ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม ศบค.เปิดไทม์ไลน์กรอบอำนาจบริหารสถานการณ์โควิด ชี้ ส.ค.-ก.ย. ยังใช้ระบบบริหารจัดการเดิม ส่วนเดือน ต.ค. เตรียมประกาศเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ เมื่อมีเหตุจำเป็น โดยบทบาทของ ศบค.ก็จะลดลง มอบหน้าที่อีโอซี สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ /คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.  ส่วนจะยกเลิกพรบ.ฉุกเฉินฯหรือไม่ ยังไม่เร่งด่วนจำเป็นต้องพิจารณา  

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า  ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการจัดทำ กรอบ นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และห้วงเวลาในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-Pandemic เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยมีการนำเสนอข้อมูลทั่วโลกเหมือนกันคือ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 แต่ลักษณะตัวเชื้อไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับ BA.1/2 และเดลตา 

ขณะที่ผลการสำรวจภูมิต้านทานในประชาชนไทยเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2565 พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 มีภูมิคุ้มกัน และข้อมูลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนใช้จริงในไทยพบว่า ฉีด 3 เข็มขึ้นไปทุกสูตรป้องกันป่วยรุนแรง และเสียชีวิตมากกว่า 90% และต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน   และมีการคาดการณ์ว่า โควิดจะมีลักษณะการเกิดโรคในประชากรจะคล้ายคลึงกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่อาจมีการระบาดในบางช่วงเวลา 

ส่วนด้านการรักษานั้น จะมีการประเมินผู้ป่วยที่แนวโน้มไม่รุนแรง ยกเว้น ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และกลุ่ม 608  ส่วนการใช้ยาต้านไว้รัส ควรให้เฉพาะกลุ่มที่มีอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และการจัดบริการด้านการรักษาพยาบาล ให้พิจารณาอาการผู้ป่วย ถ้าไม่มีอาการให้แยกกักที่บ้าน  ถ้ามีอาการอื่นๆ จากโรคประจำตัว ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 และ/ หรือ ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้รับไว้ในโรงพยาบาล 

ส่วนระยะเวลาในการแยกกัก ในกรณีที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้แยกกัก หลังตรวจพบเชื้ออย่างน้อย 5 วัน จากนั้นให้ปฏิบัติตนแบบ DMH คือ สวมหน้ากาอนามัย/ผ้า ล้างมือ เว้นระยะห่าง อย่างเคร่งครัดต่ออย่างน้อยอีก 5 วัน หรือเรียกว่า 5+5 

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เตือน 44 จังหวัด โควิดกำลังลด! แต่มี  Small Wave เพิ่มขึ้น ส่วนอีก 9 จังหวัดติดเชื้อพุ่งชัดเจน)

สำหรับเป้าหมายที่วางไว้ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย และสามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ มี 4 เรื่อง คือ 1.ควบคุมการระบาดให้สถานการณ์ไม่เกินระดับรุนแรงน้อย 2.ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการวัคซีนและยาต้านไวรัสได้ง่ายและสะดวก 3.ประชาชนมีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม และ 4 กลไกการบริหารจัดการปกติ พร้อมดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากของเดิมมากนัก  โดยใช้วิธีการที่ทำมาตลอด และยังมีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.จัดทำแผนการรองรับการระบาด ที่สำคัญต้องสื่อสารสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบ

"โดยได้มีไทม์ไลน์กรอบแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ตามห้วงเวลา ดังนี้ ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ยังคงใช้ระบบที่เราทำอยู่  ส่วนเรื่อง ต.ค. จะมีการประกาศเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ เมื่อมีเหตุจำเป็น โดยบทบาทของ ศบค.ก็จะโทนดาวน์ลง และทางอีโอซี สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ /คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จะเป็นผู้นำไปสู่การทำงานที่ทำกันอยู่เป็นประจำ  แต่ไม่มีการพูดคุยว่า จะยกเลิก พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯหรือไม่ ต้องมีการประเมิน เพราะยังมีเวลาถึงเดือนหน้า จึงยังไม่เร่งด่วนจำเป็นใดๆ เนื่องจากการประกาศพ.ร.บ.ฉุกเฉินไปถึงเดือน ก.ย. ที่ประชุมตั้งเป็นข้อสังเกตและรอดูสถานการณ์ไประยะหนึ่ง" โฆษก ศบค. กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนเกณฑ์การพิจารณาระดับความรุนแรงการระบาดโควิดตามสี ยังใช้เกณฑ์เดิม โดยเรายังเป็นสีเขียวอยู่  ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบเรื่องเหล่านี้ และมอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่างคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกทม. ให้ทำแผนการเตรียมผ่านให้สอดคล้องระหว่างที่ยังมี ศบค.อยู่ ต้องประเมินความเข็มแข็ง และมอบให้กรมประชาสัมพันธ์สื่อสารประชาชน กระตุ้นรับวัคซีน ช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้
 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง