ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สคอ.ร่วมหนุน พชอ.แสวงหา จ.อ่างทอง ขับเคลื่อน ศปถ.ตำบลปลอดภัย เร่งสำรวจคนเสี่ยง จัดหาหมวกนิรภัยราคาถูก - คุณภาพดีแก่คนในพื้นที่ หลังพบทั้งจังหวัด 75 % ไม่สวมหมวกนิรภัยและเสียชีวิตจากศีรษะกระแทกพื้น แนะใช้ 4ช.สู่ความสำเร็จ พร้อมลงนามความร่วมมือแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ตั้งเป้า “อ่างทองเมืองปลอดภัย สวมหมวก นิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์”   
 

สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนุนสนุนของ สสส. ร่วมเวที “สานพลังคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.) เสริมหนุนคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับตำบล(ศปถ.ตำบล) ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในชุมชน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมศักยภาพภาคีเครือข่าย และ ศปถ.ตำบลจัดการความปลอดภัยทางถนนพร้อมลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.)แสวงหา เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดอ่างทอง และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 4  โดยมี นายแพทย์วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ ประธาน กขป.เขตพื้นที่ 4 ประธานเปิดงาน เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2565 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

นายสุรพร หมายเจริญ นายอำเภอแสวงหา จ.อ่างทอง และประธาน พชอ.แสวงหา กล่าวว่า จากข้อมูลกลุ่มงานอุบัติเหตุและบริการแพทย์ฉุกเฉินฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ระบุว่า สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดอ่างทอง อำเภอที่มีอัตราบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ อ.สามโก้ อ.เมือง และ อ.วิเศษชัยชาญ พบปัญหา 75 % ไม่สวมหมวกนิรภัย กลุ่มผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นคนขี่และซ้อนท้าย โดยอำเภอแสวงหาพบสาเหตุส่วนใหญ่มาจากดื่มแล้วขับและไม่สวมหมวกนิรภัยเช่นกัน

จากปัญหาดังกล่าวทำให้จังหวัดออกประกาศเจตนารมณ์และมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานร่วมแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน สอดคล้องกับวาระจังหวัดอ่างทองปี 2565  ที่ตั้งเป้า“อ่างทองเมืองปลอดภัยสวมหมวก นิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์” และการที่ พชอ. ได้หนุนการทำงานของ ศปถ.ตำบล จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะคณะทำงาน พชอ. มาจากหลายภาคส่วนในพื้นที่ มีการนำเข้าวาระประชุมทุกเดือน ทำให้ได้รับรู้ปัญหาและแก้ไขได้รวดเร็ว ซึ่ง ศปถ.ตำบลถือเป็นจุดร่วมการทำงานที่ดี ช่วยวิเคราะห์ปัญหาสาเหตุเชิงลึกของพื้นที่ได้ จนนำไปสู่การป้องกันแก้ไขให้เกิดความปลอดภัยในชุมชนได้ในที่สุด

           

นายกชเดชา กลุ่มไหม นายกเทศมนตรีตำบลเพชรเมืองทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง  กล่าวว่า อำเภอแสวงหา  มีเทศบาลตำบล 2 แห่ง อบต. 6 แห่ง ซึ่งพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง คือ ตำบลแสวงหาและตำบลเพขรเมืองทอง ประชากรรวมกันประมาณ 12,000กว่าคน ถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง คือ ถนนสายแสวงหา-ปากดง มีโรงเรียนติดถนน 3 แห่ง แบ่งเป็นประถมศึกษา 2 แห่ง มัธยมศึกษา 1 แห่ง เด็กนักเรียนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะนักเรียนมัธยมส่วนใหญ่ขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียนเองและไม่ใส่หมวกกันน็อค

จากปัญหานี้ท้องถิ่นจึงได้ร่วมกับภาคีจัดทำ “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” และเพิ่มความปลอดภัยหน้าโรงเรียนปลอดภัยเข้าไปด้วย โดยจัดกิจกรรมมอบหมวกนิรภัยให้กับนักเรียนที่ไม่มีหมวก ใช้เงินรับบริจาคและได้รับความร่วมมือจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด นำหมวกมาจำหน่วยในราคาถูกใบละ 99 บาท เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถซื้อได้ ซึ่งได้แจกไปแล้ว 150 ใบและจะขยายเพิ่มอีก

โดยได้เร่งประสานผู้นำชุมชนออกสำรวจและประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย รวบรวมข้อมูล ความต้องการหมวกของคนในพื้นที่ โดยทางอำเภอจะเป็นหน่วยงานกลางในการจัดจำหน่าย ซึ่งก็สอดคล้องกับวาระจังหวัดที่ประกาศและมีนโยบายให้อ่างทองเป็นเมืองปลอดภัยสวมหมวก นิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้ท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญอย่างมากและพยายามประสานงานทุกภาคส่วนดำเนินเพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับประชาชน

 

นายกษิดิศ ขันธรัตน์ ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)  กล่าวว่า การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สิ่งสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ เมื่อขี่รถจักรยานยนต์ต้องใส่หมวกกันน็อกทุกครั้งทั้งผู้ขี่และผู้ซ้อน ทำให้เคยชินจนเป็นหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนการใส่หน้ากากอนามัย เพราะการสวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บที่ศีรษะลงได้ถึง 72% ลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้ถึง 39 % ในกรณีที่ใช้ความเร็วไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้การขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนให้บรรลุผลสำเร็จและรวดเร็ว จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือการทำงาน 4 ช. เป็นตัวช่วยสำคัญให้สำเร็จโดยเร็ว คือ “โชว์-แชร์-เชื่อม-ใช้”  การโชว์ คือ รู้จักนำเสนอและแลกเปลี่ยนผลงานของภาคีในพื้นที่ การแชร์ คือ การแบ่งปันข้อมูลความรู้และเครื่องมือที่มี  การเชื่อม คือ รู้จักประสานและให้โอกาสทำงานร่วมกับภาคีอื่น และการใช้ คือการนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมเวทีไปปรับใช้กับงานของตนเองให้ได้ผลดียิ่งขึ้น