) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ Center for Medical Genomics  ให้ข้อมูลประเด็น การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 “โอมิครอน BA.2” ซ้ำหลังจากรักษาตัวหายหรือเคยติดเชื้อโอมิครอน “BA.1” แล้วได้จริงหรือไม่? และเผยสาเหตุที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่จัดแยกให้ “BA.2” เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์หลักที่น่ากังวล (variants of concern) ดังนี้ 

กรณีผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือ “BA.1” แล้วหายหรืออาการดีขึ้น กลับมาติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย  หรือ “BA.2” ซ้ำได้อีก จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ BA.1 เป็นจำนวนมาก หากสามารถติดเชื้อ BA.2 ซ้ำได้ย่อมจะมีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของ BA.2 เป็นคลื่นลูกใหม่ตาม BA.1 มา ซึ่งแสดงว่าภูมิคุ้มกันที่มาจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติไม่อาจป้องกันการติดเชื้อ BA.2 สมควรที่ WHO จะตั้งชื่อและจัดแยก “BA.2” ให้เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์หลักที่น่ากังวลหรือไม่?

แต่หากพบว่าผู้ติดเชื้อ “BA.1” มีอาการดีขึ้น และไม่กลับมาติดเชื้อ “BA.2” ซ้ำอีก หรือเกิดการติด BA.2 ซ้ำในจำนวนไม่มากก็ไม่น่ากังวลใจว่าจะเกิดการระบาดระลอกใหม่จาก BA.2 นอกจากนี้โดยภาพรวมของไวรัสโคโรนา 2019 และโอมิครอนทั่วโลกในขณะนี้กำลังทยอยลดจำนวนลง (ตามภาพ)

 

 

โอมิครอน BA.2 กลายพันธุ์ต่างจาก BA.1 ไปกว่า 40  ตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าอัลฟา ต่างจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" และแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BA.1 ถึง 1.5 เท่า 

ข้อมูลจากการศึกษาในประเทศเดนมาร์กที่มีการระบาดของ BA.1 และตามมาด้วยการระบาดของ BA.2 ที่มีจำนวนมากกว่า 1.8 ล้าน คน พบว่า

  1. มีผู้ติดเชื้อ BA.1 (โอมิครอน สายพันธุ์หลัก) และตามมาด้วยการติดเชื้อซ้ำหรือ Re-infection ด้วย BA.2 (โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย) หลังจากหายจากการติดชื้อโอมิครอน BA.1 แล้ว 60 วัน เพียงร้อยละ 0.0126 (0.0126 %) หรือสามารถพบได้ประมาณ 1 ใน 100 ซึ่งถือว่าน้อยมาก
  2. แสดงให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อ BA.1 มีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ BA.2 ซ้ำ
  3. ผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 ซ้ำที่มีจำนวนไม่มากนั้น ไม่มีคนใดต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต
  4. ผู้ที่ติดเชื้อ BA.2 ซ้ำ ส่วนใหญ่ร้อยละ 89 ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และมีอายุน้อย ประมาณ 0-19 ปี

ดั้งนั้นจึงสรุปว่า มีการติดเชื้อซ้ำจากเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 หลังจากเคยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ครั้งแรกได้ แต่พบได้ยาก (1 ใน 100) และจะพบยากในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 พบว่า มีอาการไม่รุนแรง ถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 

ข้อมูลจากทั่วโลกในประเทศที่มีการติดเชื้อ BA.1 และตามด้วย BA.2 เช่น แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับที่เดนมาร์ก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม WHO ยังไม่จัดให้ “BA.2” เป็นสายพันธุ์ใหม่แยกจาก “BA.1” นั่นเอง

 

 

ภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ Center for Medical Genomics