ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายกัญชาภาคประชาชนออกแถลงการณ์ ยืนยันสิทธิการใช้กัญชาภาคประชาชนด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ หลังมีกระแสความไม่เห็นด้วยปลดล็อคกัญชา  ระบุ กัญชาเป็นทางเลือกในการรักษาที่ใช้สืบเนื่องยาวนานมาหลายร้อยปี และควรเป็นตลอดไป พร้อมรวบรวมกว่า 2,000 รายชื่อ เตรียมยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ผ่าน รมว.สธ.จันทร์ที่ 11 ก.ค.นี้ 

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 19 ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี เครือข่ายกัญชาภาคประชาชน รวมตัวกันแถลงการณ์ ยืนยันสิทธิการใช้กัญชาภาคประชาชนด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ หลังมีกระแสเรียกร้องจากหลายภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการ “ปลดล็อกกัญชา” โดยระบุว่า ภายหลังจากการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายน 2565 เครือข่ายกัญชาภาคประชาชน มีความเป็นห่วงกังวลว่าการเรียกร้องให้กัญชากลับไปสู่การเป็นพืชเสพติดตามกฎหมายเก่า จะส่งผลเสียต่อการดูแลสุขภาพภาคประชาชน ทำให้มีการใช้กัญชาใต้ดินเกิดขึ้นอีก

เครือข่ายกัญชาภาคประชาชนขอยืนยันเจตนารมณ์การใช้กัญชาเพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจของประชาชนอย่างยั่งยืน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้ "ทุกส่วนของกัญชา" ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด และสอดคล้องกับที่รัฐสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยมีสาระสำคัญคือ การถอดกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติด ส่งผลให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรีกว่าแต่ก่อน ภายใต้การเป็นสมุนไพรควบคุมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ห้ามขายให้กับสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามสูบในที่สาธารณะ แต่คนทั่วไปสามารถใช้ดูแลสุขภาพได้

ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่จดแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น "ปลูกกัญ" ของสำนักงานอาหารและยา (อย.) รวมถึงสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายซื้อขายได้ แต่การขายกิ่งหรือเมล็ดพันธ์ุให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืชฯ นับว่าเป็นประโยชน์แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาในฐานะพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติทางยา ในครัวเรือน

เครือข่ายกัญชาภาคประชาชน อันเป็นการรวมตัวกันของปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเป็นทางเลือกในการรักษาโรค และวิสาหกิจชุมชน มีเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงของชาติ ด้านอาหารและยา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะอนุรักษ์ และพัฒนาสมุนไพรและภูมิปัญญาของบรรพชนมีความเห็นพ้องต้องกันว่าการปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดนั้น มีประโยชน์ต่อภาคประชาชนมากกว่าผลเสีย ดังจะเห็นได้จาก

1. สังคมไทยมีการใช้กัญชามานานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีบันทึกตำรับยาที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมเป็นจำนวนมาก และมีการใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พร้อมกันนี้หมอพื้นบ้านในแต่ละภาคยังได้ใช้กัญชาในการรักษาอาการป่วยไข้ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ในระดับประชาชนมีการใช้กัญชาเพื่อลดอาการเจ็บปวดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี การปลดล็อคกัญชามีส่วนช่วยให้การทำงานด้านสุขภาพของภาคประชาชนดำเนินไปได้อย่างไม่ต้องหลบซ่อน และไม่ต้องพึ่งพาแต่ยาเคมีจากต่างประเทศ ผู้ป่วยจำนวนมากที่ถึงทางตันจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ได้รับประโยชน์จากการใช้กัญชาเป็นทางเลือกในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งเรื้อรัง มะเร็งระยะสุดท้าย หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง เมื่อใช้กัญชาเป็นทางเลือกแล้วอาการดีขึ้น และเมื่อมีการปลดล็อกกัญชาแล้วผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนหรือเกรงกลัวว่าทำผิดกฎหมาย

2. กัญชาอยู่คู่กับสังคมวัฒนธรรมไทย เห็นได้จากการทิ้งร่องรอยไว้ในวรรณกรรม และภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง ในมิติของการใช้ในแง่สันทนาการ เห็นภาพของการเมากัญชา ว่าไม่น่าดูอย่างไร มีตำราเขียนถึงกัญชาว่าทำให้ใจขลาด ทำให้เกียจคร้าน ให้ใช้แต่พอเหมาะ มีการนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาหารเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม โดยไม่ทำให้เมา และได้ประโยชน์ ความรู้ในการใช้กัญชาที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมาค่อย ๆ เลือนหายไปในช่วงที่กัญชาถูกประกาศให้เป็นพืชเสพติด แต่เราสามารถฟื้นความรู้เหล่านี้ขึ้นได้

3. การปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด มีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการพัฒนาต่อยอดทางนวัตกรรม อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและชุมชน ทั้งในด้านการพัฒนาสายพันธ์ุกัญชาให้มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าขณะนี้ไทยเราอยู่ในจุดที่ล้าหลังในการพัฒนาสายพันธุ์ ด้วยเหตุที่กัญชาถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดเป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษ ทั้ง ๆ ที่สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศของประเทศเราเอื้ออำนวยต่อการปลูกและพัฒนาสายพันธ์ุกัญชา นอกจากนี้เรายังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชา เส้นใยกัญชง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเส้นใยกัญชงเพื่อทดแทนพลาสติกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาในนามเครือข่ายกัญชาภาคประชาชน จึงขอผนึกกำลังยืนยันสิทธิการใช้กัญชาภาคประชาชน ในมิติด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยั่งยืน” แถลงการณ์เครือข่ายกัญชาภาคประชาชน ระบุ
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายได้รวบรวมรายชื่อ ชมรมนักวิจัยแห่งประเทศไทย แพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบัน ภาคประชาชน วิสาหกิจชุมชน หมอพื้นบ้าน รวมถึงผู้ป่วยที่เคยใช้กัญชาในการรักษาโรค ร่วมลงชื่อ กว่า 2,000 รายชื่อ เตรียมยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านทาง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 นี้