ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ. ชี้ปัญหาคนเกิดน้อย วัยทำงานลด ผู้สูงอายุเพิ่ม คนเสียภาษีน้อย กระทบโครงสร้างประชากรอีก 40 ปีข้างหน้า ประชุม APEC Health ร่วมหาทางออก ขณะที่ไทยชู "ครอบครัวคุณภาพ (Smart Families)" ไม่ใช่ส่งเสริมมีบุตรเท่านั้น แต่ต้องให้มีลูกอย่างมีคุณภาพ และเป็นไปตามความสมัครใจ ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือก พร้อมลดปัญหาตั้งครรภ์วัยรุ่น มีลูกไม่พร้อมลดลง และหนุนผู้สูงอายุสุขภาพดีทำงานวัยเกษียณ

 

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.)  ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมข้อหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) ประเด็น "ครอบครัวคุณภาพ (Smart Families)"  ในการประชุม  APEC Health Week วันที่ 22-26 ส.ค.2565  ว่า  ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับโครงสร้างประชากร สภาพปัญหาของหลายๆประเทศ  ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาใกล้เคียงกัน คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ และลดลงของอัตราการเกิด วัยทำงานก็จะลดลง และเมื่อมองเรื่องเศรษฐกิจ จะเป็นปัญหาในอีก 40 ปีข้างหน้า คนที่ทำงานได้ก็จะลดลง ไม่มีใครเสียภาษี ขณะที่รัฐบาลต้องนำเงินไปดูแลผู้สูงอายุ เห็นได้ว่าผลกระทบโครงสร้างประชากรจะเกี่ยวกับจนเกิดปัญหาเศรษฐกิจ

“ในเวทีการประชุมจึงมีการแลกเปลี่ยนกัน และพูดถึงนโยบายในการแก้ปัญหา ซึ่งไทยมีคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ มีการเตรียมความพร้อมผู้สูงวัย ซึ่งคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ฯ เราได้ร่วมมือกับหลายกระทรวงในการให้ความสำคัญ เช่น กรณีประกันสังคมมีค่าใช้จ่ายให้หญิงตั้งครรภ์ การเสนอกฎหมายให้คู่สมรสลาคลอดได้ในสิทธิ์ข้าราชการด้วย ซึ่งผ่านครม.แล้ว กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ นอกจากนี้ ก็ยังมีสิทธิอื่นๆ ทั้งการตรวจโรคซิฟิลิส การวางแผนครอบครัวเบื้องต้น ฯลฯ”  นายสาธิต กล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวอีกว่า  อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อโครงสร้างประชากรในอนาคต โดยต้องมาหารือว่าเรื่องนี้จะต้องหาทางออกเพื่อเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ ซึ่งหัวใจสำคัญตอนนี้ เกิดค่านิยมว่า สองคนแต่งงานกันไม่ได้วางแผนจะมีลูก แต่วางแผนจะสร้างรายได้ทั้งสองคน เพื่อที่จะมาเป็นรายได้ของครอบครัว จุดนี้จะเป็นปัญหา ต้องมาหาทางออกร่วมกัน

เมื่อถามถึงนโยบายครอบครัวคุณภาพ Smart Families  จะมาแก้ปัญหาโครงสร้างครอบครัวอย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า เป็นเรื่องของการวางแผน ซึ่งในที่ประชุมมีแนวคิดอาจสวนทาง แทนที่จะให้ครอบครัวส่งเสริมมีบุตรเท่านั้น แต่ในบางมุม การมีบุตรเป็นสิทธิเสรีว่า ผู้หญิงตัดสินใจจะมีหรือไม่ ซึ่งต้องทำให้ครอบครัวมีคุณภาพ โดยการแชร์กันเลี้ยงลูกร่วมกัน การทำงานร่วมกัน ส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานมากขึ้น หรือส่งเสริมให้ทั้งสองเลือกวิถีตัวเอง พูดง่ายๆ ว่า แทนที่จะส่งเสริมให้มีลูก ก็ต้องให้เขามีแล้วมีคุณภาพด้วย

“ในที่ประชุมก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเยอะ เพราะแต่ละประเทศมีบริบทไม่เหมือนกัน อย่างญี่ปุ่นมีปัญหาคล้ายกับเรา แต่ขนาดเศรษฐกิจคล้ายกัน ผู้หญิงญี่ปุ่นมีลูกตอนอายุมาก แต่รัฐบาลจ่ายเงินในการดูแล  ประเทศไทยก็อาจมีปัญหาคล้ายกัน แต่วิธีการคิด นโยบายจะแตกต่างกัน ซึ่งไทยก็มีความคืบหน้า เรามีการให้สิทธิ์แรงจูงใจ แต่ก็จะมีการพิจารณาเพิ่มเติม” นายสาธิต กล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากมองภาพในอนาคตว่า คนทำงานเสียภาษีน้อยลง และรัฐต้องนำเงินไปรองรับผู้สูงอายุนั้น เราอาจต้องมีการขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงลุกมาทำงาน โดยนำร่องในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น อบรมคนเกษียณขึ้นมาทำงาน เพื่อสร้างเสริมรายได้ให้ครอบครัว ส่วนคนทำงานที่น้อยลง ก็อาจต้องเน้นไปที่ใช้ทักษะเฉพาะในการทำงานแทนแรงงาน

เมื่อถามว่ากรณีคนเกิดน้อย จะเพิ่มอัตราการเกิดปีไหน นายสาธิต กล่าวว่า คณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ระบุว่า ครอบครัวหนึ่งต้องมีลูกเพื่อความสมดุลประมาณ 2 คน และต้องทำพร้อมๆกับทำให้การเกิดมาในสภาพที่มีความพร้อม และต้องลดอัตราการเกิดในวัยรุ่นลง ให้เหลือ 1.5 ต่อพันประชากร เป็นการลดการเกิดไม่มีคุณภาพด้วย เรื่องเหล่านี้ต้องทำควบคู่กัน เพราะเป็นเรื่องหลายมิติ  

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง