ในช่วงแรกของการระบาดใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ถูกตำหนิว่าเอนเอียงเข้าหาจีน ตัวอย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยออกมาโวยว่า WHO "ใช้จีนเป็นศูนย์กลาง" และเป็น "หุ่นเชิดของจีน" เขากล่าวว่า WHO ได้ "ให้คำแนะนำที่เลวร้ายแก่เรามากมาย คำแนะนำที่แย่" และ "ผิดมากและมักจะอยู่ข้างจีนเสมอ" (1)
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ข้อกล่าวหานี้ต่อ WHO ก็เริ่มถูกลืมเลือนไปทีละน้อยๆ พร้อมกับท่าทีของ WHO ที่ "สนิท" กับจีนน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนยืนยันที่จะใช้แนวทาง Dynamic zero COVID หรือการทำให้จีนปลอดจากโควิด-19 โดยสิ้นเชิงด้วยการล็อคดาวน์และการตรวจเชื้อในวงกว้าง ซึ่งเป็นทางที่ประเทศอื่นๆ เลิกใช้กันมานานเกือบ 1 ปีแล้ว
เมื่อจีนยืนยันที่จะใช้แนวทางนี้ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของโลกผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นทำให้จีนเหมือนถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น และนโยบาย Dynamic zero COVID ถูกชาวโลกตั้งคำถามมากขึ้นว่ามันเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่
จนในที่สุด WHO ที่เคยชื่นชมจีนและเคยถูกกล่าวหาว่าเอียงเข้าข้างจีนก็ทนจีนไม่ไหว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO แสดงความกังวลเกี่ยวกับความพยายามของจีนในการกำจัดไวรัสโควิดเพื่อที่จะบรรลุ “ภาวะไร้โควิด” โดยเขาไม่คิดว่านโยบายโควิดของจีนจะ “ยั่งยืนเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของไวรัส” และ “เราได้หารือเกี่ยวกับปัญหานี้กับผู้เชี่ยวชาญชาวจีนแล้ว และเราระบุว่าแนวทางนี้จะไม่ยั่งยืน … ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีความสำคัญมาก” (2)
นี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนท่าทีครั้งใหญ่ของ WHO ต่อจีน แต่ยังสะเทือนไปถึงผู้นำจีนคือประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ยืนยันว่าแนวทางของจีนมีประสิทธิภาพ รวมถึงความเชื่อมั่นของคนจีนที่เชื่อว่ารัฐบาลมาถูกทางและการเชื่อถือแนวทาง Dynamic zero COVID เป็นความคิดชาตินิยมอย่างหนึ่ง มันจึงมีทั้งนัยทางสาธารณสุขและการเมือง
จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่ข่าวเกี่ยวกับการวิจารณ์จีนของ WHO จะถูกเซนเซอร์ในประเทศจีน มีรายงานว่าบัญชีสื่อทางการของสหประชาชาติบน Weibo ได้โพสต์ความคิดเห็นของเทดรอสในช่วงเช้าของวันที่ 11 พฤษภาคม ทำให้เกิดความคิดเห็นแดกดันจากผู้ใช้ชาวจีนที่ไม่พอใจท่าทีของ WHO
เมื่อถึงช่วงเที่ยง โพสต์ดังกล่าวไม่สามารถดูบน Weibo ได้อีกต่อไป "เนื่องจากการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของผู้เขียน" (3)
หากจะให้วิเคราะห์ ท่าทีของ WHO อาจมีสาเหตุมาจากการพิจารณาประสบการณ์ของประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ไม่ได้ใช้แนวทางของจีนอีก และใช่ว่าจีนจะทำสำเร็จเพราะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายอดติดเชื้อในจีนเพิ่มมากขึ้นและการล็อคดาวน์เมืองใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศ เช่น เซี่ยงไฮ้ ไม่เพียงทำให้กลไกเศรษฐกิจโลกมีปัญหา แต่ยังทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนที่ถูกล็อคดาวน์อย่างไม่เคยมีมาก่อน เรียกได้ว่ากระแสกำลังตีกลับอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าเมื่อ WHO วิจารณ์นโยบายของจีนแล้วมีการโพสต์ในโซเชียลมีเดียของจีนและมีผู้เข้ามาแดกดัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในจีนจะไม่มีความไม่พอใจนโยบายของรัฐบาล
มันเริ่มเป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะวิจารณ์นโยบายโควิด-19 ของรัฐบาล ยิ่งก่อนหน้านั้นไม่กี่วันก่อนที่ WHO จะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวทางของจีน สีจิ้นผิงเพิ่งจะประกาศกร้าวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ในการประชุม คณะกรรมการสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีสีจิ้นผิงเป็นประธาน ที่ประชุมให้คำมั่นที่จะ "ยึดมั่นในนโยบายทั่วไปของ 'Dynamic zero COVID' อย่างแน่วแน่ และต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกับคำพูดและการกระทำใดๆ ที่บิดเบือน ตั้งข้อสงสัยหรือปฏิเสธนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศเรา” (4) ท่าทีนี้นับว่าแข็งกร้าวมาก และมีขึ้นก่อนที่ WHO จะตั้งข้อสงสัยกับจีน และคาดว่าไม่ได้มีขึ้นเพื่อตอบโต้ความสงสัยจากภายนอกจีน แต่เพื่อ "กำราบ" ความไม่พอใจของประชาชนที่ทนไม่ไหวกับการล็อคดาวน์ในเซี่ยงไฮ้
และเมื่อ WHO วิจารณ์แนวทางนี้ สิ่งที่ตามมาอย่างแรกคือการเซนเซอร์ข่าวนี้แม้แต่บนบัญชีของสหประชาชาติในจีน และตามมาด้วยการตอบโต้ที่รุนแรงของรัฐบาลจีนผ่านทาง Global Times สื่อภาษาอังกฤษที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนและมีท่าทีแข็งกร้าวต่อบุคคล/ประเทศที่เดินคนละทางกับจีน
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม Global Times มีบทความที่ชื่อ "คำพูดของเทดรอสเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของจีนนั้น "ไร้ความรับผิดชอบ" เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่ามาจากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยการต่างประเทศจีนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อซึ่งกล่าวกับ Global Times ว่า "ความเห็นจากหัวหน้าองค์การอนามัยโลกล้มเหลวในการประเมินการต่อสู้ของจีนกับโควิด-19 อย่างครบถ้วนและแม่นยำ และคำพูดดังกล่าวที่มาจากบุคคลในตำแหน่งอย่างเขานั้นไม่รับผิดชอบต่อความพยายามของผู้คน 1.4 พันล้านในการต่อสู้กับโคโรนาไวรัส" (5)
เป็นที่น่าสังเกตคือแหล่งข่าวที่ Global Times นั้นไม่เปิดชื่อ คำถามก็คือมีเหตุผลอะไรที่จะต้องปกปิดชื่อในเมื่อผู้เชี่ยวชาญรายนี้เป็นคนจีนและสนับสนุนนโยบายของจีน ไม่ใช่บุคคลที่รัฐบาลจีนหมายหัวว่าเป็นพวกสงสัยในนโยบายของประเทศ? ดังนั้น ตัวตนของบุคคลดังกล่าวจึงมีปัญหา แต่ Global Times ได้ชื่อว่าเป็นสื่อ "แท็บลอยด์" ของจีนที่มักรายงานอย่างใช้อารมณ์และอาจมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ในแง่นี้มันจึงน่าสงสัยว่าเป็นการเป็นเพียงการอ้างว่าเป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพียงเพื่อย้ำว่านโยบายของรัฐบาลจีนนั้นถูกต้องหรือไม่?
ยังไม่เพียงเท่านั้น เรื่องนี้ยังถูกสื่อของรัฐบาลจีนยกระดับให้เป็นเรื่องการเมือง (แทนที่จะเป็นเรื่องทางเทคนิคด้านสาธารณสุข) โดยระบุว่า "นอกจากนี้ เขา (ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว) ยังสงสัยว่าการตัดสินใจของเทดรอสได้รับผลกระทบจากรายงานที่บิดเบือนอย่างท่วมท้นในสื่อตะวันตกเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เซี่ยงไฮ้กำลังเผชิญเมื่อต่อสู้กับโควิด-19 หรือไม่" และผู้เชี่ยวชาญนั้นยังตั้งข้อสังเกตว่า “ยังเป็นไปได้ที่สื่อตะวันตกบางสื่อ เช่น รอยเตอร์ส ตั้งใจโยนคำถามไปยังเทดรอส เพื่อบ่อนทำลายคุณุปการของจีนต่อโลกในการต่อสู้โควิด-19 ก่อนการประชุมสุดยอดโควิด-19 ระดับโลกที่สหรัฐจัดขึ้น” (5)
จากคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญรายนี้ แม้จะบอกว่าเทดรอสอาจจะ "ถูกหลอก" โดยสื่อตะวันตกเพื่อหวังผลการเมืองระหว่างประเทศ แต่ผู้พูดเองก็ยัง "หลอกตัวเอง" เรื่องที่ว่าการล็อคดาวน์ที่เซี่ยงไฮ้ไม่มีปัญหา ทั้งๆ ที่มีเสียงบ่นไปจนถึงการต่อต้านการล็อคดาวน์เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่นั่น และมันเป็นความท้าทายจนกระทั่งคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ต้องออกโรงขู่ด้วยตนเอง
ดังนั้นมันอาจไม่ใช่แค่องค์อนามัยโลกทอดทิ้งจีน (ในแง่นโยบายที่จีนใช้) แม้แต่คนในจีนเองก็เริ่มหมดศรัทธากับแนวทางที่ไม่สมเหตุสมผลที่รัฐบาลจีนใช้อีกแล้ว เพียงแต่รัฐบาลจียนเลือกที่จะไม่ยอมรับความจริงเท่านั้น
อ้างอิง
1. "Coronavirus: Trump accuses WHO of being a 'puppet of China'". (19 May 2020). BBC.
2. Ni, Vincent. (10 May 2022). "China’s zero-Covid policy is not sustainable, WHO director general says". Thre Guardian.
3. Gan, Nectar. (11 May 2022). "WHO chief censored on China's internet after calling zero-Covid unsustainable
". CNN.
4. Gan, Nectar. (6 May 2022). "Xi Jinping sends warning to anyone who questions China's zero-Covid policy". CNN.
5. "Tedros’ remarks on China’s zero-COVID ‘irresponsible’". (11 May 2022). Global Times.
- 1897 views