สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้แพทยสภา ยกเลิกการพิจารณา ร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย มาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากร่างนี้เน้นรับรองหลักสูตรการอบรมระยะสั้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล เปิดให้มีระยะเวลาอบรมแค่สามเดือนในสถานเสริมความงามระดับห้องแถว ก็รับใบประกาศฯ สามารถผ่าตัดเสริมสวยได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในลักษณะที่จะหยุดการเดินหน้าของร่างนี้
วันที่ 27 มิถุนายน 2565 สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคจึง ส่งหนังสือตรงถึงนายกแพทยสภา ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เพื่อแสดงความเจตนาว่าสภาฯ ขอคัดค้านร่างข้อบังคับดังกล่าว ที่เปิดทางให้บริการการแพทย์ด้านเสริมสวยต่ำกว่ามาตรฐานสากล โดยคำคัดค้านดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพอย่างรอบคอบแล้ว และยืนยันว่าผู้ให้บริการเสริมสวยต้องเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคตามมาตรฐานที่ควรได้รับ
หนังสือคัดค้านฉบับนี้ ได้แนบข้อเสนอมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อแพทยสภาในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานและจริยธรรมของแพทย์ เนื่องจากเห็นว่าข้อกำหนดบางส่วนไม่ได้คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและประชาชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคขอย้ำเตือนต่อแพทยสภาว่า ณ ปัจจุบัน การร้องเรียนเกี่ยวกับความเสียหายจากการเข้ารับบริการด้านบริการสุขภาพมีจำนวน 118 กรณี โดยเกือบร้อยละ 20 ของเรื่องร้องเรียนที่สภาองค์กรผู้บริโภคได้รับภายในหนึ่งปีที่ผ่านมา มีกรณีความเสียหายที่เกิดจากการผ่าตัดเกี่ยวกับการเสริมสวย โดยเฉพาะการผ่าตัดเสริมหน้าอก เสริมจมูก รวมถึงการผ่าตัดแปลงเพศ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่อาจเป็นการสร้างภาระต่อระบบบริการสาธารณสุขในการแก้ไขความเสียหายดังกล่าวอีกด้วย
ดังนั้น หากมีการลดมาตรฐานการอบรมหลักสูตรของแพทย์เสริมความงามลงอีกอาจเกิดความเสียหายกับผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่องบประมาณรัฐด้านบริการสาธารณสุข
ด้วยเหตุนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงขอคัดค้าน ร่างข้อบังคับดังกล่าว และมีข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภคต่อแพทยสภา โดยสรุปทั้งหมด 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. เสนอให้ยกเลิก (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. เพราะไม่ส่งเสริมการรักษาจริยธรรมแพทย์ แต่กลับเป็นการรับรองหลักสูตรการอบรมที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล เพิ่มความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคได้ อีกประการหนึ่ง ผู้ให้บริการศัลยกรรมเสริมสวยต้องเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น เพื่อลดการบาดเจ็บ ความเสียหาย หรือการชีวิตของผู้ใช้บริการที่หลีกเลี่ยงได้
2. เสนอให้แพทยสภาสนับสนุนให้ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการในการจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับการเสริมสวยและฝึกอบรม เช่นเดียวกับการฝึกอบรมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางสาขาศัลยกรรมทั่วไปหรือศัลยกรรมตกแต่ง ที่ต้องใช้ระยะเวลาฝึกอบรมนานถึง 3 - 5 ปี หรือต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
3. หากมีการจัดทำหรือพิจารณา (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. ควรต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนทุกฝ่าย ทั้งจากกรรมการแพทยสภาที่เห็นด้วยและคัดค้าน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจและมีความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมเสริมสวยของประเทศไทย
4. เสนอให้แพทยสภาให้ความสำคัญในการเร่งผลิตแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายแพทย์ที่ไม่เป็นธรรม หรือการขาดแคลนแพทย์ในหลายสาขาที่จำเป็นต่อการให้บริการสาธารณสุขก่อนโดยเร่งด่วน
5. สภาองค์กรของผู้บริโภคขอให้แพทยสภาคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการแพทย์ศัลยกรรมเสริมสวยเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคประชุมระดมความคิดเห็นจากประเด็นดังกล่าว และได้ดำเนินการด้วยการ ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เพื่อคัดค้านและขอให้ยุติการพิจารณา (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาฯ ดังกล่าว และ ต่อมาได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็น ‘หลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามห้องแถว ไม่ใช่หน้าที่แพทยสภา
- 328 views