ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติเห็นชอบให้ประเทศไทยคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ทบทวนมติใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางเสียงจากเครือข่ายแพทย์ที่ตบเท้าออกมาสนับสนุนการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป

รมว.ดีอีเอส อ้างว่าปัจจุบันมีจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์กันอย่างแพร่หลายซึ่งไม่สามารถปิดกั้นได้อยู่แล้ว จึงควรเปิดเสรีนำเข้าให้ถูกกฎหมายและเก็บภาษีเข้ารัฐสกัดกั้นการลับลอบขายดีกว่า โดยมองว่าคณะกรรมการควบคุมฯ ไม่ได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ซึ่งไปจำกัดสิทธิ์ของกลุ่มที่ต้องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะเชื่อว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ยืนยันว่าตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีนั้น ห้ามอุตสาหกรรมยาสูบและผู้ที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายใดๆ ขณะเดียวกันข้อมูลที่พิจารณาก็เป็นข้อมูลกลางที่มีการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นเหตุผลที่อ้างว่าเป็นมติที่ไม่ชอบเพราะไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องจึงไม่เป็นความจริง และข้อมูลที่นำมาพิจารณาคือข้อมูลรวมจากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

 “หากมีการเปิดขายอย่างเสรียิ่งทำให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น หรือถ้าทำให้ถูกกฎหมายก็ต้องมีข้อจำกัดสำหรับผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น ไม่ให้เติมกลิ่นเติมสีที่เป็นสิ่งที่เย้ายวนเยาวชน นั่นหมายความว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายผิดกฎหมายก็ยังอยู่ต่อไปเพราะไม่เข้าเงื่อนไข อีกทั้งกฎหมายการควบคุมการขายออนไลน์ของเราก็ยังไม่มีการจัดการที่ดีพอ ดังนั้นประเด็นที่จะเอาขึ้นมาแล้วปัญหาการลักลอบขายจะหมดไปยังฟังไม่ขึ้น”

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยซื้อผ่านออนไลน์ และอีก 11 เปอร์เซ็นต์ลักลอบซื้อตามตลาดนัดและริมทางด่วน ส่วนที่เหลือมีคนนำมาให้หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งศ.นพ.ประกิต มองว่าหากสามารถเปิดเสรีก็ยิ่งระบาดมากขึ้นเพราะหาซื้อได้ง่ายๆ จากจุดขายที่เพิ่มขึ้นโดยที่ของเดิมไม่ได้หายไปไหน

จากนั้นปัญหาที่น่ากังวลตามมา คือ ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าลูกค้าหลักคือเยาวชน อ้างอิงได้จากข้อมูลในอเมริกาที่ระบุชัดเจนว่า นักเรียนมัธยมปลายสูบบุหรี่ธรรมดาเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรายงานออกมาเรื่อยๆว่า เด็กที่ไม่เคยสุบบุหรี่ธรรมดาแล้วไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อมากลับไปสูบบุหรี่ธรรมดาด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 3-4 เท่า

“จริงๆ ที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่าเอาขึ้นมาแล้วควบคุมนั้น จะควบคุมเด็กๆ ได้อย่างไร บุหรี่ธรรมดายังไม่มีใครดูแลเลย เมื่อเด็กม.2 สามารถซื้อบุหรี่ธรรมดาได้แล้วทำไมจะซื้อบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ และที่บอกว่ากว่า 70 ประเทศยอมรับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้นั้น ส่วนใหญ่ประเทศเหล่านั้นมีการบังคับใช้กฎหมายของเขาค่อนข้างดี เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์   ขณะที่อเมริกายังควบคุมไม่ได้เลย กฎหมายอเมริกากำหนดให้ซื้อได้ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ทำไมมีสถิตินักเรียนมัธยมปลายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หลายล้านคน เพราะมันคุมไม่ได้ นี่คือปัญหา”

นอกจากนี้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของประชาชนก็ยังน้อย เมื่อข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมสำรวจ (20 ล้านคน) ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่รู้จักและไม่มีความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเลย จึงไม่รู้ถึงอันตรายและการเสพติด

นายแพทย์ซึ่งเป็นหัวขบวนรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่มากว่า 30 ปีกล่าวว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายหรืออันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ความจริงแล้วในระยะยาวยังไม่รู้ เพราะในทางวิชาการยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด เป็นการเชื่อว่าอันตรายน้อยกว่า แต่ในการทดลองในแล็บหรือการเอาเนื้อเยื่อในช่องปากหรือในหลอดลมมาตรวจ สรุปว่าผลที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ธรรมดา ยังบอกไม่ได้ว่าอะไรอันตรายมากกว่ากัน องค์การอนามัยโลกไม่เคยบอกว่ามันอันตรายน้อยกว่า บอกแค่ว่าอันตรายระยะยาวยังไม่รู้ เพราะมันเพิ่งใช้กันมา 10 ปี บุหรี่กว่าจะบอกว่าทำให้เกิดมะเร็งปอดใช้เวลา 80 ปี แต่ก็มีรายงานบ้างแล้วว่ามีปัญหาต่อหัวใจ เบาหวาน ทำให้สายตามีปัญหา แม้กระทั่งเซ็กเสื่อมก็เริ่มมีรายงานมาแล้ว สำหรับหมอถือเป็นสัญญาณที่น่ากลัว

