ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. วางระบบสาธารณสุขรองรับไทยเข้าสู่ระยะหลังโควิด-19 ระบาดใหญ่  ย้ำ! จากนี้ทุกคนต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิดเหมือนโรคอื่นๆ คือ ยังพบการติดเชื้อแต่ความรุนแรงลดลง ขณะที่มีการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการกิจกรรม เปิดประเทศเพื่อให้ ศก.ขับเคลื่อน ทำให้ผู้เดินทางเข้าเพิ่ม อาจพบการติดเชื้อเพิ่มระลอกเล็กๆแบบ Small Wave แต่ไม่ใช่การระบาดใหญ่ สธ.สั่งผู้ตรวจฯ นพ.สสจ. ทุกรพ.สังกัดเตรียมรับ 3 แนวทาง หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ -  แนะสวมแมสก์กลุ่มเสี่ยง-เว้นระยะห่างไม่ได้

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจากนี้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) เหมือนอย่างโรคอื่นๆ ซึ่งหมายความว่า ยังสามารถพบการติดเชื้อได้แต่ความรุนแรงของโรคลดลง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะไม่มากเกินระบบสาธารณสุขที่มีจะรองรับได้ โดยจากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

รวมถึงมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช่การระบาดใหญ่ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมรองรับตามแนวทาง 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ

"ขณะนี้สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ จึงมีการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขไว้รองรับ โดยกำชับและแจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวังป้องกันตนเองในการให้บริการ เตรียมความพร้อมยา เวชภัณฑ์ สำรองเตียง ความพร้อมระบบส่งต่อ และเร่งเดินหน้าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล จะช่วยลดการติดเชื้อและหยุดระลอกเล็กๆ เหล่านี้ลงได้" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 ในระดับ 2 ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน โดยในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด เน้นตามมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรค ทั้งเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย 

"แม้จะมีการออกประกาศให้สวมหน้ากากอนามัยโดยสมัครใจ แต่แนะนำให้ยังต้องสวมในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง รวมถึงยังต้องสวมเมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การอยู่ในสถานที่เสี่ยงหรือสถานที่แออัด และ Universal Vaccination คือ มาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ทำให้ลดการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้" ปลัดสธ.กล่าว

 

** ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ.ได้ลงนามในหนังสือเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เรื่องการเตรียาความพร้อมรองรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19   ส่งถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 1-13 โดยเห็นควรให้มีการแจ้งสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงฯ เตรียมความพร้อม ดังนี้

1.สื่อสารให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับทราบสถานการณ์ และผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการและระมัดระวังป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ
2.สำรวจและเตรียมความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เพื่อสามารถให้บริการได้ยอ่างมีประสิทธิภาพ
3.เตรียมความพร้อมในการสำรองเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยรวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
4.เตรียมความพร้อมและซักซ้อมระบบการส่งต่อผู้ป่วย
5.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับบุคลากร รวมทั้งประชาชนอย่างครอบคลุม และเป็นไปตามความสมัครใจ
6.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ
7.บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อวางแผนในการควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาด
8.รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้แจ้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว 

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org