ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.สนับสนุนจัดบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ กลไกดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง ลดแออัดในโรงพยาบาล เผยครึ่งปีงบประมาณ 2565 บริการหมอครอบครัวมีผู้ป่วยรับบริการแล้วกว่า 3.74 แสนครั้ง ขณะที่ “บริการสุขภาพวิถีใหม่” ทั้งรับยาร้านยา ส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วย บริการระบบสาธารณสุขทางไกล ฯลฯ ผู้ป่วยรับบริการต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มความสะดวกเข้าถึงบริการ

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ (Primary Health Care: PHC) เป็นบริการที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง และเพิ่มความสะดวกในการรับบริการ สปสช.ได้ร่วมสนับสนุนให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และการจัดบริการสุขภาพวิถีใหม่ (New normal) สอดคล้องกับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ที่เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลาการรอคอยบริการ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 โดยจัดสรรงบประมาณรองรับบริการ

ผลการดำเนินงานครึ่งปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565) มีผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) เข้ารับบริการสาธารณสุขปฐมภูมิรวมทั้งสิ้น 764,177 ครั้ง หรือร้อยละ 44.20 จากเป้าหมายของปี 2565 จำนวน 1,729,000 ครั้ง ผลการบริการถือว่าตามเป้าหมาย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ผลการบริการดังกล่าวแยกเป็นการรับบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว (PCC) โดยหน่วยบริการ 1,295 แห่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมาหานครและต่างจังหวัด จำนวน 373,593 ครั้ง จากเป้าหมายปี 2565 จำนวน 730,069 ครั้ง หรือร้อยละ 51.17 ส่วนการรับบริการอีกจำนวน 390,584 ครั้ง เป็นกลุ่มการรับบริการสุขภาพวิถีใหม่ โดยมีการเข้ารับบริการแยกตามบริการ ดังนี้ 

บริการรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอยรับยาที่โรงพยาบาล มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 141 แห่ง และมีร้านขายยาแผนปัจจุบันที่เข้าร่วมโครงการ 1,157 แห่ง โดยมีผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยา 35,734 ครั้ง เป็นการบริหารจัดการตามใบสั่งยาของร้านขายยา 390 แห่ง จำนวน 23,127 ครั้ง และบริหารจัดการตามใบสั่งยาของแม่ข่าย 19 แห่ง จำนวน 8,841 ครั้ง 

บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน โดยความร่วมมือ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งมีโรงพยาบาล 194 แห่ง ที่ร่วมจัดส่งยาให้ผู้ป่วย ซึ่ง สปสช. รับผิดชอบจ่ายค่าจัดส่งอัตรา เหมาจ่าย 50 บาท/พัสดุ ในช่วงครึ่งปีงบประมาณ 2565 มีผู้ป่วยรับยาทางไปรษณีย์ 282,240 ครั้ง 

บริการสาธารณสุขระบบทางไกลกรณีผู้ป่วยนอก (Telehealth/Telemedicine) เริ่มดำเนินการในปี 2564 ตามมาตรฐานการบริการที่สภาวิชาชีพหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ในผู้ป่วยรายเก่าในหน่วยบริการที่มีอาการคงที่และควบคุมโรคได้ดี โดยมีโรงพยาบาลร่วมให้บริการ 39 แห่ง และมีผู้ป่วยเข้ารับบริการสาธารณสุขระบบทางไกลกรณีผู้ป่วยนอก 55,170 ครั้ง

บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกหน่วยบริการ เริ่มในปี 2564 เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ป่วย ลดระยะเวลารอคอยเจาะเลือด และลดความแออดัดทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล เป็นการเติมเต็มบริการ Telehealth/Telemedicine ให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่า ซึ่ง สปสช. สนับสนุนค่าบริการอัตรา 80 บาทต่อครั้ง มีโรงพยาบาล 40 แห่งเข้าร่วม ทำให้ผู้ป่วยไปรับบริการเจาะเลือดและเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินมาตรฐานฯ และขึ้นทะเบียนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ ซึ่งในปี 2565 ช่วง 6 เดือน มีผู้ป่วยรับบริการจำนวน 15,516 ครั้ง และนำส่งตัวอย่างให้โรงพยาบาลแม่ข่าย 12 แห่ง

บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านกายภาพบำบัด เริ่มต้นปี 2564 ในคลินิก กายภาพบำบัดที่ผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยร่วมให้บริการด้านกายภาพบำบัดในพื้นที่นำร่อง 28 แห่ง โดยปี 2565 ในช่วง 6 เดือน มีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้วจำนวน 1,001 ครั้ง ในคลินิกกายภาพบำบัด 10 แห่ง 

และบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เริ่มในปี 2564 ในคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่ผ่านการตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ 29 แห่ง มีการให้บริการพยาบาลพื้นฐานตามแผนการรักษา บริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน พร้อม บริหารยาตามแผนการรักษา อาทิ ใส่สายสวนปัสสาวะ ใส่สายสวนกระเพาะอาหาร ฉีดยา ทำแผลและเย็บแผล เป็นต้น ในพื้นที่นำร่อง โดยปี 2565 ในช่วง 6 เดือน มีผู้ป่วยได้รับบริการทางการพยาบาลแล้ว 923 ในคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 8 แห่ง

“รายการบริการสาธารณสุขปฐมภูมิข้างต้นนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มบริการวิถีชีวิตใหม่ไเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อมุ่งลดการแพร่ระบาดและความเสี่ยงในการรับเชื้อให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันพบว่าได้อำนวยความสะดวกในการรับบริการให้กับประชาชน ดังนั้นแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้จะเริ่มลดลงแล้ว แต่บริการสาธารณสุขปฐมภูมิข้างต้น สปสช. ยังคงสนับสนุนการให้บริการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าจะเป็นบริการสุขภาพต่อไปในอนาคต” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand