ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีจุฬาฯ” ห่วงนโยบายกัญชาย้อนแย้ง! กรณีใช้สันทนาการ แต่อ้างข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ความเป็นสีเทามีมาก    เดินหน้าจับมือโรงเรียนแพทย์ – รพ.เอกชน เก็บทุกเคสผลกระทบจากกัญชาเสรี พร้อมหารือผู้ว่ากทม. “ชัชชาติ” เฝ้าระวังในโรงเรียน

 

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาขาดไทย กล่าวในการเสวนา ของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่ามีนโยบายทางการเมืองซึ่งผลักดันเรื่องนี้การใช้กัญชา และเห็นถึงการย้อนแย้ง ของนโยบายที่ประกาศและการปฏิบัติจริง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเน้นเสมอว่าทุกอย่างทำตามนโยบาย ซึ่งประกอบด้วยสาระหลักที่ทำร่วมกันคือ 1. การใช้กัญชาทางการแพทย์ 2.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3.ไม่ส่งเสริมสันทนาการ แต่ทั้ง 3 คำนี้มีความย้อนแย้งกันมาก เพราะกัญชาการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้นมีใช้อยู่ 3-4 อย่าง คือเป็นยาแผนปัจจุบันซึ่งมีข้อบ่งชี้อยู่ประมาณ 6-7 โรค ส่วนไทยส่วนใหญ่เป็นยาแผนโบราณ ซึ่งมีสูตรต่าง ๆ มากมายถือว่าสีเทาพอสมควร แต่ถ้าควบคุมการผลิตที่ดี คุมปริมาณให้เหมาะสมก็จะไม่เกิดผลเสียมากนัก

“แต่ที่น่ากังวลคือ ส่วนที่เป็นการใช้สันทนาการ แต่อ้างข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น อ้างว่าปวดหัว รู้สึกไม่สบาย แล้วจะยิ่งมีความเป็นสีเทามาก เชื่อว่าคนจะอ้างไม่น้อยเลย นอกจากนี้ยังมาในรูปแบบที่เราไม่เห็น เช่น ผสมในอาหาร พูดจริงๆ ว่าตอนนี้ความจำเป็นต้องการใช้กัญชาเรามองไม่ค่อยเห็น แต่ Supply size ซึ่งโตขึ้นมหาศาล หากโตขึ้นเกินความต้องการ อนาคตจะเกิดการลงใต้ดินไปขายที่อื่น ซึ่งจะต้องเฝ้าระวัง” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

 

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ซึ่งก็คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล นั้นคิดว่าความหวังจากรรมการชุดนี้ไม่ได้เยอะมาก  เพราะตอนแรกคาดหวังว่าจะได้นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานฯ ดังนันในช่วงก่อนที่ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....จะออกมามานั้นตนได้มีการหารือร่วมกับโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชนให้มีการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนอย่างมาก เก็บทุกเคส เพราะถ้ารอการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขคงยาก ซึ่งหากมีปัญหาเกินขึ้นแต่ไม่รายงานจะกลายเป็นความชอบธรรมให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีความชอบธรรม และออกมาเบามาก เพราะจะอ้างได้ว่าขนาดเสรีแล้วยังไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย

นอกจากนี้ ตนยังได้คุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ช่วยเฝ้าระวังว่ามีการใช้ในโรงเรียนหรือไม่ ดังนั้นเราต้องรวมกลุ่มกันและหาข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน

 

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ. กัญชาฯ ที่ผ่านการรับร่างมีทั้งหมด 2 ร่าง คือร่างของพรรคภูมิใจไทย นั่นคือกัญชาเสรีเลย ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐ เน้นการใช้ทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้มีการตั้งกรรมาธิการ 25 ท่าน แต่ ส.ส.ไม่ยอมให้ทางเราเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ จึงต้องอาศัยการเข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีแล้ว 1 ท่าน ยังเหลืออีก 1 ท่านที่ต้องส่งชื่อเข้าไป อย่างน้อยการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาจะได้เข้าร่วมและให้ความเห็นในที่ประชุมในกรรมาธิการ ซึ่งตนเชื่อว่าเนื่องจากตอนนี้ฟรีอยู่ ต้องมีความพยายามผลักดันให้ร่างพ.ร.บ.ผ่านโดยเร็วแน่นอน ถ้าผ่านออกมาจะเป็นฉบับที่ปล่อยมาก และจะเป็นปัญหามาก