แพทยสภาแจงออกประกาศกรอบเวลาทำงานแพทย์ภาครัฐไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน เน้นหมอจบใหม่เพิ่มพูนทักษะ เพื่อแก้ปัญหาช่วงปีแรก การปรับตัวหากไม่ผ่านอาจลาออก ส่วนภาระงานแพทย์ใช้ทุนปี 2 ปี 3 และปี 4 มีขั้นตอนหาทางแก้ปัญหาให้เหมาะสมสเต็ปต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแพทยสภาได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยใจความสำคัญระบุกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ คือ ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป
ปรากฎว่ามีบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนตั้งคำถามว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้แก่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่ไม่มีการกำหนดให้กับแพทย์ใช้ทุนปีอื่นๆด้วยหรืออย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแก้ปัญหาภาระงานแพทย์ได้อย่างครอบคลุมจริงๆ
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2565 พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว Hfocus ถึงประเด็นดังกล่าวว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือแพทย์อินเทิร์น 1 เนื่องจากเป็นหมอน้องใหม่ที่จบมา และต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานจริงเป็นเวลา 1 ปี โดยจะไปปฏิบัติงานกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) เพราะน้องๆที่จบมาเมื่อได้ทฤษฎีแล้ว การปฏิบัติจริงต้องมีด้วย ตรงนี้จะเป็นปีแรก ซึ่งแพทยสภา ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลโรงพยาบาลที่รับแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั่วประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อให้หมอได้เรียนรู้เพิ่มเติม สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของจริง และให้มีการปรับตัวเข้ากับการทำงานบริบทของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ เพราะตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แต่ตอนออกไปอาจไปอยู่สังกัดอื่้นจะได้ปรับตัวทั้งการทำงาน การแพทย์และสังคม
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวอีกว่า การที่แพทยสภาออกประกาศกรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะดังกล่าว เพราะว่าในอดีตเราพบว่า น้องๆหมอจบใหม่ประสบปัญหาการปรับตัวเมื่อไปทำงานปีแรก ไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือแม้กระทั่งเครียดจนทำร้ายตัวเองก็มี ซึ่งหากเราแก้ปัญหาที่เริ่มแรกจากน้องๆหมอจบใหม่ ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่ตามมาได้ อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจว่าที่ผ่านมาหลายโรงพยาบาลของไทยก็ประสบปัญหาแพทย์ขาดแคลน แต่แม้จะมีปัญหานี้ ทางแพทยสภามีการเตรียมการช่วยเหลือน้องๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และตัวน้องๆเอง เพราะหากเราทำงานหนักมากเกินไป อดหลับอดนอน ย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การตัดสินใจอาจไม่ดีเท่าคนพักผ่อนได้เต็มที่
ตอนนี้เราก็แก้ไขไปเยอะแล้ว แต่เราก็ยกระดับด้วยการแพทยสภาดังกล่าวขึ้นด้วย โดยระบุว่าไม่ควรอยู่เวรไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเราไม่ห้ามทีเดียว เพราะบางทีคนไข้อาจไม่ได้รุนแรง หรืออาการหนัก หรือพื้นที่นั้นๆจำกัด ก็ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม
เลขาธิการแพทยสภา กล่าวอีกว่า ประกาศดังกล่าวเราขอให้ทางหน่วยงานที่รับแพทย์เพิ่มพูนทักษะปฏิบัติตาม โดยบริหารจัดการการทำงานของแพทย์ให้เหมาะสม เช่น ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน ซึ่งทางแพทยสภามีอนุกรรมการคอยติดตามประเมินผลหน่วยงานที่รับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หากไม่สามารถทำได้ เราก็จะมีการหารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น บางที่ขาดแพทย์ เราก็คุยกับกับทางผู้บริหาร รองปลัด สธ. อาจต้องหาคนเพิ่ม หรือมีอาจารย์ให้ไปอยู่เวรเพิ่มเติมหรือไม่
ขณะเดียวกันหากที่ไหนไม่พร้อม แก้ไขไม่ได้ ก็อาจพิจารณาไม่ส่งเด็กปีหนึ่งไป ซึ่งในแต่ละปีมีหน่วยงานที่ต้องการรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะถึง 3,500 ตำแหน่ง แต่เรามีเด็กจบใหม่ที่ต้องไปเรียนเพิ่มพูนทักษะถึง 2,800 คน ย่อมหมายความว่า เรามีทางเลือก หากหน่วยงานใดไม่สามารถปฏิบัติตาม และไม่มีการแก้ไข เราก็ปรับเปลี่ยนน้องไปยังรพ.อื่นๆที่มีได้อีก
** ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการกำหนดหรือดูแลภาระงานของแพทย์ใช้ทุนปีอื่นๆด้วยหรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า เป็นขั้นตอนต่อไป แต่ขั้นตอนแรกขอให้แก้ปัญหาหมอที่จบใหม่มาก่อน เพราะหากปรับแก้ได้ระดับหนึ่ง คุณหมอเริ่มเก่งแล้ว เมื่อมีปัญหาอื่นๆก็จะปรับตัว หรือแก้ไขปัญหาอื่นๆได้ แต่ถ้าปีแรกแก้ปัญหาไม่ได้ก็อาจมีปัญหาไม่อยากเป็นแพทย์ มีการลาออก
"ปีนี้ แพทยสภาจึงขอให้ดำเนินการแก้ปัญหาให้น้องๆจบใหม่ก่อน ส่วนแพทย์ใช้ทุนปี 2 ปี 3 และ ปี 4 อยู่ระหว่างการหาแนวทางช่วยเหลือ และมีการจับมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ปัญหา เช่น รพ.ไหนขาดแพทย์ ก็ผลักดันให้กระทรวงเพิ่มตำแหน่งแพทย์ให้เพียงพอ ที่ผ่านมาเราก็ทำได้ มีการเพิ่มตำแหน่งมาแล้ว" เลขาธิการแพทยสภา กล่าว
อนึ่ง สำหรับรายละเอียดประกาศแพทยสภา ลงนามโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า ด้วยปรากฎว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายใต้กำกับของสถานพยาบาลของรัฐ มีภาระงานหนักทำให้มีเวลาผักผ่อนไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
คณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 6/2565 วันที่ 9 มิ.ย.2565 ให้ออกประกาศแพทยสภา เรื่องแนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหารสถานพยาบาลภาครัฐ จัดอัตรากำลังและระบบการทำงานของแพทย์ให้สอดคล้องเหมาะสม ดังนี้
สำหรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
1. ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2. ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน
3. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป
ทั้งนี้ ทางแพทยสภาจะมีการให้คำปรึกษา รวมทั้งติดตามการนำแนวทางไปปฏิบัติ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติการเป็นสถาบันปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษาในโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะของแพทยสภาต่อไป นอกจากนี้ กรณีแพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นอไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 5837 views