ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา ไม่เพียงแต่มีผลต่อเด็กเท่านั้น เมื่อเติบโตขึ้นไปเด็กอ้วนยังมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากถึง 5 เท่า เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง สาเหตุหลักของการตายก่อนวัยอันควร ผลกระทบของภาวะอ้วนในเด็ก ยังส่งผลต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เกิดจากโรคอ้วนสูงถึง 12,142 ล้านบาท โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ และการตายก่อนวัยอันควร 

พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง (HFSS : High in fat, Sugar and Sodium) ทั้งขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์การตลาดที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม HFSS เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดข้อห่วงใยจากทุกภาคส่วน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สุขภาวะเด็กและเยาวชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสื่อเด็กและเยาวชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมเผยพบเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน เด็กวัยรุ่น มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น เหตุกินหวาน มัน เค็ม

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญขัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภาวะเริ่มอ้วน และอ้วนในเด็กเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงาน HDC กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 พบเด็กอายุ 6 - 14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วน และอ้วน ร้อยละ 13.7 เด็กวัยรุ่น 15 - 18 ปี พบร้อยละ 13.1 เกินค่าเป้าหมาย  ที่กำหนดให้ไม่เกิน ร้อยละ 10 สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ซึ่งกลยุทธ์การตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ และบริโภคของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อและจ่ายด้วยตนเอง ดังนั้น การพัฒนามาตรการปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรสนับสนุนทั้งการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเด็กต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู และพัฒนามาตรการคุ้มครองเด็กด้วยกฎหมาย ภายใต้การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“ทั้งนี้ หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สุขภาวะเด็กและเยาวชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสื่อเด็กและเยาวชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 100 หน่วยงาน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนามาตรการปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ฉลากอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพควรมีสัญลักษณ์ให้เด็กอ่านและเข้าใจง่าย ควบคุมการโฆษณา โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล ซึ่งเด็กเข้าถึงได้ง่าย และควรมีการกำกับ ติดตาม การดำเนินการของโรงเรียน ในการห้ามทำการตลาดอาหารเครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อสุขภาพในโรงเรียน รวมทั้งให้ความรู้ด้านโภชนาการ การป้องกันเท่าทันสื่อ โดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว           

ทางด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อํานวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ช่องว่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะอ้วนในเด็กของประเทศไทย คือ มาตรการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แม้ว่าประเทศไทยมีมาตราการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมกลยุทธ์การตลาด และไม่ได้มุ่งเป้าหมายปกป้องเด็กจากอาหารและเครื่องดื่มไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงโดยตรง จึงมีข้อเสนอแนะในการพัฒนามาตราการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 3 ประเด็นหลัก คือ 1) ปกป้องและคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNCRC) จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 2) ควบคุมผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบตอสุขภาพเด็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์การจำแนกอาหารมาตฐานโภชนาการของประเทศไทย โดยสำนักโภชนาการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำเกณฑ์ และ 3) แนวทางในการควบคุมการตลาดฯ ควรพิจารณา ตามชุดข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเชฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) และหลักส่วนประสมทางการตลาด ภายใต้ความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

ทางด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาภาวะอ้วนในเด็ก จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา สสส. ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงาน ประเด็นอาหารให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทาง และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574)  สสส. จึงสนับสนุนมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยควรเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เพื่อช่วยปิดช่องว่างทางกฎหมายที่มีอยู่ ร่วมกับการให้ความรู้แก่ประชาชนและเด็ก เพื่อเป็นกลไกในการปกป้องคุ้มครองเด็ก

ขณะที่ ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) กล่าวถึงมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเพื่อปกป้องสุขภาพเด็ก ระดับโลก และประสบการณ์การดำเนินการต่างประเทศ ว่า ปัญหาเรื่องภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญลำดับต้น ๆ ของโลก จำนวนเด็กที่เป็นโรคอ้วน ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ปัจจุบันตัวเลขของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีภาวะน้ำหนักเกินสูงถึง 39 ล้านคนทั่วโลก ปัจจัยที่สำคัญในการทำให้โรคอ้วนเพิ่มขึ้นเกิดจากสภาวะด้านอาหารเปลี่ยนไป ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่มีไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำการตลาดมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ กลยุทธ์ทางการตลาดของอาหารจะส่งเสริมให้มีการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพลดลง ก่อให้เกิดอิทธิพลในการโน้มน้าวจิตใจเด็ก การตลาดนั้นได้สร้างแบบแผน ค่านิยมในการบริโภคอาหารแปรรูป ทำให้มีการขยายตัวของอาหารแปรรูปอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นเร่งด่วน คือ รัฐบาลแต่ละประเทศต้องออกมาตรการดูแลและกำหนดนโยบาย เพื่อควบคุมกลยุทธ์การตลาด

ด้าน ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า เมื่อไม่ต้องการให้เด็กดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ น้ำตาลสูง หรือไม่ให้รับประทานขนมที่ไขมันสูง ก็ต้องแนะนำผลิตภัณฑ์ทดแทน สิ่งไหนที่อยากให้เด็กบริโภคต้องวางให้เด็กเห็นชัด การห้ามเพียงอย่างเดียวจะไม่สำเร็จ เพราะเด็กต้องกินของว่าง โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน จึงควรฝึกเด็กไทยให้กินขนมไทยน้ำตาลน้อย เช่น ขนมเปียกปูน ขนมถั่วแปบ ถั่วเขียวต้มน้ำตาลทรายแดง เลือกขนมไทยที่หวานน้อย หรือฝึกให้เด็กเลือกผลไม้เป็นของว่าง ควบคู่กับการดื่มนมรสจืดและไขมันศูนย์เปอร์เซนต์หรือไขมันต่ำ เป็นการทดแทน ส่วนขนมและเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวาน แม้จะไม่ให้พลังงาน กินแล้วไม่อ้วน แต่เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไม่ได้ เด็กก็ยังลิ้นติดหวานอยู่ เลือกรับประทานสิ่งที่มีรสหวานอยู่ดี จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ต้องควบคุมให้เด็กรู้จักโทษของการกินหวาน แล้วฝึกให้เด็กกินหวานลดลง นอกจากนี้ เด็กต้องรู้เท่าทันสื่อ สามารถเลือกกินขนมหรือรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพของตนเองได้ ทำอย่างไรให้เด็กไทยรอบรู้ในการฉลาดแยกแยะ ฉลาดรอบรู้เรื่องการสื่อสาร รู้ว่าสื่อสร้างมายาคติให้ สิ่งนี้ควรทำคู่กับการออกกฎหมาย หรือมาตรการควบคุม

ดร.สง่า เพิ่มเติมว่า แม้จะมีตราสัญลักษณ์หรือฉลาก Healthier Choice แต่การทำให้คนรับรู้ยังต่ำอยู่ ไม่มีอะไรดึงดูดให้เด็กดู มีเด็กกี่เปอร์เซนต์ที่อ่านฉลากแล้วตัดสินใจซื้อ ยังไม่เห็นงานวิจัยเรื่องนี้ออกมา ดังนั้น เป้าหมายสำคัญ ไม่ใช่การควบคุมแล้วจบ ต้องลดเด็กอ้วนให้น้อยลงด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กอ้วนเยอะขึ้น ไม่ใช่แค่ขนมและเครื่องดื่ม แต่ยังมีอาหารหลัก 3 มื้อที่เด็กกินที่บ้านและโรงเรียน จึงต้องทำให้เด็กรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการมากขึ้น ควบคู่กับการควบคุมการตลาด 

"สิ่งที่อยากให้ทำคู่ขนานกันไป เมื่อขนมที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพเต็มตลาด จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหาร ขนม และเครื่องดื่มเหล่านี้ สามารถเป็นมิตรต่อสุขภาพมากขึ้นได้อย่างไร อีกทั้งยังต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กอีกด้วย โดยต้องทำลายความเชื่อว่า ขนมที่ดีต่อสุขภาพมักจะไม่อร่อย และจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ รับรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องช่วยเหลือเด็ก ปลุกนักธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเด็กให้ลุกขึ้นมา ที่ผ่านมา ปล่อยให้ทำแล้วมาคุ้มครอง มาบังคับ คิดว่า กำหนดแคลลอรีลงในฉลากแล้วผู้บริโภคจะอ่าน แต่นี่ไม่ใช่หนทางที่จะแก้ปัญหา" ดร.สง่า กล่าว
 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง