ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. รับยื่นจดหมายเปิดผนึก เครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ และเครือข่าย 59 องค์กร พร้อมร่วมแก้ปัญหาดูแล “หญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพให้เข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและเป็นไปตามกฎหมาย” 

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับยื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่อง การบริการและส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย กรณีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และทารกมีความเสี่ยงพิการหรือโรคทางพันธุกรรม จากตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และสมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA (Referral System for Safe Abortion) สายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และองค์กรภาคีรวม 59 องค์กร เพื่อขอให้ สปสช. เร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สปสช. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ประเทศไทยได้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง ตาม พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 มีสาระที่สำคัญในมาตรา301 ให้หญิงทำแท้งได้โดยไม่มีความผิดทางอาญาที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ และมีข้อยกเว้นความผิดทางอาญาในการทำแท้งโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาตามมาตรา 305 ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ (1) มีความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ (2) ทารกคลอดออกมามีความเสี่ยงพิการหรือโรคทางพันธุกรรม (3) การตั้งครรภ์ที่เกิดจากความผิดเกี่ยวกับเพศ (4) หญิงยืนยันยุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และ (5) การตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ที่เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ที่หญิงยืนยันยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงถือเป็นสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ที่จะได้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย

ผ่านไป 18 เดือนหลังประกาศบังคับใช้ พบว่าสถานบริการสุขภาพจำนวนมากยังขาดความเข้าใจข้อกฎหมายนี้ ทำให้มีผู้หญิงที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ที่ขอเข้ารับบริการนี้ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐถูกปฏิเสธบริการ นอกจากนี้กฎหมายลูกตามมาตรา 305(5) ซึ่งคือหลักเกณฑ์และการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกที่อายุครรภ์ที่เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ก็ยังไม่มีการประกาศใช้

ด้วยความร่วมของภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ ทำให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ เข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แต่สำหรับการตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์สูงๆ การตั้งครรภ์ที่พบปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต และการตั้งครรภ์ที่ทารกคลอดออกมามีความเสี่ยงพิการหรือโรคทางพันธุกรรมยังพบข้อจำกัด ทั้งสาเหตุจากขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยยืนยันที่ล่าช้าที่ทำให้อายุครรภ์มากขึ้น และการถูกปฏิเสธการทำยุติการตั้งครรภ์จากแพทย์และโรงพยาบาล ทั้งที่โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนโดยไม่มีการส่งต่อ ซึ่งอาจนำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ทางเครือข่ายฯ จึงร่วมขับคลื่อนโดยทำหนังสือจดหมายเปิดผนึกไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหานี้ดูแลกลุ่มหญิงท้องไม่พร้อมให้ปลอดภัย 

ทั้งนี้เครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อ สปสช. โดยขอให้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข วางแนวทางการให้บริการตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์และการยุติการตั้งครรภ์ ภายใต้โรงพยาบาลในสังกัดเพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพเข้าถึงบริการได้ทันท่วงที และทำความร่วมมือกับอีก 2 กองทุน คือ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลางในการ ในการจัดทำรายละเอียดในด้านระเบียบค่าใช้จ่าย การบริการ และส่งต่อตามสิทธิสุขภาพ พร้อมให้ สปสช. ทำความชัดเจนในการเบิกจ่ายค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ของหน่วยบริการรวมทั้งตรวจสอบการเรียกเก็บเงินจากผู้รับบริการและเปิดช่องทางการร้องเรียนให้แก่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างทั่วถึง

ด้าน นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ขอบคุณเครือข่ายฯ ที่ได้นำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมานำเสนอให้ทราบ ซึ่งบทบาทของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ จะได้ไปติดตามเพื่อให้เกิดบริการที่เป็นมาตรฐาน พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิบัตรทองที่พึ่งได้ ข้อมูลที่จะได้รับในวันนี้จะเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาตามทิศทางนโยบายและหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อร่วมแก้ปัญหาต่อไป

ขณะที่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า วันนี้ สปสช. ได้รับจดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายฯ แล้ว ซึ่งข้อเสนอที่ได้รับมาทั้ง 3 เรื่องนี้ สปสช.จะนำไปพิจารณาเพื่อดำเนินการโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ สปสช. ยังจะร่วมกลไกการทำงานร่วมกันระหว่าง สปสช. กับภาคีเครือข่ายท้องไม่พร้อมสายด่วน 1663 ปรึกษาปัญหาเอดส์และท้องไม่พร้อม และเครือข่ายฯ 59 องค์กรเพื่อขับเคลื่อนในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้เข้าถึงการดูแลตามสิทธิอย่างปลอดภัย