ส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ.เกี่ยวกับขั้นตอนการออกกฎหมายนโยบายกัญชา ซึ่งข้อคาใจสำคัญคือการออกประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษปลดล็อกกัญชาออกมาก่อนที่จะมีกฎหมายควบคุม
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2565 ที่รัฐสภา นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับนโยบายกัญชา ว่า นโยบายที่ออกมาจะต้องดูแลสุขภาพทั้งของผู้เสพและผู้ที่ไม่ได้เสพ กรมการแพทย์ได้ระบุถึงประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ 6ภาวะที่มีหลักฐานทางวิชาการคือ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาและโรคลมชักที่ดื้อยาภาวะกล้ามเนื้อโหดเกร็งในผู้ป่วย ปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส ภาวะปวดประสาทภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบราคาประคองหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย และยังมีอีก 4 โรคที่น่าจะได้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์คือโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลไปทั่ว และโรคปลอกประสาทอักเสบ
นพ.วาโย อภิปรายว่า โรคทั้ง 10 เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มระบบประสาททั้งหมด แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้คืออายุรแพทย์ระบบประสาท ประกาศของสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นสมาคมของแพทย์ระบบประสาทระบุว่าโรคเอ็มเอสยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน โรคลมชักบางชนิดเท่านั้นที่พอจะมีหลักฐานบ้างแต่ถ้าเป็นโรคอื่นๆ ยังไม่มีความชัดเจนเลย ยิ่งไปกว่านั้นกลับมีหลักฐานว่ามีผลข้างเคียงมากกว่าอัลไซเมอร์พาร์กินสันลมชักอื่นๆไม่มีหลักฐานเลยว่าสามารถเอาไปใช้ได้ และที่สำคัญอัลไซเมอร์กับมีหลักฐานว่าหากนำไปใช้กลับทำให้สมองเสื่อมมากขึ้นมีการรู้คิดและความจำแย่ลง
นพ.วาโย อภิปรายอีกว่า ในเว็บไซต์ของแพทยสภาได้รวบรวมประกาศและแถลงการณ์ของสมาคมแพทย์ต่างๆรวมถึงราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ ในประเทศไทยเอาไว้มากมายทั้งแพทย์อายุรกรรม แพทย์เด็ก จิตแพทย์ แพทย์ระบบประสาทมากมาย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลโดยสรุปก็คือไม่มีแม้แต่ราชวิทยาลัยเดียวที่สนับสนุนในเรื่องนี้ สุดท้ายแพทยสภาเองจึงประกาศออกมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ข้อกังวลต่างๆให้ใช้กัญชาก็ได้แต่ใช้เฉพาะสารสกัดกัญชาที่มีปริมาณของ CBD กับ THC ที่เขียนระบุอย่างชัดเจน และยอมให้ใช้ตามข้อบ่งชี้ที่กรมการแพทย์ว่า 6 + 4 ภาวะ และขอให้ใช้โดยแพทย์ที่ผ่านการอบรมมีใบรับรองจากกรมการแพทย์เท่านั้น แต่ห้ามใช้กัญชาเป็นยาชนิดแรกให้ใช้เป็นยาลำดับท้าย ใช้ในกรณีที่ยาปกติไม่ได้แล้วจึงจะใช้กัญชา ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตรและคนอายุไม่ถึง 25 ซึ่งสูงกว่าสิ่งที่รัฐมนตรีประกาศออกมาคือ 20 ปี ไม่ผสมลงไปในอาหารขนม ห้ามใช้เพื่อการนันทนาการ ไม่ให้ใช้ช่อดอกและไม่ให้ใช้ในโรคอื่นที่ไม่มีข้อบ่งชี้
“สิ่งที่น่ากังวลคือผลกระทบต่อเด็กเพราะเด็กยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึกนึกคิดที่เพียงพอที่จะรู้ได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี มีผลการศึกษาโดยรองคณบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์จุฑามณีระบุว่าเมื่อเด็กใช้กัญชาไปจะมีภาวะสติปัญญาผิดเพี้ยนชนิดไม่กลับคืน เราจึงมีความจำเป็นต้องปกป้องเด็กและเยาวชน” นพ.วาโยกล่าว
นพ.วาโย อภิปรายอีกว่า UNODC หรือประกาศของสหประชาชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดซึ่งเป็นรายงานล่าสุดของปีนี้ 2022 สรุปออกมาสามประการก็คือ ถ้าประเทศไหนทำงานจะทำให้กัญชาถูกกฎหมายตามสถิติที่ศึกษากันมาคือจะมีผู้ใช้กัญชามากขึ้น และเมื่อใช้มากขึ้นก็จะมีผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น และจะทำให้มีผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้นและการใช้เพื่อฆ่าตัวตายก็จะเพิ่มขึ้น
นพ.วาโย อภิปรายว่า ปัญหาสำคัญของนโยบายกัญชาคือสถานะของกัญชาในทางกฎหมาย โดยนับตั้งแต่ออกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยมาตรา 8 พรบ.นี้ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษมีอำนาจเปลี่ยนแปลงประเภทของยาเสพติดได้ จนถึงปี 2562 เริ่มปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ โดยพรบ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ประกาศวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 สามารถออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองให้แก่ 7 กลุ่ม ประกอบด้วยหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบวิชาชีพ 8 สาขา สถาบันอุดมศึกษา วิสาหกิจชุมชน ผู้ขนส่ง ผู้ป่วยที่ต้องเดินทางข้ามประเทศ และ ผู้อื่นที่รมว.อนุญาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคกัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่ก่อนที่นายอนุทินจะเข้ามารับตำแหน่ง
นพ.วาโย อภิปรายว่า วันที่ 14 ธันวาคม 2563 นายอนุทินออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 วัตถุหรือสารในพืชกัญชา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ไม่จัดเป็นยาเสพติดยกเว้นช่อดอก 8 พฤศจิกายน 2564 ออกพรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งมีความสำคัญ ซึ่งแม้จะไม่มีคำว่ากัญชาในกฎหมายฉบับนี้ แต่กัญชาก็ยังเป็นยาเสพติดให้โทษตามประกาศที่ออกมาก่อน แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับใหม่นั้นให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสามารถระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ นายอนุทินจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งระบุให้สารสกัดจากกัญชาเท่านั้นที่เป็นยาเสพติด หมายความว่า ต้น ช่อดอก ไม่เป็นยาเสพติด ซึ่งนี่แหละคือปัญหา ในตอนท้าย อนุฯ ข. ระบุให้มีผลใน 120 วัน ประกาศวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ก็จะมีผลวันที่ 9 มิถุนายน 2565
“เกิดสุญญากาศทางกฎหมายขึ้น ระหว่าง 9 มิถุนายน 2565 ถึง 16 มิถุนายน 2565 ช่วงเวลาระหว่างนั้นกัญชาไม่ต่างจากมะม่วง หรือต้นหญ้า กัญชาเปลี่ยนสถานะอีกครั้งวันที่ 16 มิถุนายน 2565 กลายเป็นสมุนไพรควบคุม ก่อนหน้านั้นวันที่ 14 มิถุนายนก็ประกาศเป็นเหตุรำคาญ ตามพรบ.การสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการแก้เก้อ ใช้ไม่ได้จริง ถ้าเจ้าหน้าที่เจอคนสูบกัญชาจะเข้าไปใช้อำนาจโดยตรงไม่ได้ ต้องออกคำสั่งเป็นหนังสือ ส่วนการเป็นสมุนไพรควบคุมซึ่งออกตามอำนาจพรบ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยก็เช่นเดียวกัน คือห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้กับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์เท่านั้น ไม่ได้ห้ามการใช้เพื่อสันทนาการและการใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากเพื่อการแพทย์อีกเหมือนเดิม”นพ.วาโยกล่าว
ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ปัญหาคือตัวพรบ.มาตรา 45 คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมุนไพรควบคุมให้รัฐมนตรีกำหนดหลักเกณ์ วิธีการ เงื่อนไขในการครอบครอง การใช้ประโยชน์ การดูแล การเก็บรักษา หรือการขนย้ายสมุนไพร กำหนดหลักเกณ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งออกสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าและมิใช่เพื่อการค้า หรือในการจำหน่าย หรือแปรรูป และมาตรา 46 ห้ามการวิจัย ส่งออก จำหน่าย และแปรรูปทางการค้า เว้นแต่ได้รับอนุญาต การฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่การขออนุญาต ผู้ขอต้องส่งแผนที่อันเป็นบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรควบคุม ที่มีตามระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ และผู้ขอใบอนุญาตต้องตกลงว่าจะปลูกสมุนไพรควบคุมทดแทน ณ บริเวณถิ่นกำเนิดสมุนไพรควบคุมที่มีถิ่นกำเนิดตามระบบนิเวศน์ตามธรรมชาตินั้น ถามว่าประชาชนคนตาดำๆ ทั่วไปคนไหนจะสามารถขอใบอนุญาตแบบนี้ได้ ใครทำได้ นายทุนใหญ่หรือไม่
นพ.วาโย อภิปรายว่า สถานการณ์ในประเทศไทยยังขัดกับความตกลงระหว่างประเทศ อนุสัญญาเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งมีภาคีสมาชิกถึง 186 ประเทศ ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีที่จะอนุญาตให้ปลูกกัญชาต้องตั้งสถาบันขึ้นมา ซึ่งของไทยคือ อย.ที่จะให้ขึ้นทะเบียน รับซื้อ ในอนาคตอาจไม่ใช่อย.ก็ได้ โดยสถาบันต้องกำหนดขนาดพื้นที่ และตำแหน่งที่จะปลูก และให้คนมาขออนุญาติ และสถาบันดังกล่าวต้องมีอำนาจโดยสมบูรณ์ในการกำหนดปริมาณทั้งการคงคลัง การส่งออกและการนำเข้า ก่อนหน้านี้มีแนวคิดจะทำเช่นนี้โดยให้อย.ดำเนินการ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนี้ ซึ่งการละเมิดอนุสัญญานี้ก็มีบทลงโทษโดยเรียกให้ประเทศไทยไปชี้แจง ถ้าชี้แจงแล้วไม่น่าพอใจก็อาจแจ้งให้อีก 186 ประเทศทั่วโลกที่เป็นภาคีมีมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจได้เช่นมาตรการปิดกั้นการนำเข้าและส่งออก
นพ.วาโย อภิปรายอีกว่า การอ้างว่าเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคทำให้กฎหมายที่จะออกมาควบคุมออกมาไม่ทันนั้นจริงหรือไม่ กฎหมายที่จะควบคุมคือพรบ.กัญชา กัญชง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นกรรมาธิการ นายอนุทินเพิ่งยื่น ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 ทั้งที่ก็รู้กระบวนการว่า ร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติก่อน จึงต้องส่งกลับไปที่นายกรัฐมนตรีวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายกรัฐมนตรีอนุมัติวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ส่งกลับสภาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งช่วงเวลานั้นก็ใกล้ปิดสมัยประชุมพอดี กว่าจะเปิดสภาและได้บรรจุเข้าวาระปลายเดือนพฤษภาคม ไม่สามารถผ่านกฎหมายได้ทัน 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติดฯ สุดท้าย รัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วัน โดยที่รัฐมนตรีก็ไม่พยายามยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงออกไปเลยแม้แต่น้อย
“ปัญหาคือ ณ วันที่ 8 มิถุนายน กัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ ท่านแก้ไขได้ด้วยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะเลื่อนเวลาประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งจะมีผลวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ออกไปได้ แค่นี้ก็ทำได้ จบปัญหาได้ด้วยตัวรัฐมนตรีแต่ไม่ทำ เพราะอะไร ทำไมท่านไม่แก้ไขประกาศสาธารณสุขวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ยืดระยะเวลาออกไปจาก 120 วัน แค่นั้นเอง หรือหลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์เห็นแล้วว่ากฎหมายผ่านไม่ทัน ท่านก็แค่ยกเลิกประกาศให้ใช้ประกาศเดิม รอจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาแต่ท่านไม่ทำ” นพ. วาโย กล่าว
นพ.วาโย อภิปรายว่า ในขณะนั้นกำหนดว่าผู้ปลูกกัญชาจะต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นี่คือการจำกัดโควตาการปลูกด้วยจำนวนรพ.สต. แล้วใครที่ทำงานร่วมกับรพ.สต. ประชาชนทั่วไปร้องเรียนเข้ามาว่าขอไป 8 เดือนแล้วยังไม่ได้ แต่เห็นบางคนขออาทิตย์เดียวได้เลย สุดท้ายอย.ในฐานะผู้รับซื้อก็ไม่ได้ซื้อเข้ามามากเท่าไหร่เพราะนักวิจัยไม่ได้เขียนโครงการเข้ามามากขนาดนั้น แพทย์เองก็ไม่ค่อยได้ใช้ จึงไม่สามารถไว้วางใจนายอนุทินเกี่ยวกับนโยบายกัญชาได้
ขอบคุณภาพจาก : เพจเฟซบุ๊ก วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 759 views