ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยข้อมูลติดตามอาการหลังติดเชื้อโควิด  พบกลุ่มประชาชน มีอาการลองโควิด  33.6 %กลุ่มบุคลากร 32.81% ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นเอง ชี้อาการมีหลากหลาย ทั้งอ่อนเพลีย หายใจลำบาก นอนไม่หลับ ผมร่วง วิตกกังวล ความจำสั้น 

ตามที่มีข้อสงสัยว่า ผู้ติดเชื้อโควิดที่หายแล้ว และมีอาการลองโควิด (Long Covid19)  ที่อาจส่งผลถึงระบบประสาท ความจำ และอาจเป็นโรคสมองเสื่อม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และปัจจุบันการติดตามภาวะลองโควิด มีกี่กลุ่มอาการอย่างไรบ้างนั้น 

ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 3 ส.ค. 2565  นพ.วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์  และ พญ.บุษกร  โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยี กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลกับ Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า  ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย มีการศึกษาติดตามอาการลองโควิดในผู้ป่วยโควิด-19 ในประเด็นต่างๆ แต่ผลการศึกษาที่เผยแพร่ยังจำกัด เพราะจำเป็นต้องมีการติดตามอาการในระยะยาวต่อไป 

     ในส่วนของกรมการแพทย์ได้มีการศึกษาติดตามอาการกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับการรักษาในหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ผู้ป่วยประเมินอาการตนเอง รับทราบความรู้ และดูแลสังเกตอาการเบื้องต้นได้ จำนวน 17,893 ราย  รวมทั้งได้มีการติดตามอาการภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากร สังกัดกรมการแพทย์ จำนวน 3,284 ราย โดยส่วนใหญ่ความรุนแรงของอาการจะอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เมื่อติดตามไปที่ 5 เดือนหลังการติดเชื้อ พบว่า ในกลุ่มประชาชน มีอาการลองโควิด ร้อยละ 33.6 กลุ่มบุคลากร ร้อยละ 32.81 ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นได้เอง และสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ
    
    ข้อมูลการศึกษาในต่างประเทศมีการพยายามรวบรวมจำนวนเคสผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในกลุ่มที่รักษาด้วยตนเองที่บ้านและกลุ่มที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เป็นโควิด-19 เพื่อหาความชุก ปัจจัยเสี่ยง ความสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ เช่น การรับวัคซีน สายพันธุ์ไวรัส เป็นต้น รวมทั้งแนวทางการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันยังเน้นการป้องกันการติดเชื้อ รักษาตามอาการ และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ในส่วนข้อมูลปัจจัยที่พบร่วมกับภาวะลองโควิดได้ในหลายๆ การศึกษา เช่น เพศหญิง อายุมาก ภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว มีประวัติโรควิตกกังวล หรือซึมเศร้า มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง มีอาการมากกว่า 5 อาการในช่วง 1 สัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย และความรุนแรงของโรคมากในระยะแรก ซึ่งยังต้องติดตามผลการศึกษาในระยะยาวและหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนต่อไป

**กรมการแพทย์ ได้จัดทำข้อมูลอาการลองโควิด แบ่งเป็นกี่อาการ...

    จากผลการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ของกรมการแพทย์ ผ่านทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 พบว่า สามารถพบได้หลากหลายอาการ ในระบบต่างๆของร่างกาย บางคนอาจมีอาการผิดปกติเพียงอาการเดียว หรือหลายอาการร่วมกันได้ อาการของภาวะลองโควิดที่พบได้บ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย นอนไม่หลับ ไอ ปวดศีรษะ ผมร่วง  เวียนศีรษะ วิตกกังวล ความจำสั้น เจ็บหน้าอก ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ความรุนแรงของอาการจะอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง

 

**จริงหรือไม่..อาการลองโควิดส่งผลต่อระบบประสาท มีผลต่อสมองและจิตอารมณ์ ทำให้เฉื่อยชา คิดช้า ความจำสั้น  โดยเฉพาะคนที่เป็นอยู่แล้วหรือกำลังจะเป็นโรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน 

    อาการลองโควิดอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขบวนการอักเสบที่ยังดำเนินอยู่ ความเสียหายของอวัยวะ ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิมก่อนป่วยด้วย COVID-19 หรือผลจากการนอนโรงพยาบาล รวมถึงผลจากการรักษาในช่วงวิกฤต ความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยในกลุ่มลองโควิด ได้แก่ อาการปวดศีรษะ อาการมึนศีรษะ อ่อนเพลีย ภาวะบกพร่องของปริชาน ได้แก่ ความสามารถด้านสมาธิและความจำที่ใช้ในการทำงาน (attention and working memory) และการตัดสินใจวางแผน (executive function) ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อรุนแรง การมีรอยโรคที่สมองอยู่เดิม หรือระหว่างการเป็นโรคโควิด-19 หรือมีภาวะโรคร่วมทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า 

    ซึ่งข้อมูลการศึกษาติดตามอาการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันความสัมพันธ์ หรือสาเหตุการก่อโรคได้ ดังนั้น คำแนะนำที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ควรรับการรักษาตามอาการ ประเมินและสังเกตอาการผิดปกติภายหลังจากครบกำหนดการรักษา หากสงสัยว่าจะมีความผิดปกติในระบบต่างๆ สามารถขอคำปรึกษาและรับการตรวจเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยคลายความวิตกกังวล ซึ่งเป็นสาเหตุร่วมหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ตามมาได้

**การติดตามกลุ่มอาการลองโควิดในประเทศไทย

    กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข แนวทางการจัดตั้งคลินิกลองโควิด รวมทั้งได้จัดทำแบบสอบถามการติดเชื้อโควิด-19 และอาการหลังการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประชาชน พร้อมสื่อความรู้เกี่ยวกับภาวะลองโควิด ที่เผยแพร่ในหลายช่องทางสื่อสังคมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินตนเองและมีความรู้เบื้องต้นในการดูแลตนเองได้ ซึ่งปัจจุบันหน่วยรักษาพยาบาลต่างๆ มีความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยภาวะลองโควิด โดยดำเนินการจัดบริการตามแนวทางที่กรมการแพทย์จัดทำและเผยแพร่ ซึ่งขณะนี้สถานพยาบาลหลายแห่งมีการเผยแพร่คำแนะนำ แบบสอบถามอาการเพื่อประเมินตนเองในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับการรักษาดูแลก่อนจำหน่าย รวมทั้งมีการเผยแพร่ผ่านช่องทาง Official line และแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม 

**ปัจจุบันมีการรักษาลองโควิดหรือไม่

    ปัจจุบันการรักษาลองโควิด เป็นการรักษาตามอาการที่พบมีความผิดปกติเป็นหลัก เช่น บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อด้วยการบริหารร่างกาย บรรเทาอาการหอบเหนื่อยด้วยการฝึกการหายใจและติดตามประเมินอาการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งกรณีที่มีความจำเป็นต้องรับการตรวจพิเศษเพื่อวินิจฉัยสาเหตุความผิดปกติตามแนวทางการดูแลของกรมการแพทย์ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย และฟื้นฟูสภาพร่างกายให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) รวมทั้งระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org