ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยสหรัฐฯ เผยค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท สูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้เพียง 300 ล้านบาท เฉลี่ยคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีค่าผู้ใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 70,000 บาทต่อคน  

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยใหม่จากสหรัฐอเมริกา โดยคณะนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Tobacco Control ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำระดับโลกด้านการควบคุมยาสูบเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565 งานชิ้นนี้เป็นการศึกษาที่พัฒนาโมเดลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประมาณค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอายุ 18 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา

โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพระดับชาติหรือ National Health Interview Survey data ระหว่างปี 2558-2561 ที่เก็บข้อมูลประชากรไว้ถึงเกือบ 120,000 คน นักวิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า และการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลปัญหาด้านสุขภาพเหล่านี้

“ผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องใช้เพื่อรักษาพยาบาลผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 1.51 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) และกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ ซึ่งพบมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวถึง 17.5 เท่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 4 แสนล้านบาท)” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อและมะเร็ง โดยหากเปรียบเทียบตัวเลขที่คำนวณได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ กับตัวเลขภาษีที่เก็บได้จากบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ต้องถือว่าเทียบกันไม่ได้เลย เพราะจากข้อมูลพบว่าภาษีบุหรี่ไฟฟ้าของสหรัฐฯ เก็บได้ไม่เกินปีละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 300 ล้านบาท) เท่านั้น เท่ากับว่าความสูญเสียจากบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าภาษีที่จะเก็บได้ถึง 1,500 เท่า ดังนั้นการที่มีกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะนำมาอ้างว่าการยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยจะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนที่รู้ไม่เท่าทันกลยุทธ์การตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า

ดร.เวนดี้ แมกซ์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า การประมาณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้รักษาพยาบาลผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในครั้งนี้อาจจะต่ำกว่าความจริงเพราะยังไม่ได้รวมผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากในสหรัฐฯ จากกรณีการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษา อย่างไรก็ตามตัวเลขความสูญเสียที่คำนวณได้ถือว่าสูงมาก ซึ่งเท่ากับว่าผู้สูบบุหรี่แต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 2,024 เหรียญสหรัฐต่อปี (เกือบ 70,000 บาท)

 

อ้างอิง

Healthcare utilisation and expenditures attributable to current e-cigarette use among US adults: https://tobaccocontrol.bmj.com/content/early/2022/05/04/tobaccocontrol-2021-057058

E-Cigarette & Vaping Product Taxes: https://www.ncsl.org/research/fiscal-policy/electronic-cigarette-taxation.aspx