“ที่บอกว่าอันตรายน้อยกว่านั้นพูดโดยฝ่ายธุรกิจ ฝ่ายสุขภาพยืนยันว่าไม่มีหลักฐานว่าอันตรายน้อยกว่าแค่คิดว่ามีอันตรายน้อยกว่าเพราะมีสารพิษน้อยกว่าแต่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ สารพิษที่ได้รับน้อยกว่า แต่ก็มีสารก่อมะเร็ง มีโลหะหนัก มีสารที่ทำให้อักเสบ แต่ปริมาณน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา”

ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่าปริมาณที่น้อยกว่า การได้รับน้อยกว่าไม่สามารถสรุปได้ว่าอันตรายน้อยกว่า เนื่องจากระยะเวลายังไม่นาน ขณะเดียวกันก็มีสารเคมีบางชนิดที่มีมากกว่าในบุหรี่ธรรมดาและยังมีสารเคมีบางชนิดที่ไม่เคยมีในบุหรี่ธรรมดา อันเนื่องมาจากกระบวนการที่ทำให้เกิดไอในการสูบ ดังนั้นในระยะยาวจึงไม่รู้ว่ามีอันตรายมากน้อยอย่างไร ซึ่งโดยหลักการทางสาธารณสุข อะไรที่ไม่รู้ให้ยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน

“เรื่องสุขภาพทำเล่นๆ ไม่ได้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือมันเสพติด มีคนไม่น้อยคิดว่ามันไม่เสพติด ทั้งที่นิโคตินมันเสพติดสูงในบรรดายาเสพติดด้วยกัน เสพติดเท่าๆ กับเฮโรอีนเลย หมายความว่ามันเลิกยาก ยกตัวอย่างในบุหรี่ธรรมดา คนไทย 7 ใน 10 คนไม่ได้เลิกไปตลอด เลิกเด็ดขาดได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนี้กว่าจะเลิกเด็ดขาดได้ใช้เวลา 21 ปีโดยเฉลี่ย ซึ่งก็เป็นนิโคตินตัวเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้า”

ไม่ใช่แค่เรื่องอันตรายและการเสพติดเท่านั้นที่หลายคนยังมีความเชื่อผิดๆ การช่วยให้เลิกบุหรี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน

ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังสูบคงสูบบุหรี่ทั้งสองอย่าง ซึ่งอันตรายมากกว่า จึงไม่ได้ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ในการใช้ด้วยตัวเอง นอกจากการใช้ภายใต้การควบคุมในการวิจัยหรือใช้โดยหมอที่ให้เลิกบุหรี่ซึ่งมีประเทศเดียวที่ใช้คือ อังกฤษ ส่วนอเมริกาก็ยังไม่รับรองในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่

“ผมบอกได้เลยว่าสำหรับฝ่ายสุขภาพไม่มีประเทศไหนที่จะเห็นด้วยให้ขาย องค์การอนามัยโลกก็บอกว่าอันดับแรกห้ามไว้ก่อน ถ้าห้ามไม่ได้ก็ไปควบคุม ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละประเทศ”

แน่นอนประเทศไทยจำเป็นต้องมีการจัดการกฎหมายควบคุมยาสูบที่ดีกว่านี้หากจะเปิดเสรี ซึ่งนพ.ประกิตมองว่ายังเป็นไปได้ยาก เพราะยังไม่ได้ลงทุนเท่าที่ควร โดยเฉพาะในต่างจังหวัดไม่มีคนบังคับใช้กฎหมายยาสูบอย่างจริงจัง ขนาดฮ่องกง ซึ่งมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่และสุราอย่างดีเยี่ยม ล่าสุดยังออกกฎหมายห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดเป็นประเทศที่ 33 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เม.ย. พร้อมกำหนดโทษฝ่าฝืนมีโทษปรับ 50,000 เหรียญฮ่องกง หรือประมาณกว่า 2 แสนบาทไทย และจำคุก 6 เดือนหลังพบว่ามีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าระบาดในกลุ่มนักเรียนและเยาวชน

นพ.ประกิตตั้งคำถามต่อการเปรียบเทียบบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ธรรมดาว่า ต้องเทียบอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่จะมีต่อคนไม่สูบกับคนสูบ แต่จะไม่ไปเทียบบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ธรรมดา ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของบุหรี่ไฟฟ้าก็คือคนไม่สูบมาก่อน หลังจากอัตราการสูบบุหรี่ลดลงเรื่อยๆ จากปี 2560 อยู่ที่ 19.1 เปอร์เซ็นต์ ปีล่าสุดเหลือ 17.4 เปอร์เซนต์ เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่พอเป็นบุหรี่ไฟฟ้าด้วยความเข้าใจผิดๆ ไม่เหม็น เป็นแฟชั่น จึงเป็นเหตุผลที่ต้องห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าไปติดและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“เรามองกันคนละมุมกับฝ่ายธุรกิจ เขามองถึงผลที่จะเกิดกับคนสูบบุหรี่ แต่เรามองถึงผลเสียที่จะเกิดกับคนไม่สูบบุหรี่”

ทั้งนี้ในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ(คผยช.) มีคณะกรรมการทั้งหมด 20 กว่าคนจากกระทรวงต่างๆ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน หากได้รับหนังสือดังกล่าวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯแล้วคงมีการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาถึงข้อเสนอให้ทบทวน ซึ่งหากมองจากมุมสุขภาพแล้ว คงเป็นไปได้ยากที่จะมีการทบทวนมติห้ามนำเข้าและจำหน่ายลบุหรี่ไฟฟ้า