ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าจะมีการรณรงค์เรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้นได้ทุกวัน อีกทั้งยังมีข่าวอุบัติเหตุที่เกิดจากความมึนเมา ซึ่งทำร้ายทั้งตัวผู้ดื่มเอง และอาจทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเนื่องในโอกาส “วันเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ปี 2565 หัวข้อ “แกะปม 4 ชีวิต...เหยื่อพิษสุรา (รุนแรง)” เพื่อขับเคลื่อนสังคม กระตุ้นเตือนอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มไม่ขับ การสกัดนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะสุรามีส่วนทำลายภูมิคุ้มกันเพิ่มความเสี่ยงติดโควิด 2.9 เท่า และมากกว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนนมาจากดื่มแล้วขับ ซึ่งเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล

ปัจจัยสำคัญที่สร้าง "นักดื่มหน้าใหม่" คือ วัฒนธรรมดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นหรือนักดื่มหน้าใหม่ที่เข้าใจว่า คอแข็งแล้วเท่ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเข้าสังคมไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ในสังคมไทยยังมีความเชื่อผิด ๆ ในเรื่องการดื่มและวัฒนธรรมการดื่ม หลายคนมองว่า จำเป็นต้องดื่มเพื่อเข้าสังคม ทั้งที่สังคมไม่ได้ร่วมรับผิดชอบ หากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต หรืออาจพลาดพลั้งทำให้คนอื่นบาดเจ็บได้ หลังจากที่ไปสังสรรค์ พอเกิดอุบัติเหตุแล้วกลุ่มคนสุดท้ายที่อยู่ด้วยมีแต่ครอบครัว ที่ต้องรับภาระและดูแลยามเจ็บป่วย 

การดื่มเหล้าในสังคมไทย ยังมีความเชื่ออีกว่า ใครที่ "คอแข็ง" จะเป็นลูกผู้ชาย แข็งแกร่งและเป็นผู้นำได้ ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกที่จะพิสูจน์ตนเองด้วยการดื่มเพื่อเข้าสังคม ในประเด็นนี้ น.ส.รุ่งอรุณ เสริมว่า สสส.มีการทำเรื่องมติความเท่าเทียม ซึ่งผู้หญิงมักจะถูกรุกโดยสังคมว่า หากต้องการเป็นผู้นำ ต้องดื่มเหล้าเข้าสังคมเป็นเพื่อให้ทัดเทียมกับผู้ชาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงหลายคนถูกมอมเหล้า หรือถูกล่อลวง ท้ายสุดไม่มีอะไรดีกับผู้หญิงเลย ผู้หญิงจึงต้องรู้เท่าทันไม่จำเป็นต้องไปร่วมสังสรรค์เพื่อหน้าที่การงาน เพราะแต่ละคนก็สามารถพิสูจน์ตนเองได้ด้วยวิธีอื่น

"ลึก ๆ แล้วสังคมไทยยังมีความชายเป็นใหญ่ เป็นมิติสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าต้องแกร่งในการลุกขึ้นมาดื่มเหล้าทัดเทียมผู้ชาย หรือไปทำงานดึกดื่น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย เรามีวิธีการทำงานที่ก้าวหน้าได้โดยไม่ต้องพึ่งเหล้า ไม่ต้องพึ่งอบายมุข ไม่ต้องไปกลางคืน ผู้หญิงต้องคิดถึงตนเอง ส่วนผู้ชายก็ต้องให้เกียรติผู้หญิงด้วย" น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพ น.ส.รุ่งอรุณ ย้ำว่า แอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายเคยชินแล้วจะเพิ่มปริมาณโดยไม่รู้ตัว จากความเชื่อที่ว่าดื่มนิดเดียวช่วยกระตุ้นหัวใจ กระตุ้นให้เลือดลมเดินดี ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงและเรื้อรังในระยะยาวได้ ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และเต้านมอีกด้วย

ด้านผู้เข้าร่วมเสวนา นายจักรพันธ์ กลั่นเรืองแสง ผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่าถึงประสบการณ์การดื่มแค่อยากจะสังสรรค์ จนดื่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเหล้าสีเหล้าขาว ติดถึงขั้นต้องดื่มทุกเช้า จนเกิดอาการเจ็บป่วยอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นสีดำ ตาเหลือง หน้าคล้ำ ท้องบวมโต ครอบครัวจึงพาส่งโรงพยาบาล หมอระบุว่าเป็นโรคตับแข็ง ต้องหยุดดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด ผ่านช่วงเวลานั้นทำให้เลิกดื่มเหล้าได้ในที่สุด แต่ก็ต้องเข้าออกโรงพยาบาลรักษาโรคตับทานยาอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นภาระของแม่ที่ต้องมาดูแล

ขณะที่นายพจน์ นามสมมติ อดีตเยาวชนที่เคยก้าวพลาดกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรม ผู้ที่หัดดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 14 ปี กล่าวว่า ด้วยความอยากสังสรรค์กับเพื่อนฝูง พอเข้าเรียนอาชีวะก็เริ่มใช้ความรุนแรง ทั้งการปล้นเพื่อหาเงินซื้อเหล้า ตีรันฟันแทง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าแน่ จนวันที่นั่งกินเหล้าแล้ว เข้าใจผิดคิดว่าเป็นคู่อริ จึงใช้ปืนยิง จนถูกตำรวจสกัดจับ ติดคุก ตอนนี้คิดได้แล้วว่า หากตอนวัยรุ่นไม่ดื่มเหล้า เหตุการณ์เลวร้ายก็คงไม่เกิด 

แอลกอฮอล์นอกจากจะทำร้ายตัวผู้ดื่มแล้ว ยังทำร้ายคนอื่นได้อีกด้วย โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน กรณีนายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ที่เกิดขึ้นจากความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของผู้ที่เมาแล้วขับ จนต้องกลายมาเป็นบุคคลทุพพลภาพ นั่งวีลแชร์ตลอดชีวิต หรืออีกหนึ่งเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว นางนันทิยา พุ่มสุวรรณ ที่ถูกอดีตสามี ซึ่งติดเหล้า ติดยาเสพติด เกิดอาการหลอน และชอบทำร้ายร่างกาย 

"วัฒนธรรมดื่มเหล้าเข้าสังคม" ความเชื่อผิด ๆ ที่พรากชีวิตคนมาแล้วนับไม่ถ้วน หากเพียงปรับเปลี่ยนความคิด ลด ละ เลิก เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการพักตับ 3 เดือน ในช่วงวันเข้าพรรษา ก็สามารถเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ไม่ทำลายสุขภาพได้ เพื่อตนเองและครอบครัว    

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org