ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย 15 องค์กร ร่วมกันจัดการอบรมหลักสูตร “การจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม” เพื่อพัฒนาศักยภาพกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

ทั้งนี้ วันที่ 20 สิงหาคม 2565 มีการเสวนาในหัวข้อ "บทบาทของหน่วยงานในการสนับสนุนระบบสุขภาพท้องถิ่น " โดยมี  นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พญ. ขจีรัตน์ ปรักเอโก ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ นายวีระชัย ก้อนมณี ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมเสวนาด้วย 

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวในบางช่วงว่า   ในฐานะหน่วยงานที่กำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพของสังคมแบบองค์รวม ให้เกิดความสมดุลทั้งทางกาย สังคม และปัญญา รวมถึงคอยออกแบบกลไก เครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ มองว่าการถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อบจ.จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนสุขภาพระดับพื้นที่ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยหยิบเอาทุนทางสังคมเป็นทรัพยากรในการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ

กระบวนการจัดทำเริ่มต้นจากการสำรวจต้นทุนของชุมชน ว่ามีข้อดี หรือจุดแข็งใดที่สามารถพัฒนาต่อได้บ้าง หลังจากนั้นจึงมาวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เจอในชุมชน ด้วยการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ก่อสร้างฉันทามติร่วมกันว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบใด ซึ่งที่ผ่านมาถูกกำหนดไว้ใน “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” เป็นการยกระดับข้อปฏิบัติของชุมชน สู่กฎหมายชุมชน และจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

ด้านนพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กล่าวสรุปว่า  ประเด็นแรกคือ การยกระดับหน่วยบริการ รพ.สต. โดยประชาชนต้องมีหมอประจำตัว มีพยาบาลประจำตัว มีนักวิชาการสาธารณสุขประจำตัวดูแล ซึ่งทีมนี้จะได้รับการมอบอยู่ 3 มอบ คือ 1. มอบประชากรให้ดูแล 2. มอบพื้นที่ คือทำงานในเชิงพื้นที่ ดูแลตั้งแต่เรื่องของระบบสุขภาพชุมชน นอกจากนี้ทาง สช. ก็มีส่วนเข้าไปสนับสนุนพวกเรา 3. มอบทีม คือจะต้องทำงานเป็นทีม ประสานงานกันเป็นทีม นอกจากนี้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่อยู่เหนือระดับขึ้นไป ถ้าเกินขีดความสามารถ เพราะฉะนั้นคือตรงนี้เองประเด็นที่สอง คือ การขึ้นทะเบียน

ส่วนประเด็นที่สาม คือ ใน พรบ.ปฐมภูมิ เขียนไว้ว่า ต้องสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายบริการปฐมภูมิต้องได้รับการสนับสนุนซึ่งขณะนี้กำลังประสานกับกองทุนไม่ว่าจะเป็น สปสช. ประกันสังคม ฯลฯ เพื่อให้มีงบประมาณในการดำเนินการ และประเด็นสุดท้ายคือ  ต้องประกันคุณภาพให้กับพี่น้องประชาชนด้วย หน่วยบริการต้องถูกตรวจและติดตามเป็นระยะ 

ด้านพญ. ขจีรัตน์ ปรักเอโก ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนการทำงานของ รพ.สต. ในเชิงเครือข่ายระดับพื้นที่ หากท้องถิ่นใด ที่มีแนวความคิดอยากสร้างเสริมสุขภาพ ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ของ สสส. เช่น ด้านยาสูบ สุรา ยาเสพติด อาหาร ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต หรือแม้แต่มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาท้องถิ่น เป็นองค์ประกอบสำคัญของ สสส. ในการขับเคลื่อนแผนงานทุกด้านอยู่แล้ว

เมื่อ รพ.สต. ได้รับการถ่ายโอนไปสู่ อบจ. แล้ว สสส. ได้วางแผนสนับสนุนทุนร่วมกับ อปท. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยกำหนดแผนงานร่วมทุนระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง สสส. ในสัดส่วน 75% และ อปท. ไม่น้อยกว่า 25% เพื่อเป็นการกระจายโอกาส การดำเนินงานด้านสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ เบื้องต้นมี อบจ. ร่วมทุนกับ สสส. แล้ว 7 แห่ง งบประมาณรวม 32.5 ล้านบาท เกิดเป็นโครงการสุขภาพในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 250 โครงการ

ด้าน ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คือ การให้บริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม โดย อปท. มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายจัดตั้ง และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ รวมถึง พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินฯ ยังระบุไว้ด้วยว่า เพื่อส่งเสริมความพร้อมให้ประชาชนในระดับพื้นที่ ให้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน สนับสนุนงบประมาณให้กับ อปท. เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการให้ประชาชนได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของพื้นที่

ขณะนี้ “ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด” อยู่ในช่วงการเตรียมการ ประสานและลงพื้นที่ ร่วมหารือกับนายก อบจ. และ นพ.สสจ. และ ผอ.รพ.ในจังหวัด เพื่อให้นายก อบจ. เห็นชอบที่ด่าเนินงาน และวางแผนให้ อบจ.ปรับแผนงาน/โครงการ และจัดเตรียมงบประมาณ โดย สพฉ. จะจัดทำคู่มือ แนวทาง พร้อมทั้งฝึกอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมให้บริการประชาชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินให้อีกด้วย