ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ - อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เปิดบทบาทของ "ศูนย์แจ้งเตือนภัย"  ในชุมชนเฝ้าระวังและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ โดยใช้ชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมเป็นปากเสียงในชุมชนหากตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในชุมชนมีสารปนเปื้อนอันตราย เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน ชี้ กัญชามีประโยชน์ในด้านการรักษาและส่งเสริมสุขภาพขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะหยิบส่วนไหนมาใช้

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จ.นนทบุรี มีการจัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 30 "80 ปี : วิทยาศาสตร์การแพทย์และการสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (80 Years: Medical Sciences and Networking for Sustainable Development) มีการนำเสนอผลงานวิชาการในรูปการบรรยาย จำนวน 54 เรื่อง  ซึ่งดร. สุคนธ์ ชัยชนะ ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และนางสาวรัชณี บุญสกันท์ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยถึงเรื่อง “ บทบาทของศูนย์แจ้งเตือนภัยและ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนในบริบทเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ ” ดังต่อไปนี้

ดร. สุคนธ์ ชัยชนะ ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า เป้าหมายในการทำงานตอนนี้คือเพื่อสร้างให้ประชาชนมีความสุขและให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่ทำให้ไปถึงชุมชนสร้างสุขนั้นเส้นทางในการทำงานอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ทั้งนี้ทุกคนก็จะมีเป้าหมายร่วมกันคือทำให้ชุมชนมีความสุข แต่การทำงานในครั้งนี้เราไม่สามารถก้าวเข้ามาสู่จุดที่ดีที่สุดได้เพียงการทำงานคนเดียว โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต้องมีภาคส่วนต่างๆเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมพัฒนาไปด้วยกัน การทำงานเราต้องมองหาต้นทุนในชุมชนว่าเราจะมีอะไรเป็นต้นทุนบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ เราโชคดีที่ชุมชนเราเป็นกึ่งเมืองที่มีทั้งโรงงานอุตาสาห์กรรมขนาดใหญ่ รวมถึงมีคนงานที่อยู่ภายในพื้นที่เกือบ 20,000 กว่าคน

ฉะนั้นเราจะมองว่าเราเป็นคนในชุมชนเราต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน การทำงานเราโชคดีที่มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ที่คอยสนับสนุนและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน นอกจากนี้เรายังเน้นหลักการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นการร่วมคิดร่วมทำด้วยกัน และเรายังให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยในเวทีต่างๆการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องสุขภาพเราสามารถเอาข้อมูลมาอธิบายให้กับประชาชนในชุมชนเห็นภาพมากที่สุดเพื่อจะให้มีส่วนร่วมไปกับเรา และทำการวิเคราะห์ข้อมูลในการดำเนินการต่อไป 

ดร. สุคนธ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเรื่องของปัญหาสุขภาพในชุมชน อ.พะตง อาจจะมีมากกว่าชุนชนอื่น เพราะเรามีโอกาสเข้าถึงอาหารได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นชุมชนในเมือง เพราะฉะนั้นโอกาสที่ประชาชนจะมีปัญหาด้านสุขภาพจากการเข้าถึงอาหารได้ง่ายจะมีมากกว่าพื้นที่อื่น และนอกจากนี้เรายังมีกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้พิการที่ขาดรายได้ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เหมือนกันกับที่อื่นเช่นกัน  ซึ่งในเรื่องนี้เราได้พัฒนาเรื่องของ “ศูนย์แจ้งเตือนภัย”  ขึ้นมา เรามีโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแรงสนับสนุน เรามีเวทีในเรื่องของการสื่อสารที่หลากหลาย และมีโอกาสได้เรียนรู้กับองค์กรด้านสุขภาพที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้มันชัดเจนและประสบความสำเร็จด้วย 

จากการทำประชาคมสุขภาพทั้งระดับตำบลและระดับหมู่บ้านปัญหาที่พบ คือ ปัญหาโรคความดันเบาหวาน ปัญหาโรคไข้เลือดออก ปัญหาในเรื่องขยะมูลฝอย และปัญหาในเรื่องของยาเสพติด รวมถึงเรื่องการใช้เครื่องสำอางค์ของเด็กนักเรียนในชุมชน เป็นต้น

ด้านนางสาวรัชณี บุญสกันท์ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับบทบาทอสม. วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน นั้น เราจะเป็นหูเป็นตา เป็นแขนเป็นขา เป็นปากเป็นเสียง เพื่อจะป้องกันภัยอันตรายต่อชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี  ซึ่ง “เป็นหูเป็นตา” คือ เราจะคอยเฝ้าระวังในพื้นที่ว่ามีอะไรที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภคบ้าง  “เป็นปากเป็นเสียง” คือจะคอยบอกทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดีให้แก่ประชาชนได้รับรู้ อย่างเช่นเรื่องการใช้ยาสมุนไพรต่างๆ “เป็นแขนเป็นขา” คือ เป็นคุณใช้ชุดทดสอบนั้นก่อนว่าอันตรายหรือไม่ 

ซึ่งการลงพื้นที่การทำงานเราจะมีการให้ความรู้กับชาวบ้านและให้คำปรึกษา อย่างในเรื่องการใช้ยา ว่าใครใช้ยาอะไรทายาไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ ใช้ยาที่มีฉลากครบถ้วนหรือไม่  มีสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ อย่างเช่น ใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้แล้วทำให้ฝ้าหายหรือหน้าขาวขึ้น ภายใน 7 วันเป็นต้น นอกจากนี้เรายังมีกลยุทธ์อีกเรื่องคือ การตรวจตรา ซึ่งเราจะคอยลงพื้นที่เพื่อจะสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เราจะลงพื้นที่ไปเป็นระยะ อย่างเช่น ร้านชำ เราจะเข้าไปตรวจว่ามีการวางขายผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่น่าสงสัยหรือเป็นสิ่งที่สอนตรายต่อประชาชน 


 
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสื่อวิทยุหรือสื่อออนไลน์ ที่เป็นบทบาทหน้าที่ของอสม. ที่คอยเตือนประชาชนให้ดูข้อมูลหรือรับสื่อสารต่างๆให้รอบคอบอย่าไปหลงเชื่อข้อมูลตามโซเชียลมากนัก ซึ่งเราจะประชาสัมพันธ์บอกประชาชนเรื่อยๆ นอกจากนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด อสม. ยังให้คำแนะนำในเรื่องการใช้หน้ากากอนามัย เลือกใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งเราสามารถเอาเลขของ อย. มาตรวจสอบได้ว่าผ่านการรับรองหรือไม่ เพื่อจะให้เลือกใช้ได้ถูกวิธี รวมถึงการเลือกใช้ชุดตรวจโควิด ก็เป็นหน้าที่ของ อสม. ที่ต้องสอนและปฏิบัติให้ประชาชนทำตามอย่างถูกวิธีและปลอดภัยด้วย ซึ่งปัจจุบันประชาชนในชุมชนสามารถตรวจโควิดได้ด้วยตนเองแล้ว วิธีการสองเราจะมีทั้งการสอนผ่านสื่อออนไลน์และวิดีโอคอลไปโดยตรงด้วย เพื่อลดการแพ่ระบาดของโรคโควิด 

สำหรับมาตรการทางสังคมของ ต. พะตง คือ ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือยาแผนโบราณต้องมาผ่านการตรวจสอบของ ” ศูนย์แจ้งเตือนภัย ” เราก่อน นอกจากนี้เรายังมีศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน ที่จะช่วยตรวจยืนยันผลิตภัณฑ์ด้วย อย่างเช่น การเพาะเห็ด เราจะเข้าไปสุ่มผลิตภัณฑ์ตรวจสอบได้เลย เพื่อยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัยและได้มาตรฐานซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ของตำบลเรามีความน่าเชื่อถือและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคแน่นอน ซึ่งการทำงานต่างๆนี้ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของ ศูนย์แจ้งเตือนภัยหรือบทบาทอสม.วิทยาศาสตร์แพทย์ชุมชนเพื่อให้เป็นชุมชนสร้างสุขนั้น เป้าหมายก็คือ ต้องการให้ชุมชนอยู่ดีกินดีมีสุขภาพดีและมีตลาดที่ปลอดภัยมีวัตถุดิบที่ปลอดภัยในตตำบลของเราเอง

 

เมื่อถามถึงการใช้กัญชาจะมีผลกระทบต่อสุขภาพคนในชุมชนหรือไม่....

ดร. สุคนธ์ ชัยชนะ กล่าวว่า จริงๆแล้วเห็นด้วยที่มีการปลดกัญชาออกจากยาเสพติด เพราะเรามองว่ากัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ในด้านการรักษาและส่งเสริมสุขภาพค่อนข้างมาก แต่พอถูกเป็นยาเสพติด มันมีผลทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงงานวิจัยหรือเอาไปทำวิจัยได้ซึ่งทำให้งานวิจัยช่วงแรกออกมาค่อนข้างน้อย ถ้าหากเราปลดตรงนี้แล้วชุมชนก็สามารถวิจัยเรื่องนี้ได้เยอะมากขึ้นและหากงานวิจัยออกมาเยอะองค์ความรู้ที่ได้จะเกิดประโยชน์กับประชาชนแน่นอน  

" ซึ่งจริงๆแล้วทุกอย่างมีทั้งด้านมืดและด้านสว่างเสมอ แล้วแต่ว่าเราจะหยิบจับอะไรมาใช้ เรารู้ว่ามอร์ฟีนเป็นยาเสพติดทำจากฝิ่น แต่จริงๆแล้วมอร์ฟินใช้ได้ดีในเรื่องของการลดอาการปวด โดยเฉพาะการดูแลรักษาของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะหยิบส่วนไหนมาใช้ แต่ทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนเลยว่า กัญชามีผลต่อการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ป้องกันโรคบางอย่างได้ ช่วยรักษาโรคบางอย่างได้ " 

เชื่อว่าเมื่อปลดกัญชาจากยาเสพติดจะทำให้มีสิ่งดีดีที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชามากขึ้น อย่างไรก็ตามองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ้าหากมีสิ่งที่ไม่ดีก็ต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบและให้ประชาชนเข้าถึงได้ ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์และใช้อย่างไรให้มีโทษต้องมีการประกาศเตือนหรือบอกประชาชนให้ชัดเจนที่สุด