ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ 2 เรื่องด้วยกันคือ การจัดทำความตกลง Air Travel Bubble ระหว่างไทย – อินเดีย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้สายการบินของทั้งสองประเทศขนส่งผู้โดยสารในรูปแบบพาณิชย์ได้ โดยปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขในการเข้าประเทศของแต่ละประเทศ อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และการอนุมัติงบประมาณ 1,411.70 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2569 ดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก

สำหรับการจัดทำข้อตกลง Air Travel Bubble ระหว่างไทย – อินเดีย กระทรวงการต่างประเทศอินเดียได้มีทาบทามฝ่ายไทย โดยทั้งสองฝ่ายได้ประสานงานจนได้ข้อสรุปการจัดทำความตกลงฯ มีสาระสำคัญคือ การรับขนผู้โดยสารบนเที่ยวบินระหว่างไทยและอินเดีย สามารถรับขนผู้มีสัญชาติไทย อินเดีย เนปาล ภูฏาน และผู้มีสัญชาติต่างประเทศอื่น ๆ ที่ถือวีซ่าเดินทางเข้าประเทศไทยและอินเดีย โดยก่อนที่สายการบินจะออกบัตรโดยสาร/Boarding Pass ให้กับผู้โดยสาร สายการบินต้องมั่นใจว่าผู้โดยสารทุกคนมีคุณสมบัติสามารถเข้าประเทศได้ โดยมีแผนที่จะเริ่มการบินในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งกรมการบินพลเรือนอินเดียและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจะอนุญาตการทำการบินเป็นรายเดือน และให้อนุญาตบนหลักการความเท่าเทียมของจำนวนที่นั่งโดยสายการบินจะยื่นขอรับการอนุญาตจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องตามคู่มือการปฏิบัติงาน รวมทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19

ด้านโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้เสนอโครงการดังกล่าวเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต (พ.ศ. 2561 - 2565) ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว

ทั้งนี้ โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต จะมีการก่อสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย 1.ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (International Health/Medical Plaza) 2.ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) 3.ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต และ 4.ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center) ในพื้นที่ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 141 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 66-69 จำนวนวงเงินลงทุน 1,411.70 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการโครงการฯ ว่าจะเลือกรูปแบบแนวทางใด ประกอบด้วย 1.ภาครัฐดำเนินการเอง 2.รูปแบบพิเศษ 3. โรงพยาบาลกึ่งรัฐกึ่งเอกชน 4.องค์กรมหาชน และ 5.ภาครัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน