ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาการนอนกัดฟันเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะส่งผลเสียตั้งแต่ทำให้ฟันสึกกร่อน รุนแรงจนถึงฟันตาย ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้ดูแลรักษาอย่างทันท่วงที 

ทพญ.มนธิดา ทองธำรง เฉพาะทางสาขาทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันทันตกรรม กล่าวถึงสาเหตุของการกัดฟันว่า ปัจจุบันมีการสรุปว่า การนอนกัดฟันเป็นเรื่องของสมองที่ทำงานผิดปกติ การควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวในตอนกลางคืน เกิดหดตัวอย่างแรงเป็นจังหวะ ๆ แม้ว่าจะกัดฟันเฉลี่ยคืนละ 10-20 นาทีเท่านั้น แต่แรงกัดฟันเยอะ ทำให้เกิดผลเสียได้ ซึ่งการนอนกัดฟันนั้นมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกกัดแล้วไถจะมีเสียง และแบบที่สองกัดแล้วเน้นย้ำ ไม่มีเสียง คนข้าง ๆ จะไม่ได้ยิน แต่หากมีการตรวจของทันตแพทย์จะทราบได้

"ความเครียด สภาวะการสบฟัน เป็นเพียงสิ่งที่กระตุ้นเท่านั้น กล่าวคือ ภาวะการนอนกัดฟัน เป็น Biopsychosocial หมายถึง  Bio คือ สุขภาพร่างกาย Psycho สภาวะทางด้านจิตใจ Social สิ่งแวดล้อม ความเครียดจะกระตุ้นให้คนที่นอนกัดฟันอยู่แล้ว กัดฟันมากยิ่งขึ้น จากหลักฐานที่พบ คนที่นอนกัดฟันจะมีการทำงานของสมองส่วนหนึ่งที่แสดงออกมา อีกทั้งการนอนกัดฟันจะสัมพันธ์กับโรคที่ชื่อว่า Temporomandibular joint Disorder (TMD) หรืออาการเจ็บบริเวณขมับและข้อต่อ" ทพญ.มนธิดา กล่าว

ทพญ.มนธิดา เพิ่มเติมว่า คนไข้ที่มีอาการเจ็บบริเวณ ใบหน้า ข้อต่อ ขากรรไกร หรือตื่นเช้ามาเจ็บขมับ เมื่อยกราม ปวดศีรษะ เป็นสาเหตุซึ่งกันและกันของโรค เกิดได้จากภาวะการนอนกัดฟัน ร่วมกับพฤติกรรมของคนไข้ เช่น การเคี้ยวของแข็งเยอะ ๆ หรือการเคี้ยวอาหารข้างเดียวนาน ๆ จะส่งผลกับข้อต่อได้ ผลเสียสำคัญในการนอนกัดฟันด้วยแรงมาก ๆ จะส่งผลต่ออวัยวะ 3 ส่วน 1.ฟัน ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ฟันสึก หากกัดแรงมากและต่อเนื่องอาจทำให้เกิดฟันตายได้ เพราะไปกระทบกระเทือนเนื้อเยื้อของเส้นเลือดกับเส้นประสาทปลายราก หรือกัดฟันจนรากฟันแตก 2.กล้ามเนื้อบดเคี้ยว เช่น กล้ามเนื้อแก้ม กล้ามเนื้อบริเวณขมับ เมื่อเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อเหล่านี้เยอะ ๆ จะคล้ายกับกล้ามเนื้อเป็นตะคริว ก็มีอาการเกร็งและเจ็บได้ 3.ข้อต่อขากรรไกรบริเวณหน้าหู Temporomandibular joint (TMJ) เมื่อกัดฟันอย่างแรงจะทำให้น้ำเลี้ยงข้อต่อบริเวณนั้นถูกดันออกไปด้านนอก ส่งผลให้ข้อต่อฝืดจนเกิดกระบวนการเสียดสี คนไข้จะเจ็บข้อต่อขากรรไกรขณะที่เคี้ยวอาหาร เนื่องจากมีการอักเสบได้

สำหรับวิธีการดูแลตัวเองของผู้ป่วยนอนกัดฟัน ทพญ.มนธิดา เปิดเผยว่า การรักษาต้องใส่เฝือกสบฟันร่วมกับการปรับพฤติกรรมของคนไข้ เช่น ไม่เคี้ยวของเหนียวของแข็ง ไม่เคี้ยวหมากฝรั่งนาน ๆ ไม่ควรอ้าปากกว้างเกินไป และควรเคี้ยวอาหารทั้งสองข้าง หากเคี้ยวข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป ฝั่งตรงข้ามจะเกิดปัญหาหมอนรองข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนมาข้างหน้า สังเกตได้ตอนหุบปาก อ้าปาก เคี้ยวอาหาร จะได้ยินเสียงคลิก (Click) หากใช้งานไม่สมดุลก็จะเกิดปัญหาได้ ส่วนในช่วงกลางวันก็ควรสังเกตตัวเองไม่ให้เผลอกัดฟันเวลาที่ตั้งใจหรือเครียดกับกิจกรรมบางอย่าง โดยพยายามให้ฟันบนฟันล่างห่างกัน 1-2 มิลลิเมตร

"วิธีรักษา ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) ใส่ที่ฟันบนในตอนกลางคืน เครื่องมือจะช่วยลดอัตราการสึกของฟัน ด้วยความสูงของเครื่องมือที่ยกขึ้นมานิดหนึ่งจะทำให้การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลดลง อาการเจ็บน้อยลง ลดอาการเจ็บของข้อต่อขากรรไกรได้ ส่วนการโบท็อกซ์เพื่อลดการกัดฟันก็สามารถทำได้ ผลของการฉีดจะทำให้กล้ามเนื้อทำงานน้อยลง หดตัวน้อยลง ลงแรงกัดทำให้กล้ามเนื้อทำงานน้อยลง แต่แพทย์ต้องคำนวณปริมาณโบท็อกซ์ให้พอดีกับกล้ามเนื้อ หากฉีดในจำนวนมากเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง กัดอาหารได้ไม่ขาด ซึ่งการฉีดโบท็อกซ์นั้นต้องทำอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด แต่อยากแนะนำวิธีโบท็อกซ์ไว้สำหรับกลุ่มคนที่มีอาการรุนแรง เช่น ผู้ที่มีรอยโรคในสมองที่มีการกัดฟันตลอดเวลา" ทพญ.มนธิดา กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง